ACCSQ standards นำร่อง 4 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ยอมรับมาตรฐานเดียวกันใน 9 ประเทศอาเซียน ลดอุปสรรคทางการค้า ลดการตรวจซ้ำ

ไทย ผนึก อาเซียน ผลักดัน 4 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ยอมรับมาตรฐานเดียวกัน

อัปเดตล่าสุด 1 ก.พ. 2564
  • Share :
  • 667 Reads   

กระทรวงอุตสาหรรม คืบหน้าในการเร่งบรรลุข้อตกลงการยอมรับมาตรฐานสินค้าเดียวกันของกลุ่ม 10 ประเทศอาเซียน  ผลักดัน 4 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์, ยานยนต์และชิ้นส่วน, ยาง และวัสดุก่อสร้าง เพื่อลดอุปสรรคทางการค้า ดำเนินการส่งออกได้โดยไม่ถูกตรวจสอบซ้ำ

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ในฐานะผู้แทนประเทศไทย เร่งผลักดันให้อีก 9 ประเทศในอาเซียน บรรลุข้อตกลงในการยอมรับมาตรฐานสินค้าของกันและกัน โดยเบื้องต้นเน้น 4 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ไทยเป็นเจ้าตลาดอยู่ในขณะนี้ ได้แก่ ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์และชิ้นส่วน ยาง และวัสดุก่อสร้าง ให้สามารถค้าขายในอาเซียนได้โดยไร้อุปสรรคทางการค้า

ด้านนายวันชัย  พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เปิดเผยว่า สมอ. ซึ่งเป็นผู้แทนประเทศไทยได้เข้าร่วมทำงานกับสมาชิกอาเซียนอีก 9 ประเทศ ได้แก่ สิงค์โปร์ ลาว เวียดนาม กัมพูชา เมียนมา อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และบรูไนดารุสซาลาม เพื่อหารือมาตรการที่สำคัญ 3 มาตรการ ได้แก่ (1) การปรับมาตรฐานของประเทศสมาชิกอาเซียนให้สอดคล้องกันโดยอ้างอิงมาตรฐานระหว่างประเทศ (2) การยอมรับร่วมในผลการตรวจสอบและรับรองที่ดำเนินการโดยห้องปฏิบัติการทดสอบ  หรือหน่วยรับรองที่ขึ้นบัญชีรายชื่อในอาเซียน และ (3) การปรับระบบด้านกฎระเบียบให้เป็นหนึ่งเดียวกัน ทั้งนี้ เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกทางการค้าให้ผู้ประกอบการภายในภูมิภาค และลดอุปสรรคอันเนื่องมาจากมาตรการกีดกันทางการค้าต่าง ๆ ที่เกิดจากมาตรฐาน กฎระเบียบทางเทคนิค และกระบวนการตรวจสอบและรับรอง ทำให้ 4 กลุ่มอุตสาหกรรมศักยภาพของไทย ได้แก่ อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์และชิ้นส่วน ยาง และวัสดุก่อสร้าง สามารถค้าขายในกลุ่มประเทศอาเซียนได้โดยไม่ถูกตรวจสอบซ้ำ และไม่มีอุปสรรคทางการค้า

ทั้งนี้ ใน 4 กลุ่มอุตสาหกรรมดังกล่าวมีความคืบหน้าดังนี้

1) อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ได้ดำเนินการตามความตกลงว่าด้วยการยอมรับร่วมแล้ว ส่งผลให้สินค้าที่ผ่านการตรวจสอบและรับรองจากห้องปฏิบัติการทดสอบ หรือ หน่วยรับรองจากประเทศไทย สามารถส่งออกไปยังประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 9 ประเทศได้โดยไม่ถูกตรวจสอบซ้ำ

2) อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน ได้ลงนามความตกลงยอมรับร่วมผลการตรวจสอบและรับรองผลิตภัณฑ์ยานยนต์อาเซียนแล้ว เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2564

3) อุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้าง อยู่ระหว่างดำเนินการตามขั้นตอนทางกฎหมายเพื่อลงนามความตกลงยอมรับร่วมสาขาวัสดุอาคารและสิ่งก่อสร้าง และ

4) อุตสาหกรรมยาง มีการปรับมาตรฐานให้สอดคล้องกันโดยอ้างอิงมาตรฐานระหว่างประเทศ ISO จำนวน 68 มาตรฐาน เพิ่มศักยภาพการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางของอาเซียน ซึ่งส่งผลดีกับผลิตภัณฑ์ยางของไทยสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก

เลขาธิการ สมอ. กล่าวเพิ่มเติมว่า “การผลักดันให้ 9 ประเทศสมาชิกอาเซียน บรรลุข้อตกลงการยอมรับร่วมกันใน 4 กลุ่มอุตสาหกรรมตามข้างต้นได้นั้น ก่อให้เกิดประโยชน์กับประเทศเป็นอย่างมาก เพราะประเทศไทยมีศักยภาพในอุตสาหกรรมดังกล่าว โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน และอุตสาหกรรมยาง หากศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ (ATTRIC) ซึ่งเป็นสนามทดสอบแห่งแรกในอาเซียนก่อสร้างแล้วเสร็จพร้อมให้บริการ จะยิ่งเป็นการเสริมแกร่งอุตสาหกรรมด้านนี้เพิ่มขึ้นไปอีก นอกจากนี้ อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของไทยมีการส่งออกสินค้าไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก อยู่ในอันดับที่ 13 ของโลก และอยู่ในอันดับที่ 4 ของอาเซียน หากสามารถลดอุปสรรคทางการค้าต่างๆ ได้ จะทำให้เราสามารถเพิ่มส่วนแบ่งในตลาดโดยเฉพาะอาเซียนได้อีกเป็นจำนวนมาก” นายวันชัยฯ กล่าว

 

อ่านต่อ: