343-ศูนย์รับรอง-ชิ้นส่วนเครื่องบิน-SME-จัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ

ผุดศูนย์รับรองมาตรฐานชิ้นส่วนเครื่องบิน

อัปเดตล่าสุด 26 พ.ค. 2563
  • Share :
  • 912 Reads   


ผบ.ทอ.เตรียมตั้งหน่วยรับรองมาตรฐานชิ้นส่วนเครื่องบิน MAAใน 2 เดือน สสว.ผนึก THAI SUBCON ชงบิ๊กตู่ไฟเขียว 5 ข้อ เปิดทางผู้ผลิต SMEs ไทยเข้าระบบจัดซื้อจัดจ้างรัฐชิงมาร์เก็ตแชร์ 1.3 ล้านล้านบาทลดการนำเข้า วางอนาคตผลิตชิ้นส่วนป้อนสายการบินทั่วโลก

พล.อ.อ.มานัต วงษ์วาทย์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) เปิดเผยว่า ภายใน 2 เดือนนี้จะตั้งหน่วยรับรองมาตรฐานหรือ Military Aviation Authority (MAA) ขึ้น เพื่อให้การรับรองชิ้นส่วนอากาศยานที่เอสเอ็มอีไทยผลิตได้ตามมาตรฐานสากล ซึ่งจะช่วยลดงบประมาณในการนำเข้านับพันล้านบาท

“เครื่องบิน C 130 ที่มี 12 ลำ ต้องตรวจซ่อมบำรุงใหญ่ทุก 3 ปี ใช้งบประมาณ 50 ล้านบาท หากใช้ที่ SMEs ไทยผลิตจะช่วยลดค่าใช้จ่ายได้มาก”

พล.อ.อ.ศิริพล ศิริทรัพย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อุตสาหกรรมการบิน จำกัด (TAI) กล่าวว่า ปัจจุบัน SMEs ไทยสามารถผลิตชิ้นส่วนซ่อมบำรุงอากาศยานได้เองตามมาตรฐานสากล เช่น เครนนกเครื่องบินเพื่อซ่อม เพลต อุปกรณ์ บันเดิลสายไฟ นอต ระบบเซฟตี้ ตามสเป็กที่ OEM ของผู้ผลิตเครื่องบินลำที่กำหนด แต่ยังไม่สามารถนำมาใช้ซ่อมได้ เพราะยังไม่มีหน่วยงานรับรองของทหาร มีเพียงหน่วยรับรองของการบินพลเรือน (CAAT Thailand)

ล่าสุด ทอ.เตรียมตั้ง MAA ขึ้นมา เบื้องต้นให้ทางสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เชื่อมโยงกับสมาคมส่งเสริมการรับช่วงการผลิตไทย (THAI SUBCON) เพื่อให้ผู้ผลิตที่เป็น SMEs เข้าสู่ระบบจัดซื้อจัดจ้างการซ่อมบำรุงเครื่องบินของกองทัพอากาศได้ และยังสามารถขายได้ในท้องตลาดด้วย

“หากผู้ประกอบการไทยผ่านการตรวจรับรอง MAA ได้ ในระยะแรกจะสามารถลดการนำเข้าได้ถึง 2,000 ล้านบาทจากปัจจุบันที่ TAI ยังต้องจัดซื้ออุปกรณ์ซ่อมบำรุงนำเข้า เช่น ชิ้นส่วนด้านการขับเคลื่อนทำให้มีมูลค่าการซ่อมบำรุงเฉพาะกับของ ทอ.สูงถึง 5,000 ล้านบาท และหลังจากนั้นไม่เกิน 10 ปีไทยจะผลิตชิ้นส่วนทำได้หมด ก็จะสามารถซ่อมบำรุงไม่ใช่แค่ทหาร แต่ยังสามารถขยายไปสู่เครื่องบินพาณิชย์ได้ โดยเป้าหมาย TAI อีก 5 ปีจะเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน โดยเริ่มจากตัวปีก เครื่องบินไร้คนขับ โดรน ซึ่งจะทำให้สถานะของ TAI เป็นบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนและซ่อมบำรุงอากาศยานอันดับ 1 ของไทย และสามารถขายเชิงพาณิชย์ให้กับผู้ประกอบเครื่องบินทั่วโลก หากไทยใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตขึ้นในไทยเองราคาถูกกว่านำเข้า 20-30%”

“ความร่วมมือครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นในการผลักดันอุตสาหกรรมการบินของไทย ช่วย SMEs ให้รู้ศักยภาพของตนเองและต่อยอดผลิตและบริการตอบสนองการจัดซื้อจัดจ้างได้หรือไม่ สสว.จะทำโรดแมปการพัฒนาอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนอากาศยานในประเทศขึ้นมา”

นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการ สสว.กล่าวว่า โครงการนี้จะเป็นแนวทางหนึ่งที่ช่วยให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าถึงตลาดจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่มีมูลค่าสูงถึง 1.3 ล้านล้านบาท จึงได้หารือกับกองทัพอากาศ TAI และ THAI SUBCON ซึ่งจะมีเครือข่ายผู้ประกอบการด้านการบินและโลจิสติกส์ ธุรกิจป้องกันประเทศกลุ่มไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ ดิจิทัลซอฟต์แวร์และสมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อทราบความต้องการของผู้ซื้อ และเตรียมพร้อมวางแผนการผลิตสินค้าให้ได้ตรงความต้องการ

สำหรับแนวทางการส่งเสริม SMEs ให้เข้าสู่การจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐที่จะเสนอ ครม.ภายในเดือน มิ.ย.ประกอบด้วย 5 แนวทาง คือ 1.กำหนดโควตาการจัดซื้อจัดจ้างให้ SMEs ในท้องถิ่นและกลุ่ม micro เป็นอันดับแรก 2.การให้แต้มต่อด้านราคา 3.การกำหนดประเภทสินค้าที่จะส่งเสริม 4.กำหนดวงเงินการจัดซื้อจัดจ้าง5.กำหนดโจทย์การผลิตล่วงหน้า การนำร่องลักษณะนี้ จะทำให้เงินจัดซื้อเหล่านี้ไปถึง SMEs โดยตรง โดยหวังว่าจะมีการจัดซื้อให้เร็วสุดในต้นปีงบประมาณคือ ต.ค. 2563 ทันที โดยจะเปิดให้ SMEs ลงทะเบียนก่อน 1 เดือน หลังจากนี้ก็จะขยายไปในอุตสาหกรรมการแพทย์ต่อไป

“หาก SMEs เข้าสู่งานภาครัฐได้ 10% จะสร้างมูลค่าราคาเพิ่มไม่น้อยกว่า 1.3 แสนล้านบาท แต่ควรกำหนดวงเงินจัดซื้อจัดจ้าง SMEs รวมถึงผู้ประกอบการในประเทศ ไม่เกิน 5.7 ล้านบาท/ครั้งจึงจะสอดคล้องกับข้อตกลงองค์การการค้าโลก (WTO)”

 

อ่านเพิ่มเติม: