เคาะแล้ว 6 มาตรการแก้ปัญหา ตู้ส่งสินค้าขาดแคลน ช่วยส่งออก

เคาะแล้ว 6 มาตรการแก้ปัญหา ตู้ส่งสินค้าขาดแคลน ช่วยส่งออก

อัปเดตล่าสุด 16 ธ.ค. 2563
  • Share :
  • 1,045 Reads   

รมว.พาณิชย์ เคาะ 6 มาตรการแก้ปัญหาการขาดแคลนตู้สินค้า และอัตราค่าระวางเรือสูง ภายหลังประชุมหารือร่วม 15 หน่วยงานพร้อมภาคเอกชน ชี้ไทยนำเข้าแค่ 3.5 ล้านตู้ แต่ส่งถึง 5 ล้านตู้ต่อปี ทำให้ขาดแคลนตู้ปีละ 1.5 ล้านตู้

เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และคณะผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์ โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กรมการค้าภายใน กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ และสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (สขค.) ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมท่าเรือคลองเตย กรุงเทพฯ และหารือร่วมกับภาคเอกชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการหาแนวทางแก้ไขปัญหาขาดแคลนตู้สินค้าและอัตราค่าระวางเรือที่สูงขึ้น เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ส่งออกที่กำลังได้รับผลกระทบ

ภายหลังการประชุมหารือร่วม 15 หน่วยงานพร้อมภาคเอกชน นายจุรินทร์ กล่าวว่า วันนี้เป็นการลงพื้นที่เพื่อมาดูสถานการณ์การส่งออกผ่านท่าเรือกรุงเทพโดยมุ่งเน้นแก้ปัญหาสำคัญ 3 ประเด็น คือ 1. ปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ที่ใช้สำหรับบรรจุสินค้าส่งออกไปยังต่างประเทศขาดแคลน 2. เรื่องค่าบริการในประเทศ จากกระบวนการนำเข้าและส่งออก และ 3. การจองพื้นที่เพื่อบรรจุตู้สำหรับส่งออกและปัญหาการจองตู้ โดยประเทศไทยมีความต้องการตู้สำหรับการส่งออกประมาณ 5,000,000 ตู้ต่อปี และนำเข้า 3,500,000 ตู้ต่อปี จึงยังขาดอยู่ 1,500,000 ตู้

โดยที่ประชุมฯ สรุปการแก้ไขการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ได้ 6 มาตรการ ดังนี้

  1. กระทรวงพาณิชย์ร่วมกับการท่าเรือและภาคเอกชนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหาลู่ทางในการเร่งนำตู้เปล่าเข้ามาให้พอกับการใช้บรรจุสินค้าส่งออก
  2. เอาตู้เก่ามาซ่อมแซมในประเทศเพื่อใช้บรรจุสินค้าเพื่อการส่งออก โดยให้ความช่วยเหลือให้นำเข้าตู้เปล่าและตู้เก่าให้สะดวกรวดเร็ว
  3. หาทางเพิ่มช่องทางการส่งออกโดยไม่ใช้ตู้ เช่น ใช้เรือสินค้าทั่วไป เป็นต้น
  4. สนับสนุนช่วยเหลือ SME ซึ่งเป็นผู้ส่งออกรายย่อย ให้รวมตัวกันจองตู้ล่วงหน้าผ่านสมาคมผู้รับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ 
  5. เร่งดำเนินการหาลู่ทางให้เรือที่มีขนาด 400 เมตรสามารถเข้าท่าที่แหลมฉบังได้แทนที่จะอนุญาตเฉพาะเรือ 300 เมตร ในปัจจุบัน เพื่อให้การส่งออกการนำเข้าสามารถบรรทุกสินค้าได้มากขึ้น
  6. หามาตรการในการลดต้นทุนการนำเข้าตู้

 

และในเรื่องของค่าบริการในประเทศ (Local Charge) ได้ตกลงร่วมกันว่าจะร่วมมือกับการท่าเรือแห่งประเทศไทยและภาคเอกชนในการหาทางลดค่าบริการในประเทศ ปัจจุบันเฉลี่ยตู้ขนาด 20 ฟุต ประมาณ 1,800 บาทต่อตู้ สำหรับภาครัฐการท่าเรือจะไปหาลู่ทางปรับลดเพื่อช่วยเหลือผู้ส่งออก และการนำเข้าตู้เปล่าหรือตู้เก่าเข้ามา ช่วยรับภาระได้ 6 เดือนถึงเดือนมิถุนายน 2564 การคิดค่าบริการที่สร้างภาระเกินสมควรกรมการค้าภายในจะใช้กฎหมายว่าด้วยราคาสินค้าและบริการเข้ามากำกับดูแล

ส่วนปัญหาการจองพื้นที่ตู้หรือการจองตู้ที่บางครั้งถูกเลื่อนหรือถูกยกเลิก ซึ่งเป็นปัญหากับผู้ส่งออกนั้น ได้ขอให้สำนักงานแข่งขันทางการค้าของกระทรวงพาณิชย์เข้ามารับภาระในการรับเรื่องร้องเรียนจากภาคเอกชนที่ประสบปัญหาโดยสำนักงานคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าแจ้งว่าถ้ามีหลักฐานพร้อมและมายืนร้องก็จะดำเนินการพิจารณาให้เสร็จภายใน 30 วัน

"ตู้ขาดแคลนทั่วโลกไม่ใช่เฉพาะประเทศเราประเทศเดียว ที่มาประชุมเพราะต้องการแก้ปัญหาในส่วนของประเทศไทย ขาดแคลนเพราะ 1. ตู้คอนเทนเนอร์ไปค้างอยู่ที่ประเทศสหรัฐฯกับสหภาพยุโรปเยอะมากและส่งออกไม่ได้เพราะติดโควิด 2. จีนกับเวียดนามสามารถที่จะดึงตู้เปล่าอยู่ในประเทศได้เยอะมาก ทำให้ยิ่งขาดแคลน และโดยปริมาณตัวเลขการส่งออกน้ำเข้าของเรา นำเข้าแค่ 3,500,000 ตู้ต่อปีแต่ส่งถึง 5,000,000 ตู้ต่อปี ทำให้ขาดแคลนตู้ปีละ 1,500,000 ตู้" นายจุรินทร์ กล่าว

สำหรับผู้สนใจสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ www.ditp.go.th หรือสายตรงการค้าระหว่างประเทศ โทร 1169

 

อ่านต่อ: