นิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง โครงการ 5 EEC การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.)

กนอ. ผนึก คปภ. ผลักดันภาคอุตสาหกรรมไทย ต้นแบบด้านความปลอดภัย นำร่องในพื้นที่ 3 นิคมฯ!

อัปเดตล่าสุด 13 ก.พ. 2566
  • Share :
  • 993 Reads   

การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ลงนาม MOU ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจ และสิทธิประโยชน์ ด้านการประกันภัย พ.ร.บ. ให้กับผู้ประกอบการ พนักงานโรงงาน และชุมชนโดยรอบนิคมอุตสาหกรรม ตั้งเป้าพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมเป็นต้นแบบด้านความปลอดภัย นำร่องในพื้นที่ 3 นิคมอุตสาหกรรม!

วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยภายหลังร่วมเป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการบูรณาการความร่วมมือส่งเสริมความรู้ความเข้าใจ และสิทธิประโยชน์ ด้านการประกันภัย พ.ร.บ. ระหว่างการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กับสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ว่า ความปลอดภัยเป็นสิ่งสำคัญ เพราะส่งผลต่อผู้ใช้รถใช้ถนนร่วมกัน ดังนั้น เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับผู้ประสบภัยจากรถ ให้ได้รับการรักษาพยาบาลและชดใช้ค่าเสียหายได้อย่างทันท่วงที จึงเห็นควรประชาสัมพันธ์ให้ผู้เป็นเจ้าของรถทุกคัน ตระหนักถึงความสำคัญและความจำเป็นของการจัดทำประกันภัยคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ (พ.ร.บ.) เพื่อสร้างหลักประกันความมั่นคงในชีวิตต่อตนเอง ครอบครัว และส่วนรวม

ทั้งนี้ กนอ.ได้ประสานความร่วมมือกับ คปภ. นำร่องในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม 3 แห่ง ประกอบด้วย นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง, นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และนิคมอุตสาหกรรมบางปู จังหวัดสมุทรปราการ โดยจากการสำรวจข้อมูลการจราจรในนิคมนำร่องฯ ทั้ง 3 แห่ง พบว่า มีจำนวนการใช้รถยนต์และรถจักรยานยนต์ ประมาณ 72,965 คัน แบ่งออกเป็น นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด 32,965 คัน นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน 8,000 คัน และนิคมอุตสาหกรรมบางปู 32,000 คัน ตามลำดับ นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน มีจำนวนรถจักรยานยนต์ 3,500 คัน สำหรับสถิติการเกิดอุบัติเหตุ พบว่าภายหลังจากที่ได้ดำเนินโครงการ จำนวนอุบัติเหตุเกิดอุบัติเหตุมีแนวโน้มลดลง

“กนอ.ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนของผู้ประกอบการ พนักงานโรงงาน ตลอดจนชุมชนรอบนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งสอดรับกับภารกิจของ กนอ.ในการกำกับดูแลบริหารจัดการด้านความปลอดภัยของนิคมอุตสาหกรรมให้เป็นไปตามกฎหมาย สร้างความเชื่อมั่นต่อสาธารณชน โดยจะผลักดันให้เกิดความรู้ความเข้าใจถึงสิทธิประโยชน์ และตระหนักถึงความสำคัญของการทำประกันภัย พ.ร.บ.ว่า เป็นสิ่งที่กฎหมายกำหนดให้ผู้ขับขี่รถจำเป็นต้องทำ รวมถึงสร้างการรับรู้ถึงบทบาทหน้าที่ของกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยให้กับผู้ประกอบการ พนักงานโรงงาน ตลอดจนชุมชนรอบนิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กนอ. เพื่อบรรลุเป้าหมายให้พื้นที่นิคมอุตสาหกรรมเป็นต้นแบบด้านความปลอดภัย” นายวีริศ กล่าว 

ด้านนายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ คปภ. กล่าวว่า ที่ผ่านมา คปภ.ขับเคลื่อนด้านประกันภัย พ.ร.บ.ในหลากหลายมิติอย่างต่อเนื่อง ประกอบด้วย 1.การปรับเพิ่มวงเงินความคุ้มครองตามประกันภัย พ.ร.บ.อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้ประสบภัยจากรถได้รับความช่วยเหลือที่เหมาะสม 2.การขยายช่องทางการจำหน่ายประกันภัย พ.ร.บ. ให้ประชาชนสามารถซื้อหรือต่อประกันภัย พ.ร.บ.สะดวกยิ่งขึ้น 3.การพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัย พ.ร.บ.สำหรับรถจักรยานยนต์ที่มีระยะเวลาความคุ้มครองระยะยาว 3 – 5 ปี เพื่ออำนวยความสะดวกและเป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับประชาชน และ 4.บูรณาการร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อบูรณาการความร่วมมือในการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับประกันภัย พ.ร.บ.

สำหรับการลงนามบันทึกความเข้าใจฯ ครั้งนี้ ทั้งสองหน่วยงานจะประสานความร่วมมือระหว่างกัน เพื่อต่อยอดการบูรณาการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ด้านประกันภัย พ.ร.บ. ตลอดจนสร้างความร่วมมือด้านเทคโนโลยีข้อมูลข่าวสาร และการแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อสนับสนุนงานวิชาการด้านประกันภัย พ.ร.บ. โดยบันทึกความเข้าใจฉบับนี้มีผลใช้บังคับเป็นระยะเวลา 3 ปี 

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH