กระทรวง อว. ระดมความเห็น ขับเคลื่อนการกระตุ้นเศรษฐกิจหลังโควิด-19 ด้วยยุทธศาสตร์ BCG

อว. ระดมความเห็น กระตุ้นเศรษฐกิจหลังโควิด ด้วย BCG Model

อัปเดตล่าสุด 24 พ.ค. 2563
  • Share :
  • 448 Reads   

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดระดมความเห็นจากทุกภาคส่วน เพื่อขับเคลื่อนการกระตุ้นเศรษฐกิจหลังโควิด-19 ด้วยยุทธศาสตร์ BCG

ตามที่ นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มีข้อสั่งการให้ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นหน่วยงานหลักในการเร่งรัดให้เกิดการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Model: Bio-Economy, Circular Economy, Green Economy) ให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่ง กระทรวง อว. ได้จัดระดมความคิดจากทุกภาคส่วน ประกอบด้วยผู้แทนจากภาคอุตสาหกรรม เอกชน  หน่วยงานรัฐ มหาวิทยาลัย สถาบันวิจัย และชุมชน / ประชาสังคม โดยมีผู้มีส่วนร่วมเข้าเสนอความคิดเห็นประมาณ 500 คน

การดำเนินการแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นการจัดประชุมระดมความคิดของทุกภาคส่วน มุ่งเน้นยกระดับการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้มีความเข้มแข็ง แบ่งเป็น 7 กลุ่มย่อย ประกอบด้วย 1) กลุ่มเกษตร โดยมี น.สพ.ยุคล ลิ้มแหลมทอง เป็นประธาน 2) กลุ่มอาหาร โดยมี นายธีรพงศ์ จันศิริ เป็นประธาน 3) กลุ่มยาและวัคซีน โดยมี ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร เป็นประธาน 4) กลุ่มเครื่องมือแพทย์ โดยมี ศ.ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ เป็นประธาน 5) กลุ่มพลังงานวัสดุและเคมีชีวภาพ โดยมี นายเทวินทร์ วงศ์วานิช เป็นประธาน 6) กลุ่มท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยมี นายกลินท์ สารสิน เป็นประธาน และ 7) กลุ่มเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยมี ดร.วิจารย์ สิมาฉายา เป็นประธาน

ส่วนที่สองเป็นการระดมสมองของผู้บริหารของบริษัทชั้นนำของไทย ด้านเกษตร อาหาร และพลังงาน มุ่งเน้นผลักดันให้ประเทศไทยก้าวสู่ความเป็นผู้นำของโลกบนฐานความพร้อมของประเทศ จากจุดแข็งการเป็นแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญของโลก โดยมี นายอิสระ ว่องกุศลกิจ เป็นประธาน 

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2563 ที่ผ่านมา ประธานกลุ่มขับเคลื่อน BCG ทั้ง 8 กลุ่ม ได้นำเสนอผลสรุปแนวทางการขับเคลื่อน BCG และได้ร่วมแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นจนได้ข้อสรุปที่สำคัญ ดังนี้

- กลุ่มเกษตร ให้ความสำคัญกับการเป็นแหล่งผลิตสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพ มาตรฐาน ปลอดภัย เพื่อสุขภาพที่ดีของผู้บริโภค และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง

- กลุ่มอาหาร ให้ความสำคัญกับการยกระดับคุณภาพอาหารทั้งอุตสาหกรรมเดิมและอาหารท้องถิ่น รวมถึงสร้างนวัตกรรมอาหารทั้งในกลุ่มอาหารเฉพาะกลุ่ม อาหารฟังก์ชั่น รวมถึงอาหารผู้สูงอายุ

- กลุ่มยา วัคซีน และเครื่องมือแพทย์ ให้ความสำคัญกับการเพิ่มความสามารถในการผลิตของประเทศเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการพึ่งพาตนเอง

- กลุ่มพลังงาน วัสดุ และเคมีชีวภาพ เป็นการพัฒนาต่อยอดใช้ประโยชน์จากผลผลิตทางการเกษตร รวมถึงของเหลือทิ้งในกระบวนการผลิตสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรไปสู่การเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

- กลุ่มเศรษฐกิจหมุนเวียนเน้นใช้ทรัพยากรทุกประเภท ได้แก่ ดิน น้ำ และวัตถุดิบในการผลิตอย่างคุ้มค่า

ซึ่งบริษัทชั้นนำด้านการเกษตร อาหาร และพลังงาน เน้นสร้างความเป็นผู้นำในตลาดโลกด้วยการพัฒนาต่อยอดไปสู่สินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูงโดยมีเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนสินค้าที่มีมูลค่าสูง (High Value Added)  จาก 20% เป็น 30% เน้นผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสุขภาพและความงาม และผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์

ทั้งนี้ ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. จะนำเสนอแนวความคิดดังกล่าวต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อให้เกิดการใช้ BCG เป็นโมเดลในการขับเคลื่อนประเทศไทยให้เดินหน้า ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยใช้จุดแข็งของประเทศไทยบนฐานหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในการเพิ่ม GDP จาก 3.4 ล้านล้านบาท เป็น 4.4 ล้านล้านบาท ในอีก 5 ปีข้างหน้า เพิ่มการจ้างงาน เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้วยนวัตกรรม เพื่อให้เกิดเศรษฐกิจ BCG ที่เติบโต แข่งขันได้ในระดับโลก เกิดการกระจายรายได้ลงสู่ชุมชน ลดความเหลื่อมล้ำ ชุมชนเข้มแข็ง มีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี รวมถึงการพัฒนาที่ยั่งยืนเพื่อการส่งต่อทรัพยากรสู่คนรุ่นต่อไป