ทุน สตาร์ทอัพ 2022, แหล่งเงินทุน มีความสําคัญต่อธุรกิจสตาร์ทอัพอย่างไร, แหล่งเงินทุน ให้เปล่า 2565

บีโอไอต่อยอดมาตรการ เสริมแกร่งสตาร์ทอัพไทย 30 รายในปีนี้

อัปเดตล่าสุด 4 เม.ย. 2565
  • Share :
  • 984 Reads   

บีโอไอ (BOI) ต่อยอดมาตรการส่งเสริมธุรกิจสตาร์ทอัพไทย วางเป้าเสริมแกร่ง 30 รายในปี 2565 พร้อมกางแผนดึงต่างชาติ 'กลุ่มผู้มีความมั่งคั่งสูง' เข้าทำงานในไทย

งานมหกรรม “BCG Startup Investment Day” ที่จัดขึ้นครั้งแรกในประเทศไทย เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2565 โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ร่วมกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA และหน่วยงานพันธมิตรร่วม 20 หน่วยงาน เป็นจุดเริ่มต้นการส่งเสริมการลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพ ซึ่งจะเป็นเครื่องยนต์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่ให้กับประเทศ

วันที่ 4 เมษายน 2565 นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน กล่าวว่า การพัฒนาประเทศด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG ซึ่งเป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งจะเป็นแหล่งที่มาสำคัญของนวัตกรรม และมีบทบาทในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในระยะต่อไป วิสาหกิจเริ่มต้นหรือ Startup เป็นผู้ที่มีส่วนสำคัญในการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจอย่างมีนัยยะสำคัญด้วยนวัตกรรม ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนอย่างครบวงจรและถูกจุด

บีโอไอพร้อมให้การส่งเสริมสตาร์ทอัพ ผ่าน พ.ร.บ. ที่บีโอไอรับผิดชอบอยู่ 2 ฉบับ คือ พ.ร.บ. ส่งเสริมการลงทุน และ พ.ร.บ.การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย พ.ศ. 2560 โดยตั้งเป้าหมายจะใช้เงินกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เพื่อสนับสนุนสตาร์ทอัพ จำนวน 30 รายในปี 2565 นี้

สำหรับหลักเกณฑ์การให้เงินสนับสนุนสตาร์ทอัพของบีโอไอ มีดังนี้

1. ต้องเป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นมาไม่เกิน 5 ปี

2. ดำเนินกิจการในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่กำหนด

3. ต้องได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากหน่วยงานอื่นมาแล้ว ซึ่งจะแสดงให้เห็นว่าเป็นสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพ

4. ต้องเสนอแผนงาน โดยเฉพาะด้านบุคลากร ซึ่งบีโอไอจะสนับสนุนเงินเป็นค่าจ้างบุคลากรด้านเทคโนโลยีและการบริหาร ในสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 50

นอกจากนี้ บีโอไอยังมีมาตรการส่งเสริมการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจสตาร์ทอัพและระบบนิเวศที่เกี่ยวข้อง อาทิ กิจการพัฒนาซอฟต์แวร์ แพลตฟอร์มเพื่อให้้บริการดิจิทัล หรือ ดิจิทัลคอนเทนต์ซึ่งกิจการเหล่านี้ได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุดถึง 8 ปี

รวมทั้งมีมาตรการส่งเสริมการดึงผู้เชี่ยวชาญจากต่างชาติ ซึ่งรวมถึงกลุ่มสตาร์ทอัพเข้ามาทำงานในประเทศไทย ผ่าน 3 รูปแบบ ได้แก่

1. การอำนวยความสะดวกด้านวีซ่าและใบอนุญาตทำงาน สำหรับผู้บริหารและผู้เชี่ยวชาญต่างชาติที่เข้ามาทำงานในกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน

2. มาตรการ Smart Visa เพื่อดึงดูดกลุ่มบุคลากรทักษะสูง รวมทั้งอาจารย์ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นักลงทุนและกลุ่มสตาร์ทอัพ

3. มาตรการวีซ่าพำนักระยะยาว (Long-term Resident Visa: LTR) ซึ่งจะเสริมกับมาตรการที่บีโอไอทำอยู่ในปัจจุบัน โดยขยายกลุ่มเป้าหมายให้กว้างขึ้น เช่น กลุ่มประชากรโลกผู้มีความมั่งคั่งสูง (Wealthy Global Citizen) กลุ่มผู้เกษียณอายุจากต่างประเทศและมีเงินบำนาญสูง (Wealthy Pensioner) และกลุ่มพนักงานบริษัทชั้นนำที่อยากมานั่งทำงานที่ประเทศไทย (Work-from-Thailand Professional)

การจัดงานมหกรรม “BCG Startup Investment Day” ที่ผ่านมาจึงเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างขีดความสามารถการแข่งขันของสตาร์ทอัพไทยให้ก้าวสู่ระดับภูมิภาคและระดับโลก โดยอาศัยความร่วมมือจากพันธมิตร ทั้งภาครัฐ เอกชน และนักลงทุน บริษัทร่วมลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศ เปิดโอกาสให้สตาร์ทอัพที่มีศักยภาพได้มีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุน และมาตรการสนับสนุนอย่างครบวงจร รวมไปถึงการสร้างเครือข่ายพันธมิตรเพื่อต่อยอดโอกาสทางธุรกิจในอนาคต

ความสำเร็จของสตาร์ทอัพที่เกิดขึ้นจากการจัดงานในครั้งนี้ จะช่วยจุดประกายความสำเร็จให้คนรุ่นใหม่ได้เข้ามาร่วมกันพัฒนาประเทศในระยะต่อไป

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH