แก้ปัญหาราคาเหล็กสูง รัฐ-เอกชนผนึกกำลัง เตรียมจับคู่ธุรกิจ ผู้ผลิต-ผู้ใช้ ซื้อขายตรง

แก้ปัญหาราคาเหล็กสูง รัฐ-เอกชนผนึกกำลัง เตรียมจับคู่ธุรกิจ ผู้ผลิต-ผู้ใช้ ซื้อขายตรง

อัปเดตล่าสุด 7 พ.ค. 2564
  • Share :
  • 606 Reads   

กรมการค้าภายใน ผนึก ภาคอุตสาหกรรมเหล็กไทย เตรียมจับคู่ธุรกิจผู้ผลิต-ผู้ใช้เหล็ก ซื้อขายโดยตรง ไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง ช่วยลดต้นทุน แก้ไขปัญหาเหล็กราคาสูง

Advertisement

เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2564 - นายวัฒนศักย์  เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยกรณีการดูแลแก้ไขปัญหาลดผลกระทบจากราคาเหล็กมีการปรับตัวสูงขึ้นว่า นายจุรินทร์  ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้สั่งการให้กรมการค้าภายในและกรมการค้าต่างประเทศเร่งดำเนินการ ซึ่งกรมการค้าภายในและกรมการค้าต่างประเทศได้ประชุมหารือร่วมกับสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมและสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย

โดยมีสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยในพระบรมราชูปถัมภ์เป็นตัวแทนฝั่งผู้ใช้ และมีสมาคมผู้ผลิตเหล็ก จำนวน 7 ราย ได้แก่ สมาคมผู้ผลิตเหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อน สมาคมผู้ผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนไทย สมาคมผู้ผลิตเหล็กแผ่นรีดเย็นไทย สมาคมผู้ผลิตท่อโลหะและแปรรูปเหล็กแผ่น สมาคมผู้ผลิตเหล็กทรงยาวด้วยเตาอาร์คไฟฟ้า สมาคมผู้ผลิตเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี และสมาคมโลหะไทย รวมทั้งผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่ 3 ราย โดยที่ประชุมได้หารือเกี่ยวกับสถานการณ์เหล็กทั้งในประเทศและต่างประเทศ พบว่า ราคาเหล็กในตลาดโลกมีการปรับราคาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยราคานำเข้าเหล็กในตลาดเอเชียเดือนเมษายน 2564 เทียบกับเมษายน 2563 พบว่า ราคานำเข้าเหล็กแท่งยาว (Billet) ที่เป็นวัตถุดิบปรับเพิ่มขึ้นประมาณ 75% และราคาประเภทอื่นมีการปรับสูงขึ้นไปในทิศทางเดียวกัน

ซึ่งปัจจัยที่ส่งผลให้ราคาสูงขึ้นมาจากการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทำให้อุตสาหกรรมเหมืองแร่เหล็กแหล่งใหญ่ของโลก คือ ประเทศบราซิล และออสเตรเลีย ไม่สามารถขุดสินแร่เหล็กได้ตามแผนที่ตั้งเป้าหมายไว้ ประกอบกับประเทศจีนมีนโยบายลดกำลังการผลิตโดยปิดโรงงานผลิตเหล็กที่มีกระบวนการผลิตที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อีกทั้งมีการยกเลิกมาตรการทางภาษีที่มีอยู่เดิมในการสนับสนุนการส่งออกสินค้าเหล็กบางรายการ เพื่อนำเหล็กที่ผลิตได้ไปใช้ขยายการก่อสร้างในการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ นอกจากนี้ภาวะเศรษฐกิจในสหภาพยุโรป จีน ญี่ปุ่น และเกาหลี เริ่มมีการฟื้นตัว ส่งผลให้ภาคการผลิตในอุตสาหกรรมต่อเนื่องมีความต้องการเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม สำหรับสถานการณ์การผลิตและจำหน่ายเหล็กในประเทศ พบว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมเหล็กมีการผลิตเพียง 30%-40% ของกำลังการผลิตที่สามารถผลิตได้ จึงมั่นใจว่าในด้านปริมาณประเทศไทยจะมีปริมาณเหล็กใช้ได้อย่างเพียงพอ ในด้านราคา พบว่า ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อต้นทุนของผู้ประกอบการกลุ่มก่อสร้างขนาดใหญ่หรือที่เสนองานกับหน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ การกำหนดค่าตัวเลขดัชนีที่ใช้วัดการเปลี่ยนแปลงของค่างาน (ค่า K) ของงานโครงการภาครัฐที่อาจไม่สอดคล้องกับต้นทุนที่เกิดขึ้นจริง สำหรับปัญหาของผู้ประกอบการก่อสร้างรายย่อยส่วนหนึ่งมาจากกรณีผู้ค้าฉวยโอกาสขึ้นราคา ดังนั้นเพื่อให้การแก้ไขปัญหาตรงจุดและไม่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมเหล็กในประเทศระยะยาว เบื้องต้นได้มีมติร่วมกัน ดังนี้

1. จัด Business Matching ระหว่างสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยฯ เป็นตัวแทนผู้ใช้ กับกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เป็นตัวแทนฝั่งผู้ผลิตและจำหน่ายเหล็ก ซึ่งจะได้ประสานเชื่อมโยงการซื้อขายโดยตรง เพื่อลดการผ่านคนกลาง ซึ่งจะทำให้ต้นทุนลดลง 

2. พิจารณาทบทวนค่าตัวเลขดัชนีที่ใช้วัดการเปลี่ยนแปลงของค่างาน (ค่า K) ของงานโครงการภาครัฐ โดยจะได้จัดให้มีการหารือร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐกับสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยฯ ทั้งในด้านการสืบราคาจำหน่ายและการกำหนดค่า K ให้สะท้อนกับราคาในตลาดยิ่งขึ้น 

3. ขอความร่วมมือผู้ผลิตเหล็กตรึงราคาจำหน่าย และต้องจำหน่ายในราคาที่สอดคล้องกับต้นทุนที่แท้จริงโดยกรมการค้าภายในจะติดตามสถานการณ์ต้นทุนการนำเข้าและราคาจำหน่ายปลีกอย่างใกล้ชิด 

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้มอบหมายให้พาณิชย์จังหวัดติดตามดูแลการจำหน่ายผลิตภัณฑ์เหล็กของร้านค้าปลีกให้มีการปิดป้ายแสดงราคาจำหน่ายและเข้มงวดไม่ให้มีการฉวยโอกาสปรับขึ้นราคา (กรณีไม่ปิดป้ายแสดงราคาจะมีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท และกรณีจำหน่ายสินค้าแพงเกินสมควรจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี ปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ) หากพบเห็นพฤติกรรมที่เข้าข่ายผิดกฎหมายแจ้งได้ที่สายด่วนกรมการค้าภายใน 1569 หรือสำนักงานพาณิชย์จังหวัดทุกจังหวัด