สวทช. โชว์ผลงานวิจัยเด่นปี 63 ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติ ขยายผลสู่การใช้จริง

สวทช. โชว์ผลงานวิจัยเด่นปี 63 ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติ ขยายผลสู่การใช้จริง

อัปเดตล่าสุด 10 ก.พ. 2564
  • Share :
  • 403 Reads   

เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) แถลงข่าวสรุปผลงาน สวทช. ประจำปี 2563 พร้อมโชว์นิทรรศการตัวอย่างความสำเร็จผลงานวิจัยของ สวทช. และหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชนในรูปแบบ Social Distancing  ภายใต้งาน NSTDA Beyond Limits: 3 Decades of Impacts (3 ทศวรรษ แห่งความต่อเนื่อง ความสำคัญและผลกระทบ) โดยในปี 2564 ถือเป็นปีที่มีความพิเศษคือ สวทช. ก้าวเข้าสู่ปีที่ 30 ของการก่อตั้งในฐานะองค์กรวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมของประเทศ

ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช. แถลงว่า ตลอดปี 2563 ที่ผ่านมา สวทช. ยังมุ่งมั่นสร้างผลงานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติ และสามารถต่อยอดขยายผลไปสู่การใช้ประโยชน์ในทุกภาคส่วน สร้างมูลค่าผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมได้ถึง 7.13 เท่าของค่าใช้จ่าย หรือ 66,255 ล้านบาท ผลักดันให้เกิดการลงทุนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมในภาคการผลิตและบริการมูลค่า 13,796 ล้านบาท มีบทความตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติ 538 บทความ และจดทรัพย์สินทางปัญญา 451 คำขอ โดยปัจจุบัน สวทช. เป็นอันดับ 1 ของประเทศในการจดทรัพย์สินทางปัญญา

“สำหรับตัวอย่างผลงานวิจัยเด่น สวทช. ด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ อาทิ แบตเตอรี่ 20C มีการพัฒนาและติดตั้งกับระบบกำเนิดไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ที่โรงไฟฟ้าทับสะแก และระบบกำเนิดไฟฟ้าจากกังหันลมที่โรงไฟฟ้าลำตะคอง G Rock นวัตกรรมวัสดุเม็ดมวลเบาสังเคราะห์ ทำจากวัสดุพลอยได้จากอุตสาหกรรมแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร ช่วยลดภาระน้ำหนักโครงสร้างอาคารมากกว่า 20% พร้อมจำหน่ายเชิงพาณิชย์ภายใต้ชื่อ Green Rock น้ำมัน B10 มีการทดสอบร่วมกับบริษัทผู้ผลิตรถกระบะจนเป็นที่ยอมรับ การตรวจโรคใบด่างมันสำปะหลังด้วยเทคนิค ELISA สามารถคัดกรองท่อนพันธุ์เพื่อป้องกันโรคมากกว่า 700,000 ตัวอย่าง คิดเป็นพื้นที่ 437 ไร่ และถ่ายทอดวิธีการตรวจให้บริษัทเอกชน 14 บริษัท นอกจากนี้ยังมีเทคโนโลยี PCA Emitter เสาอากาศตัวนำไฟฟ้าเชิงแสงตัวกำเนิดสัญญาณเทระเฮิรตซ์ของคนไทยที่มีประสิทธิภาพดี ราคาถูก ซึ่งปัจจุบันผลิตต้นแบบส่งขายให้บริษัทจีน และชุดตรวจไฮบริดชัวร์ (HybridSure) เทคโนโลยีที่ช่วยตรวจสอบความบริสุทธิ์เมล็ดพันธุ์ลูกผสมได้อย่างแม่นยำและรวดเร็ว ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการส่งออกเมล็ดพันธุ์ไปสู่ตลาดโลก

ผลงานวิจัยเด่นด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการวิจัยของประเทศ อาทิ ธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติได้เดินหน้าสนับสนุนหน่วยงานที่มีบทบาทด้านการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ ให้บริการจัดเก็บรักษาทรัพยากรชีวภาพระยะยาว โดยมีตัวอย่างพืช 1,391 ตัวอย่าง จุลินทรีย์ 6,051 ตัวอย่าง ข้อมูลจีโนม 6,051 ตัวอย่าง และข้อมูลดีเอ็นเอ 12,936 ตัวอย่าง ศูนย์โอมิกส์แห่งชาติประสบความสำเร็จในการพัฒนาวิธีการสกัดอาร์เอ็นเอของเชื้อไวรัสก่อโรคโควิดแบบง่ายและรวดเร็ว อีกทั้งยังนำไปใช้กับไวรัสที่มีสารพันธุกรรมเป็น RNA ได้ทุกชนิด ขณะที่ EECi มีความก้าวหน้าในการก่อสร้างอาคาร 65% คาดว่าเข้าพื้นที่ได้ในปี 2564 อีกทั้งคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมการผลิตที่ยั่งยืนเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา”

ดร.ณรงค์ กล่าวว่า ภารกิจด้านการพัฒนาและสร้างเสริมบุคลากรวิจัย  สวทช. สร้างบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีศักยภาพให้แก่ประเทศผ่านการให้ทุน 708 ทุน สนับสนุนนักศึกษาและบุคลากรวิจัยทั้งในและต่างประเทศ ร่วมวิจัยในห้องปฏิบัติการศูนย์วิจัยแห่งชาติ 569 คน นอกจากนี้ยังมีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยจำนวน 8 แห่ง ในการพัฒนาบัณฑิตวิจัยคุณภาพสูง เพื่อเป็นกำลังสำคัญพัฒนาประเทศ

“สำหรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมสู่กลุ่มเกษตรกรและชุมชนในปี 2563 สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตรได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีแก่กลุ่มเกษตรกร รวมทั้งสิ้น 12,500 คน ในพื้นที่ 305 ตำบล 181 อำเภอ 51 จังหวัด ส่งผลให้เกิดการจ้างงาน สร้างอาชีพ ลดการใช้สารเคมี ลดการรุกพื้นที่ป่า และมีการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่ามากขึ้น

ตัวอย่างผลงานวิจัยเด่นด้านการพัฒนาชุมชน อาทิ เทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะ เช่น มีการขยายผลพัฒนาชุมชนเกษตรอัจฉริยะ 176 ชุมชน เช่น สวนทุเรียน สุภัทราแลนด์ จ.ระยอง, สวนเมลอนและแตงโม ไร่เพื่อนคุณ จ.บุรีรัมย์ อีกทั้งยังมีการส่งเสริมเทคโนโลยียกระดับเกษตรกรผู้ผลิตข้าวปลอดภัย จ.สงขลา แก่เกษตรกร 219 คน พื้นที่รวม 1,171 ไร่ ซึ่งช่วยลดต้นทุนการซื้อเมล็ดพันธุ์คุณภาพดีได้ถึง 400,000 บาทต่อปี เพิ่มผลผลิตเฉลี่ย 480 กิโลกรัมต่อไร่

พร้อมกันนี้ก็ยังมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีเกษตรสมัยใหม่ เช่น โครงการการผลิตอาหารโคเพื่อความยั่งยืนด้วย วทน. โดยดำเนินการร่วมกับสหกรณ์โคนมไทย-เดนมาร์คสวนมะเดื่อ จำกัด จ.ลพบุรี มีการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการการทำอาหารสำหรับโคนมร่วมกับ ธ.ก.ส. สาขาลพบุรี สามารถช่วยลดต้นทุนการผลิตได้ถึง 50% ทำให้ในปี 2563 เกษตรกรลดต้นทุนการผลิตอาหารสัตว์ได้ถึง 18.9 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีอื่นๆ เช่น การพัฒนาสายพันธุ์พืช เทคโนโลยีการจัดการดินและปุ๋ย เทคโนโลยีสารชีวภัณฑ์ เทคโนโลยีการผลิตอาหารสัตว์ และเทคโนโลยีการแปรรูปด้วย” ดร.ณรงค์ กล่าว