กระทรวงอุตสาหกรรม METI Japan BCG Model ญี่ปุ่นลงทุนในไทย

ก.อุตฯ ร่วมเมติ ผลักดันแนวคิดบีซีจี ด้วยเอเจไอเอฟ เน้นเทคโนโลยี-นวัตกรรมขับเคลื่อนอุตสาหกรรม

อัปเดตล่าสุด 14 ม.ค. 2565
  • Share :
  • 973 Reads   

กระทรวงอุตฯ ดึงความร่วมมือเมติ เร่งฟื้นเศรษฐกิจไทยในช่วงเปิดประเทศ ผลักดันแนวคิดบีซีจี ด้วยเอเจไอเอฟ เน้นเทคโนโลยี – นวัตกรรมขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรม

กระทรวงอุตสาหกรรม เร่งนโยบายและสรรหาแนวทางในการฟื้นฟูเศรษฐกิจและภาคอุตสาหกรรม จับมือกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม หรือ METI ประเทศญี่ปุ่น หารือและแลกเปลี่ยนแนวทางการยกระดับศักยภาพที่โดดเด่นของทั้งไทยและญี่ปุ่น เพื่อสร้างโอกาสการเติบโตในมิติต่าง ๆ จากนโยบายการลงทุนเอเชีย-ญี่ปุ่นเพื่ออนาคต (ASIA-Japan Investing for the Future Initiative : AJIF) ควบคู่กับนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG Model) โดยร่วมกันพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยี การสร้างขีดความสามารถในทุนมนุษย์ การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการกระตุ้นการเติบโตให้กับ SME และการสร้างห่วงโซ่อุปทานที่เข้มแข็ง รองรับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม นอกจากนี้ ยังเผยถึงสถานการณ์ในปีที่ผ่านมาญี่ปุ่นยังคงเชื่อมั่นการลงทุนในไทย โดยมีมูลค่าการลงทุนโครงการต่าง ๆ อันดับ 1 เฉียด 7 หมื่นล้านบาท 

วันที่ 13 มกราคม 2565 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ยังคงส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจและภาคอุตสาหกรรมในหลาย ๆ ประเทศ ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีแนวทางในการฟื้นฟู รวมถึงการสร้างความแข็งแกร่งภายใต้บริบทที่เปลี่ยนแปลง ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม จึงได้หารือแนวทางเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม กับ นายฮากิอูดะ โคอิจิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม (METI) ประเทศญี่ปุ่น ในโอกาสมาเยือนประเทศไทย เพื่อหารือแนวทางการรองรับกับความเปลี่ยนแปลงและผันผวนที่เกิดขึ้น โดยการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG Model) ร่วมกับนโยบายการลงทุนเอเชีย-ญี่ปุ่นเพื่ออนาคต (ASIA-Japan Investing for the Future Initiative : AJIF) โดยกำหนดเป็นกรอบความร่วมมือภายใต้ชื่อ Framework Document on Co-Creation for Innovative and Sustainable Growth ที่มุ่งเน้นการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยี การสร้างขีดความสามารถในทุนมนุษย์ การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการกระตุ้นการเติบโตให้กับ SME และการสร้างห่วงโซ่อุปทานที่เข้มแข็ง เพื่อผลักดันการลงทุนจากภาคอุตสาหกรรมของประเทศญี่ปุ่น ใช้ไทยเป็นฐานการลงทุน สร้างความเชื่อมโยง และพัฒนาอุตสาหกรรมในระดับภูมิภาค รวมถึงแลกเปลี่ยนศักยภาพที่โดดเด่นของทั้งไทยและญี่ปุ่นเพื่อสร้างโอกาสการเติบโตในมิติต่าง ๆ ร่วมกัน 

นายสุริยะ กล่าวเพิ่มเติมว่า แนวทางการดำเนินงานภายใต้กรอบความร่วมมือ Framework Document on Co-Creation for Innovative and Sustainable Growth จะมีใน 3 ด้าน ดังนี้ 1. ด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ยั่งยืนและการสร้างขีดความสามารถในทุนมนุษย์ เป็นการร่วมมือกันเพื่อพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมาย รวมถึงอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ การแปรรูปอาหาร หุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติ การเดินอากาศ โลจิสติกส์ ดิจิทัล ศูนย์กลางด้านสุขภาพ อุตสาหกรรมชีวภาพ ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว รวมทั้งสนับสนุนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพื่อส่งเสริมการร่วมกันสร้างเพื่อการพัฒนาเชิงนวัตกรรมอย่างยั่งยืนในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการพัฒนาทักษะและองค์ความรู้สำหรับวิศวกรในโรงงานอัจฉริยะ 2.ด้านการเร่งพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เป็นการร่วมมือกับศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมสู่อนาคตสนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในประเทศไทย ในการแนะนำการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการแก้ไขปัญหาหรือเพิ่มประสิทธิภาพในการทำธุรกิจ เชื่อมโยงวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมระหว่างไทยและญี่ปุ่นผ่านความร่วมมือต่าง ๆ เช่น การจับคู่ธุรกิจ และแพลตฟอร์มดิจิทัล เป็นต้น 3.ด้านการร่วมกันสร้างห่วงโซ่อุปทาน เป็นการสร้างห่วงโซ่อุปทานที่มีความยืดหยุ่นและมีความสามารถในการแข่งขันในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ปรับปรุงคุณภาพและมูลค่าของห่วงโซ่อุปทาน ด้วยการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัลและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ รวมถึงการสร้างห่วงโซ่อุปทานหมุนเวียนและสีเขียว

“การดึงความร่วมมือจากประเทศที่มีความเชี่ยวชาญถือเป็นแนวทางที่มีความสำคัญอย่างมากสำหรับการแก้ปัญหาภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจที่ทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ เนื่องจากสามารถหยิบยกสิ่งที่ประสบความสำเร็จ หรือจุดแข็งต่าง ๆ มาปรับใช้ได้อย่างทันท่วงที สำหรับในส่วนของประเทศญี่ปุ่นซึ่งถือเป็นพันธมิตรของไทยมาอย่างยาวนานนั้น ไทยมีความมุ่งหวังที่จะนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ญี่ปุ่นมีการพัฒนามาสร้างขีดความสามารถให้อุตสาหกรรมเป้าหมายของไทยต่อเนื่องถึงระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว อีกทั้งยังต้องการที่จะยกระดับศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ทั้งที่เป็นแรงงาน กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีความสนใจในด้านเทคโนโลยี รวมทั้งผู้ประกอบการกลุ่ม SMEs ที่ญี่ปุ่นมีความเชี่ยวชาญ เพื่อให้สามารถปรับตัวได้ทันกับบริบทโลกที่ปลี่ยนแปลง” 

โดยในปัจจุบันกระทรวงอุตสาหกรรมได้มีโครงการความร่วมมือกับกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม (METI) ประเทศญี่ปุ่น อาทิ

  • โครงการจัดตั้งศูนย์ต้นแบบการจัดการซากยานยนต์แบบครบวงจรในประเทศไทย หรือ โครงการ “Establishment of Comprehensive End-of-Life Vehicles (ELVs) Management System in Thailand”การกำจัดขยะรถยนต์ไทยกำลังประสบปัญหาอย่างมาก โครงการ “การศึกษาเพื่อการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมที่มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน” ร่วมกับการนิคมฯ ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมซึ่งจะช่วยตอบโจทย์นโยบาย BCG ของรัฐบาลได้เป็นอย่างดี
  • โครงการ Lean Automation System Integrator LASI (ลาซี่), โครงการ Lean IoT Plant Management and Execution LIPE (หลีเป๊ะ) และโครงการ Smart Monosukuri (สมาร์ท โมโนซูกุริ) ที่เข้ามาพัฒนาศักยภาพบุคลากรยกระดับภาคอุตสาหกรรมให้เป็น SI (System Integrator) เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่โรงงานอัจฉริยะที่ทันสมัย ด้วยการใช้ระบบอัตโนมัติ AI IoT ซึ่งเป็นกลไกในการเพิ่มศักยภาพการผลิต

นายสุริยะ กล่าวทิ้งท้ายว่า แม้ว่าในปี 2564 ที่ผ่านมาจะเกิดภาวะวิกฤตที่อาจส่งผลกระทบในด้านความเชื่อมั่น แต่ญี่ปุ่นยังคงเป็นคู่ค้าทางเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย โดยจากการศึกษาข้อมูลของ BOI พบว่าแหล่งที่มาของมูลค่าเงินลงทุนในโครงการต่างชาติที่ได้รับอนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุนมาจากญี่ปุ่น คิดเป็นร้อยละ 19 ของมูลค่าการลงทุนจากต่างประเทศทั้งหมด โดยมูลค่าเงินลงทุนส่วนใหญ่มาจากโครงการขนาดใหญ่ (เงินลงทุนตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป) อาทิ กิจการผลิตผลิตภัณฑ์ ปิโตรเคมี (PET Resin) 

มูลค่า 3,062 ล้านบาท กิจการผลิตด้ายหรือผ้าที่มีคุณสมบัติพิเศษ มูลค่า 2,597 ล้านบาท กิจการวิจัยและพัฒนา (การผลิตที่ใช้เซลล์จุลินทรีย์ เซลล์พืช และเซลล์) มูลค่า 1,990 ล้านบาท กิจการผลิตตลับลูกปืนสำหรับยานพาหนะ มูลค่า 1,680 ล้านบาท และในช่วง 9 เดือนแรกของปีที่ผ่านมา ญี่ปุ่นมีจำนวนโครงการที่ยื่นขอรับ การส่งเสริมมากที่สุด 125 โครงการ คิดเป็นมูลค่ารวม 67,817 ล้านบาท

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH