โครงการ Made in Thailand สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ เอสเอ็มอี

ส.อ.ท. ดันสินค้า Made in Thailand ขายรัฐ 6 เดือนมูลค่า 6.8 หมื่นล้าน หนุน SME ไทยฝ่าวิกฤตโควิด

อัปเดตล่าสุด 7 ก.ย. 2564
  • Share :
  • 1,022 Reads   

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) นำผู้ประกอบการไทยฝ่าวิกฤตโควิด-19 เดินหน้าโครงการ Made in Thailand โดยในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาสามารถผลักดันสินค้า Made in Thailand : MiT เข้าสู่การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐได้แล้วกว่า 68,000 ล้านบาท คาดสิ้นปี 64 จะมีมูลค่าการค้าทะลุ 100,000 ล้านบาท 

 

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

วันที่ 7 กันยายน 2564 นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ในภาวการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างรุนแรง และการออกมาตรการล็อกดาวน์ของภาครัฐ ทำให้กำลังซื้อภายในประเทศลดลงเป็นอย่างมาก ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงกับภาคธุรกิจโดยเฉพาะเอสเอ็มอีที่พึ่งพาตลาดภายในประเทศ ดังนั้นจึงมีเพียงตลาดการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐเท่านั้นที่มีกำลังซื้อเพียงพอที่จะช่วยเหลือผู้ประกอบการให้ผ่านสภาวะที่ยากลำบาก

โดยแนวทางที่สำคัญในการเจาะตลาดภาครัฐของเอกชน คือ โครงการ Made in Thailand ที่ ส.อ.ท. ได้ผลักดันร่วมกับภาครัฐในการปรับกฎระเบียบเอื้อประโยชน์กับผู้ประกอบการในประเทศไทย ที่เข้ามาขึ้นทะเบียนสินค้า Made in Thailand : MiT ได้มากขึ้น เพื่อเข้าถึงเม็ดเงินการจัดจ้างภาครัฐมีมากกว่า 1.3 ล้านล้านบาทต่อปี โดยในช่วง 6 เดือน ที่ผ่านมา ส.อ.ท. ได้เร่งดำเนินการขึ้นทะเบียนสินค้า Made in Thailand ให้กับผู้ประกอบการแล้วกว่า 2,000 ราย โดยล่าสุดข้อมูลจากกรมบัญชีกลางพบว่ามีผู้ประกอบการที่ขึ้นทะเบียนกว่าร้อยละ 52  สามารถยื่นเสนองานต่อภาครัฐได้แล้วคิดเป็นมูลค่ากว่า 68,000 ล้านบาท ซึ่งครอบคลุมสินค้าหลากหลายทั้งอุตสาหกรรมขนาดใหญ่รวมไปถึงผู้ประกอบการ SMEs

ทั้งนี้คาดว่าสิ้นปี 2564 จะมีผู้ประกอบการเข้ามาลงทะเบียนกว่า 5,000 ราย มีจำนวนสินค้ากว่า 50,000 รายการ โดยที่ผ่านมามีสินค้าที่มาขึ้นทะเบียนมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ อันดับ 1. อุปกรณ์งานก่อสร้าง อันดับ 2.ผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อันดับ 3 เครื่องปรับอากาศ อันดับ 4 สินค้าและอุปกรณ์ทางการแพทย์ และอันดับ 5.สิ่งทอเครื่องนุ่งห่ม

“จากการดำเนินโครงการ Made in Thailand ได้รับการตอบรับที่ดีมากจากหน่วยราชการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรมที่ผู้บริหารต่างผลักดันนโยบายร่วมกัน หรือหน่วยงานอื่นๆ ที่สอบถามเพื่อสืบค้นส่วนของที่หน่วยงานมีความต้องการในฐานของ MiT เข้ามาอย่างต่อเนื่อง อาทิ ท่าอากาศยาน, กรมทางหลวง, สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ , การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล, กรมที่ดิน, กรมการปกครองส่วนท้องถิ่น, โรงพยาบาล และหน่วยงานอื่นๆ ซึ่งต้องขอขอบคุณแทนผู้ประกอบการเป็นอย่างมาก ถือว่าทุกภาคส่วนได้ร่วมกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศที่กำลังยากลำบากจากสถานการณ์โควิด-19 ให้สามารถเดินต่อไปได้” นายสุพันธุ์ กล่าว 

นางพิมพ์ใจ  ลี้อิสระนุกูล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและประธานสายงานมาตรฐานอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบงาน Made in Thailand ของสภาอุตสาหกรรมฯ กล่าวว่า นอกจากหน่วยงานภาครัฐที่เป็นคู่ค้าสำคัญที่ตอบรับสินค้า Made in Thailand  เป็นอย่างดีแล้ว โอกาสทางการตลาดอื่นๆ ของสินค้า Made in Thailand ก็มีมากเช่นเดียวกัน โดย ส.อ.ท. ได้หารือร่วมกับหน่วยงานเอกชนในส่วนของการขายปลีกและขายส่ง ซึ่งในปัจจุบันได้มีพันธมิตรภาคเอกชนรายใหญ่ให้การสนับสนุน อาทิ กลุ่มเซ็นทรัลกรุ๊ป ที่กำลังผลักดันผู้ค้าในเครือข่ายมาขึ้นทะเบียน Made in Thailand โดยกลุ่มบริษัทในเครือเซ็นทรัลกรุ๊ป เช่น ไทวัสดุ บีทูเอส และ ออฟฟิศเมท ได้เข้ามาเจรจาธุรกิจกับเอสเอ็มอี ที่ขึ้นทะเบียน Made in Thailand เพิ่มเติมด้วย และหลังจากนี้ ส.อ.ท. จะหารือกับภาคเอกชนรายอื่น ๆ ให้ช่วยสนับสนุนเพิ่มเติม เช่น สมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย, สมาคมค้าปลีกไทย คาดว่าจะได้ข้อสรุปในเร็ว ๆ นี้ ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการช่วยเหลือเอสเอ็มอีไทยในภาวะที่ยากลำบาก

นอกจากตลาดในประเทศแล้ว ส.อ.ท. ยังร่วมกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) สร้างโอกาสทางการค้าในต่างประเทศ โดยนำร่องกลุ่ม SMEs เจรจาธุรกิจที่ตลาดบาห์เรน, ตลาดอินเดียและตลาดจีน ที่นิยมสินค้าไทยอยู่ระดับหนึ่งแล้ว อ่านเพิ่มเติม: คลิกเลย

ซึ่งหากสินค้าได้รับการรับรอง Made in Thailand ก็ยังจะสร้างความน่าเชื่อถือและมั่นใจให้กับคู่ค้าเพิ่มมากขึ้น ซึ่งผู้ประกอบการที่ได้รับการรับรอง Made in Thailand ก็จะได้เปรียบคู่แข่งขันรายอื่นๆ โดยหลังจากนี้ ส.อ.ท. จะมีการผลักดันโอกาสทางการตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น จึงขอเชิญชวนผู้ประกอบการให้มาขึ้นทะเบียน เพื่อขยายโอกาสทางธุรกิจในอนาคต

ทั้งนี้ ขอเชิญชวนภาคอุตสาหกรรม ภาคการค้า ภาคบริการ และเอสเอ็มอี ทั้งสมาชิก ส.อ.ท. และเครือข่ายพันธมิตร เข้าร่วมการรับรองสินค้าที่ผลิตในประเทศไทยหรือ Made in Thailand : MiT เพื่อร่วมกันสร้างโอกาสขยายตลาดเข้าสู่การจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ และโอกาสการค้าในรูปแบบหน่วยงานธุรกิจกับหน่วยธุรกิจ (B2B) และโอกาสการค้ากับผู้บริโภคโดยตรง (B2C) ทั้งในประเทศและต่างประเทศก่อให้เกิดรายได้ทั้งซัพพลายเชน เพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจของประเทศจากผลกระทบของ Covid-19 สามารถขึ้นทะเบียนสินค้า Made in Thailand ได้ที่ www.mit.or.th สอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายงานมาตรฐานอุตสาหกรรม ส.อ.ท. โทร. 02-345-1109 และ 02-345-1100 หรือ Line : @mitofficial

 

ชมคลิปข่าว : ขอใบรับรอง Made in Thailand เข้าตลาดจัดซื้อจัดจ้าง

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH