จัดการกากอุตสาหกรรม

กรอ. ผนึก 40 โรงงาน ลงนาม MOU เพิ่มประสิทธิภาพการจัดการ "กากอุตสาหกรรม"

อัปเดตล่าสุด 26 เม.ย. 2564
  • Share :
  • 634 Reads   

กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ผนึก 40 โรงงาน ลงนามบันทึกข้อตกลงเข้าร่วมโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการกากอุตสาหกรรมที่เสี่ยงต่อการลักลอบทิ้ง ผ่านหลักการ 3Rs และ KAIZEN ลดค่าใช้จ่ายในการบำบัด/กำจัด เพิ่มมูลค่าของเสีย และเพิ่มโอกาสในการแข่งขันทางการค้า สอดคล้องหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และนำไปสู่การใช้ประโยชน์ของเสียได้ทั้งหมด (Zero waste to landfill)

วันที่ 26 เมษายน 2564 - นายประกอบ วิวิธจินดา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ภาคอุตสาหกรรมเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ แต่เนื่องจากในการดำเนินธุรกิจภาคอุตสาหกรรมก่อให้เกิดกากอุตสาหกรรมขึ้น โดยแต่ละปีพบการขออนุญาตนำกากอุตสาหกรรมออกนอกบริเวณโรงงาน(สก.2) เพื่อนำไปจัดการในรูปแบบต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก ทั้งการฝังกลบ การเผากำจัด การเผาร่วมในเตาเผาปูนซีเมนต์ และการนำไปใช้ประโยชน์ใหม่ ขณะเดียวกันยังคงมีกากอุตสาหกรรมบางส่วนถูกนำไปกำจัดโดยการฝังกลบหรือไม่ได้ถูกนำกลับไปใช้ประโยชน์อย่างเหมาะสม ดังนั้น เพื่อให้การเติบโตของภาคอุตสาหกรรมเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม กรอ. จึงได้ศึกษาและพัฒนาด้านการจัดการกากอุตสาหกรรมตามหลัก 3Rs ภายในโรงงานอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการพัฒนาศักยภาพการใช้ประโยชน์ของเสียอุตสาหกรรม เพื่อลดปริมาณของเสียที่จะต้องส่งกำจัด
ในปีงบประมาณ 2564 กรอ.โดยกองบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม จึงได้จัดทำโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการกากอุตสาหกรรม ผ่านการใช้หลัก 3Rs และหลักการ KAIZEN (ไคเซน : คือการทำงานให้น้อยลงแต่มีประสิทธิภาพมากขึ้น มุ่งเน้นลดขั้นตอนการทำงานเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของพนักงานให้สูงขึ้น) เข้ามาเพิ่มศักยภาพการใช้ประโยชน์ของเสียเพิ่มเติม โดยได้มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบกิจการโรงงานที่ยืนยันเข้าร่วมโครงการฯ กับ กรอ.จำนวนทั้งสิ้น 40 โรงงาน พื้นที่เป้าหมาย 3 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นโรงงานอุตสาหกรรมที่เข้าข่ายเป็นผู้ก่อกำเนิดกากอุตสาหกรรม โดยโรงงานที่เข้าร่วมโครงการฯ จะได้รับการถ่ายทอดความรู้ คำแนะนำ และการประยุกต์ใช้หลักการ 3Rs และ KAIZEN ภายในโรงงาน ส่งเสริมให้โรงงานสามารถปฏิบัติได้จริงในการแก้ไขปรับปรุงการจัดการของเสียให้สอดคล้องกับหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และสอดคล้องตามกรอบยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12  ในยุทธศาสตร์ที่ 4 ที่เน้นการเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน 
 
“การพัฒนาของภาคอุตสาหกรรมส่งผลให้มีการใช้ทรัพยากรในกระบวนการผลิตเป็นจำนวนมาก และนอกจากผลิตภัณฑ์ที่ได้แล้ว พบว่าอีกมิติหนึ่งของกระบวนการผลิตยังก่อให้เกิดปัญหามลพิษ เกิดกากของเสียหรือวัสดุเหลือใช้ และที่ผ่านมา กรอ. มีนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนการนำกากอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นจากการประกอบกิจการโรงงานไปใช้ประโยชน์ตามหลัก 3Rs และ KAIZEN ลดค่าใช้จ่ายในการบำบัด/กำจัด เพิ่มมูลค่าของเสีย และเพิ่มโอกาสในการแข่งขันทางการค้า สอดคล้องกับหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ซึ่งนำไปสู่การใช้ประโยชน์ของเสียได้ทั้งหมด (Zero waste to landfill)”อธิบดี กรอ.กล่าวปิดท้าย