THAI SME-GP, Made in Thailand, เอสเอ็มอีไทย สินค้าไทย, จัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ, สสว.

สสว. จับมือ ส.อ.ท. เชื่อมระบบ THAI SME-GP และ MIT หนุนเอสเอ็มอีเข้าสู่ตลาดภาครัฐ-เอกชน

อัปเดตล่าสุด 1 ก.ค. 2565
  • Share :
  • 1,222 Reads   

สสว. ร่วมกับ ส.อ.ท. เดินหน้าเชื่อมระบบ THAI SME-GP กับ MIT มุ่งอำนวยความสะดวกให้หน่วยงานภาครัฐทั่วประเทศ และขยายโอกาสการให้ SME เข้าถึงตลาดภาครัฐและเอกชนมากขึ้น ขยายโอกาสสู่กลุ่มธุรกิจเหล็ก วัสดุก่อสร้าง ชิ้นส่วนยานยนต์ ฯลฯ ขณะที่ไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2565 ผู้ประกอบการที่ขึ้นทะเบียน THAI SME-GP มีมูลค่าการขาย/รับจ้างงานหน่วยงานภาครัฐแล้ว 42,897 ล้านบาท

วันที่ 1 กรกฎาคม 2565 รศ.ดร.วีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า ตามที่กฎกระทรวงกำหนดพัสดุและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2563 และแนวปฏิบัติตามกฎกระทรวงฯ ฉบับที่ 3 หรือหนังสือ ว 78 ของกรมบัญชีกลาง ได้กำหนดสิทธิประโยชน์สำหรับ SME ที่ขึ้นทะเบียนไว้กับ สสว. และได้รับการรับรองภายใต้มาตรการสนับสนุน SME เพื่อการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ที่ www.thaismegp.com หรือระบบ THAI SME-GP และมีการเสนอขายสินค้าที่ได้รับการรับรองเป็นสินค้าที่ผลิตในประเทศ (Made in Thailand : MIT) จากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) จะได้รับแต้มต่อในการเสนอราคากับภาครัฐไม่เกินร้อยละ 15 ของผู้เสนอราคาต่ำสุดที่เป็นผู้ประกอบการทั่วไปนั้น ทำให้ สสว. และ ส.อ.ท. มีแนวทางร่วมกันที่จะสนับสนุนผู้ประกอบการ SME ที่ขายสินค้าที่ได้รับการรับรองเป็นสินค้า MIT ให้มีโอกาสเข้าสู่ตลาดภาครัฐรวมถึงตลาดภาคเอกชนได้ง่ายและสะดวกมากยิ่งขึ้น โดยมีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือที่จะดำเนินการเรื่องนี้ให้บรรลุเป้าหมาย

“ความร่วมมือของ สสว. และ ส.อ.ท. ในครั้งนี้ จะมีการเชื่อมโยงฐานข้อมูลของทั้ง 2 ระบบ เพื่ออำนวยความสะดวกให้หน่วยงานภาครัฐที่จะจัดซื้อ สามารถค้นหา SME ที่ขายสินค้า MIT ได้ง่ายและสะดวกมากขึ้นในระบบ THAI SME-GP ขณะที่ผู้ประกอบการก็จะได้รับสิทธิประโยชน์ด้วยแต้มต่อเพิ่มเป็นไม่เกินร้อยละ 15 ปัจจุบันผู้ประกอบการที่ขึ้นทะเบียน THAI SME-GP ของ สสว. มีจำนวนกว่า 1.3 แสนราย กลุ่มที่จะได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้นคือกลุ่มที่ขายสินค้า MIT โดยเฉพาะกลุ่มเหล็ก กลุ่มวัสดุก่อสร้าง กลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ ฯลฯ ซึ่งจะช่วยให้ SME มีโอกาสได้รับการจัดซื้อจัดจ้างจากภาครัฐได้มากขึ้น” ผอ.สสว. กล่าว

สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้ นอกจากการเชื่อมโยงข้อมูลระบบ THAI SME-GP และระบบ MIT เพื่อการค้นหาในจุดเดียวกันแล้ว ยังร่วมกันเผยแพร่ประชาสัมพันธ์เพื่อจูงใจให้ผู้ประกอบการกลุ่มเป้าหมายมาขึ้นทะเบียน เพื่อได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้น สนับสนุนข้อมูล ความรู้ ให้คำปรึกษาแนะนำเกี่ยวกับมาตรการภายใต้ข้อกำหนดในกฎกระทรวงฯ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ และสนับสนุนการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารผ่านช่องทางต่างๆ ของแต่ละฝ่าย รวมถึงการสนับสนุนให้ SME สามารถเข้าถึงตลาดภาคเอกชนในเครือข่ายความร่วมมือที่แต่ละฝ่ายมี เป็นต้น ด้วยเป้าหมายเพื่อร่วมกันสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพ ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน และเพิ่มโอกาสให้ผู้ประกอบการ SME เข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐและภาคเอกชนได้มากขึ้น

ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 28 มิถุนายน) ระบบ THAI SME-GP มีผู้ประกอบการขึ้นทะเบียนรวม 135,077 ราย มีรายการสินค้าและบริการรวม 1,070,891 รายการ จังหวัดที่มีการขึ้นทะเบียนสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี เชียงใหม่ ปทุมธานี และนครราชสีมา สินค้าที่มีการขึ้นทะเบียนมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ เครื่องใช้และอุปกรณ์สำนักงาน วัสดุอุปกรณ์และวัสดุสิ้นเปลืองสำหรับเครื่องดนตรี เกม ของเล่น งานศิลปะ งานฝีมือและการศึกษา บริการด้านการก่อสร้างและบำรุงรักษาอาคาร ส่วนประกอบและวัสดุสิ้นเปลืองของโครงสร้าง อาคาร สิ่งก่อสร้างและการผลิต และผลิตภัณฑ์ที่พิมพ์เผยแพร่ เป็นต้น โดยไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2565 (ต.ค.-ธ.ค.2564) ภาครัฐมีการจัดซื้อจัดจ้างสินค้า/บริการของ SME ที่ขึ้นทะเบียนในระบบ THAI SME-GP คิดเป็นมูลค่ารวม 42,897 ล้านบาท สินค้าที่ได้รับการจัดซื้อจัดจ้างในลำดับต้นๆ เช่น งานก่อสร้าง อุปกรณ์วิทยาศาสตร์ บริการทำความสะอาด อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ เป็นต้น
สสว. เชื่อมันว่าความร่วมมือที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ นอกจากเป็นขยายโอกาสให้ผู้ประกอบการ SME แล้วยังช่วยส่งเสริมสินค้าที่ผลิตภายในประเทศ (Made in Thailand) ให้สามารถเข้าสู่ตลาดภาครัฐที่มีมูลค่าถึง 1.3 ล้านล้านบาทต่อปี ได้ง่ายและสะดวกมากขึ้น และคาดว่า SME จะสามารถมีส่วนแบ่งในตลาดทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH