แบตเตอรี่โพแทสเซียมไอออนต้นแบบ ครั้งแรกของไทย กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ร่วม ม.ขอนแก่น

กพร. เปิดตัว "แบตเตอรี่โพแทสเซียมไอออนต้นแบบ" ครั้งแรกของไทย หนุนห่วงโซ่อุปทานอุตฯ ยานยนต์ไฟฟ้าให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น

อัปเดตล่าสุด 16 พ.ย. 2564
  • Share :
  • 1,263 Reads   

กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ร่วม  มหาวิทยาลัยขอนแก่น ประสบความสำเร็จในการพัฒนาต้นแบบ "แบตเตอรี่โพแทสเซียมไอออน" ซึ่งใช้วัตถุดิบจากเหมืองแร่โพแทชและเกลือหินเป็นครั้งแรกของประเทศไทย หวังเพิ่มศักยภาพการแข่งขันให้แก่ผู้ผลิตวัตถุดิบในประเทศ และหนุนห่วงโซ่อุปทานยานยนต์ไฟฟ้า

Advertisement

นายอดิทัต  วะสีนนท์ รองอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีส่งมอบแบตเตอรี่โพแทสเซียมไอออนต้นแบบว่า กพร. ได้ดำเนินโครงการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตวัตถุดิบเพื่อรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมศักยภาพร่วมกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยเล็งเห็นความสำคัญของการเตรียมความพร้อมด้านวัตถุดิบเพื่อรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมศักยภาพ เนื่องจากเป็นปัจจัยการผลิตสำคัญที่ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ซึ่งหนึ่งในกลุ่มเป้าหมายหลักคือ อุตสาหกรรมการผลิตแบตเตอรี่แห่งอนาคต

ด้วยปัจจุบันทั่วโลกหันมาให้ความสนใจในการปรับเปลี่ยนมาเป็นยานยนต์ไฟฟ้ากันมากขึ้น และประเทศไทยก็ได้กำหนดนโยบาย 30@30 เพื่อก้าวสู่การเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่สำคัญของโลก มีเป้าหมายในการเพิ่มกำลังการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าพลังงานสะอาด (Zero Emission Vehicle: ZEV) อย่างน้อย 30% ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมดในปี ค.ศ. 2030 โดยอุปกรณ์ที่สำคัญที่สุดของยานยนต์ไฟฟ้า ได้แก่ แบตเตอรี่ คิดเป็นต้นทุนหลักประมาณ 40% ของรถยนต์ไฟฟ้า และมีผลต่อการพัฒนาสมรรถนะของยานยนต์ไฟฟ้ามากที่สุด

อย่างไรก็ตาม ด้วยข้อจำกัดด้านเทคโนโลยีการผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน และปัญหาด้านวัตถุดิบที่ต้องพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศเกือบทั้งหมด เป็นจุดเริ่มต้นให้เกิดการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตแบตเตอรี่ทางเลือกโดยใช้วัตถุดิบชนิดอื่น จากการศึกษาเบื้องต้นพบว่า มีวัตถุดิบที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงกับโลหะลิเธียมและมีศักยภาพนำมาผลิตเป็นแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า ได้แก่ โพแทสเซียมคลอไรด์ (KCl) และโซเดียมคลอไรด์ (NaCl) โดยสามารถนำมาใช้เป็นวัสดุในการทำขั้วไฟฟ้าและอิเล็กโทรไลต์ได้

ปัจจุบันบริษัทต่าง ๆ ในต่างประเทศเริ่มมีการผลิตเซลล์ต้นแบบ ทำให้แบตเตอรี่ชนิดนี้มีศักยภาพที่จะถูกพัฒนามาเป็นแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าได้ ทั้งนี้ แบตเตอรี่ชนิดโพแทสเซียมไอออนและโซเดียมไอออนนับเป็นแบตเตอรี่ทางเลือกที่มีราคาถูก เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญประเทศไทยมีแหล่งแร่โพแทชและเกลือหินอยู่เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคอีสาน จากการประเมินปริมาณสำรองแร่เบื้องต้นพบว่า ประเทศไทยมีแร่โพแทชมากกว่า 407,000 ล้านตัน ซึ่งถือว่าเป็นแหล่งโพแทชที่มีศักยภาพสูงที่สุดในภูมิภาคเอเชีย

“สำหรับผลการดำเนินโครงการดังกล่าวในปีนี้ เราสามารถวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตแบตเตอรี่โพแทสเซียมไอออนและโซเดียมไอออนในระดับห้องปฏิบัติการ (Lab scale) และต่อยอดสู่การผลิตเซลล์แบตเตอรี่โพแทสเซียมไอออนต้นแบบ (Pilot scale) ได้สำเร็จเป็นครั้งแรกของประเทศไทย เกิดประโยชน์ในการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันให้ผู้ประกอบการสามารถผลิตวัตถุดิบที่มีคุณภาพและมูลค่าสูงขึ้น สร้างความเข้มแข็งให้แก่ห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศไทยในอนาคต นอกจากนี้ เพื่อเป็นการต่อยอดและผลักดันการผลิตแบตเตอรี่ชนิดโพแทสเซียมไอออนและโซเดียมไอออนไปสู่เชิงพาณิชย์ได้อย่างแท้จริง กรมฯ ได้วางแผนการศึกษาวิจัยอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในด้านต่าง ๆ เช่น ความหนาแน่นพลังงานเชิงมวลและเชิงปริมาตร รวมทั้งศักย์ไฟฟ้าให้ทัดเทียมกับแบตเตอรี่อื่น ซึ่งจะต้องมีการศึกษาลักษณะเฉพาะและโครงสร้างของวัสดุที่นำมาใช้ทำขั้วแอโนด ขั้วแคโทด และอิเล็กโทรไลต์เชิงลึก เพื่อให้มีความเหมาะสมในขั้นสูงขึ้นต่อไป โดยคาดว่าจะสามารถผลักดันให้เกิดการผลิตในเชิงอุตสาหกรรมได้ในอนาคตอันใกล้ต่อไป” นายอดิทัต กล่าว

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH