ก.แรงงาน” จัดสรรเงินอุดหนุน “ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ” 20 สาขา

ก.แรงงาน จัดสรรเงินอุดหนุน “ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ” 20 สาขาช่างอาชีพ

อัปเดตล่าสุด 5 มี.ค. 2564
  • Share :
  • 805 Reads   

กระทรวงแรงงาน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กำหนด 20 สาขาอาชีพ เพื่อให้เงินช่วยเหลือหรืออุดหนุนเป็นค่าใช้จ่ายในการทดสอบแก่ผู้ดำเนินการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานที่ได้รับอนุญาตตามมาตรา 24  พรบ. ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. 2545 

 

นายธวัช เบญจาทิกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) เปิดเผยว่า นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และศาสตราจารย์ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้ กพร. พัฒนาทักษะฝีมือแรงงานให้มีทักษะที่สูงขึ้นและหลากหลายมากขึ้น เพื่อขับเคลื่อนกระทรวงแรงงานสู่กระทรวง ด้านเศรษฐกิจสร้างแรงงานคุณภาพเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจมีมาตรฐานระดับสากล โดย กพร. กำหนดมาตรการจูงใจเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของภาคีเครือข่ายที่ร่วมให้บริการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ โดยให้เงินช่วยเหลือหรืออุดหนุนจากกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงานแก่ผู้ดำเนินการทดสอบใน 20 สาขา ประกอนด้วย       

  • สาขาอาชีพช่างก่อสร้าง คือ ช่างฉาบยิปซัม ช่างติดตั้งยิปซัม ช่างมุงหลังคากระเบื้องคอนกรีต ช่างติดตั้งแผ่นเหล็กเคลือบขึ้นรูป
  • สาขาอาชีพช่างอุตสาหการ คือ ช่างเชื่อมแม็ก ช่างเชื่อมทิก ช่างเชื่อมอาร์กโลหะด้วยมือ
  • สาขาอาชีพช่างเครื่องกล คือ ผู้ควบคุมปั้นจั่นชนิดหอสูง พนักงานควบคุมเครื่องจักรรถยกไฟฟ้า พนักงานขับรถบรรทุก
  • สาขาอาชีพช่างไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และคอมพิวเตอร์ คือ ช่างเครื่องปรับอากาศในบ้านและการพาณิชย์ขนาดเล็ก ช่างควบคุมด้วยระบบโปรแกรมเมเบิ้ลลอจิคอนโทรลเลอร์
  • สาขาอาชีพช่างอุตสาหกรรมศิลป์ คือ ช่างเครื่องประดับ (ประดับอัญมณี) ช่างเครื่องประดับ (รูปพรรณ) เจียระไนพลอย ช่างหล่อเครื่องประดับ ช่างตกแต่งเครื่องประดับ ช่างฝังอัญมณี บนเครื่องประดับ ช่างประกอบติดตั้งเฟอร์นิเจอร์
  • สาขาอาชีพภาคบริการ คือ ผู้ควบคุมรถยกสินค้าขนาดไม่เกิน 10 ตัน

ซึ่งการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานในสาขาอาชีพเหล่านี้จำเป็นต้องดำเนินการโดยบุคลากรที่มีความรู้ ทักษะและความเชี่ยวชาญต้องใช้เครื่องมือเครื่องจักรเฉพาะด้าน และเป็นสาขาอาชีพที่สำคัญและจำเป็นในตลาดแรงงานปัจจุบัน เพื่อให้ภารกิจด้านมาตรฐานฝีมือแรงงานสามารถรองรับความต้องการได้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ กพร. จึงใช้แนวทางประชารัฐโดยร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา ดำเนินการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานในสาขาอาชีพดังกล่าว  

กองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน เป็นทุนหมุนเวียนสำหรับใช้จ่ายเกี่ยวกับการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน การให้เงินช่วยเหลือหรืออุดหนุนแก่ผู้ดำเนินการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานที่ได้รับอนุญาตตามมาตรา 24 เป็นไปตามมาตรา 28 (3) ที่บัญญัติให้ใช้จ่ายเงินกองทุนเพื่อช่วยเหลือหรืออุดหนุนกิจการใดๆ ที่เกี่ยวกับการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงานตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการประกาศกำหนด เพื่อเป็นการส่งเสริมการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน โดยจ่ายเงินอุดหนุนให้แก่ผู้ดำเนินการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน ปีละ 10,000 บาท

ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สพร. และ สนพ. ทุกจังหวัด หรือกองส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน 0 2643 6039 หรือสายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 4