ฟื้น FTA ไทย-อียู กู้เศรษฐกิจหลังโควิด

ฟื้น FTA ไทย-อียู กู้เศรษฐกิจหลังโควิด

อัปเดตล่าสุด 28 ก.ย. 2563
  • Share :
  • 465 Reads   

การเจรจา FTA ไทย-สหภาพยุโรป ถูกแขวนค้างไว้นับตั้งแต่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาบริหารประเทศเมื่อปี 2557 กระทั่งล่าสุดไทยได้มีการจัดการเลือกตั้งนำมาสู่การเตรียมพร้อม เพื่อฟื้นกลับมาเจรจาใหม่อีกครั้ง “กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ” กระทรวงพาณิชย์ ในฐานะเจ้าภาพหลัก ได้จัดสัมมนาระดมความเห็นต่อการฟื้นเจรจา FTA ไทย-EU ฟังเสียงสะท้อนจากทุกภาคส่วนต่อผลการศึกษา ผลกระทบจากการจัดทำความตกลงการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป ซึ่งสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนาได้จัดทำเสร็จสิ้น โดยได้ชี้ชัดว่าเอฟทีเอไทย-อียู จะช่วยเศรษฐกิจไทยขยายตัวสร้างโอกาสส่งออกให้สินค้าไทย มากไปกว่านั้นโควิด-19 ยิ่งส่งแรงกระเพื่อมต่อสถานการณ์ค้าโลก จะเป็นโอกาสของทุกประเทศต้องออกแรงแข่งขัน ปรับ เปลี่ยน หรือไม่ และไทยพร้อมแล้วหรือยัง

ผลศึกษาไทยได้มากกว่าเสีย

นายทวีชัย เจริญเศรษฐศิลป์ผู้อำนวยการวิจัยสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา เปิดเผยว่า การเจรจาความตกลงฉบับนี้ครอบคลุมเรื่องการค้าสินค้า บริการ และการลงทุน รวม 16 ประเด็น งานวิจัยพบว่าหากมีการลดภาษีนำเข้าสินค้าทุกรายการระยะยาวจะช่วยให้เศรษฐกิจของไทยขยายตัวได้ถึง 1.28% หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 2.05 แสนล้านบาท การส่งออกจากไทยไปอียูจะสูงขึ้น 2.83% หรือ 2.16 แสนล้านบาท และการนำเข้าจากอียูสูงขึ้น 2.81% หรือ 2.09 แสนล้านบาท สินค้าส่งออกของไทยมีโอกาสขยายตัว เช่น ยานยนต์และชิ้นส่วน อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เสื้อผ้าและสิ่งทอ ผลิตภัณฑ์อาหาร เคมีภัณฑ์ ยาง และพลาสติก

ขณะที่การค้าบริการและการลงทุน จะครอบคลุมทั้ง 4 โหมดของภาคบริการ ซึ่งอียูจะเจรจาเปิดเสรีในสาขาสื่อสาร โทรคมนาคม การเงิน คมนาคมขนส่ง โดยเฉพาะทางทะเลและการจัดส่งพัสดุและไปรษณีย์ ซึ่งเรียกร้องให้มีการปรับปรุงกฎระเบียบเพื่อลดอุปสรรคในการเข้ามาทำธุรกิจในสาขาบริการการเงิน ประกันภัย โทรคมนาคม และบริการวิชาชีพ ตลอดจนขอให้การแข่งขันให้เสมอภาค

ภาคการลงทุนมีแนวโน้มเจรจาปกป้องข้อมูลผู้ใช้พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ให้ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์สามารถใช้เป็นหลักฐานทางกฎหมาย และการรับรองความถูกต้องทางอิเล็กทรอนิกส์ไม่เก็บภาษีศุลกากรจากการส่งผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

ประเด็นทรัพย์สินทางปัญญาจะเจรจาโดยยึดหลักการข้อตกลงด้านทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO) คุ้มครองลิขสิทธิ์หลังเสียชีวิต 50-70 ปี คุ้มครองการออกแบบ 10-15 ปี คุ้มครองพันธุ์พืชตามอนุสัญญา UPOV 1991 ปกป้องข้อมูลทดสอบทางยา 5 ปี ปกป้องข้อมูลทดสอบเคมีเกษตร 5-10 ปี ขยายอายุสิทธิบัตร 2-5 ปี คุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ เป็นต้น

การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ขอให้ประเทศสมาชิกอียูสามารถเข้าร่วมการประมูลจัดซื้อจัดจ้างได้โดยมีเงื่อนไขเดียวกับบริษัทในประเทศ และปรับค่าthreshold ลง 15 ปี เท่ากับระดับสากล เพิ่มความโปร่งใสในกระบวนการประมูล เป็นต้น การคุ้มครองการลงทุน สำหรับนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในไทยต้องมีความยุติธรรมและเท่าเทียม ห้ามเวนคืนการลงทุน และต้องปฏิรูปการระงับข้อพิพาทระหว่างนักลงทุนและรัฐให้เป็นแบบ “ศาลการลงทุน” เป็นต้น การแข่งขันทางการค้าต้องส่งเสริมการแข่งขันที่เป็นธรรม ลดการอุดหนุน หรือผูกขาดให้สิทธิพิเศษหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ เป็นต้น

ประเด็นการค้าและการพัฒนาอย่างยั่งยืนมีแนวโน้มที่จะเจรจา โดยยึดหลักปฏิบัติตามพันธกรณีภายใต้ ILO ข้อตกลงภายใต้ความตกลงสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศ (MEAs) การต่อต้านการทำประมงที่ผิดกฎหมาย IUU การส่งเสริมให้ภาคเอกชนดำเนินการตาม CSR ตามแนวทางทางของกลุ่ม OECD และองค์กรสหประชาชาติ เป็นต้น

ส่วนประเด็นการเจรจาเรื่องเกี่ยวกับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) จัดให้มีกระบวนการทำงานระหว่างภาครัฐทั้ง 2 ฝ่ายเพื่อสนับสนุนเอสเอ็มอี ให้ได้รับประโยชน์ พร้อมทั้งแลกเปลี่ยนข้อมูล สร้างระบบการค้าและสภาพแวดล้อมในการกำกับดูแลที่ง่าย โปร่งใส คาดการณ์ได้พร้อมทั้งจัดให้มีฐานข้อมูลเพื่ออำนวยความสะดวก ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกของเอสเอ็มอีไทยกับอียูปี 2561 เท่ากับ170,342.5 ล้านบาท จากภาพรวมการส่งออก 802,377.4 ล้านบาท และนำเข้า มูลค่า 301,188.3 ล้านบาท จากภาพรวม 723,160 ล้านบาท

หอการค้าไทยหนุนฟื้นเจรจา

นายชูศักดิ์ ชื่นประโยชน์ รองประธานหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยมองว่า หอการค้าสนับสนุนการเจรจา แต่บทเรียนปัญหา “ความพร้อมการเจรจา” ซึ่งต้องผ่านหลายกระบวนการข้อมูล ความคิดเห็นและระยะเวลา แน่นอนว่าภาคอุตสาหกรรมมหภาคได้มากกว่าเสีย ซึ่งผลกระทบทุกครั้งมักตกอยู่ที่ภาคเกษตร และ SMEs ที่ผ่านมาอียูเป็นเสมือนผู้กำหนดมาตรฐานการค้าอาหารทั้งโลก ได้กำหนดมาตรฐานคุณภาพสูงมาก ไทยจะทำอย่างไรให้พัฒนาไปในทิศทางเดียวกัน หอการค้าทำงานหนักมาก เพื่อจะยกระดับมาตรฐานสินค้าซึ่งถือเป็นประเด็นสำคัญมากต่อทุกกรอบเจรจา

ขณะที่ นายชนินทร์ ชริศราพงศ์ นายกอุตสาหกรรมทูน่าไทย เปิดเผยว่าขอสนับสนุนให้ไทยเจรจาทั้งไทย-อียู และไทย-ยูเค เพราะเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ (economic values) โดยมั่นใจว่า Brexit ไม่กระทบ เพราะยังมีความตกลงบรัสเซลส์อยู่แล้วในส่วนของทูน่าคาดว่าผลการเจรจาจะทำให้ยอดส่งออกขยายตัวขึ้นอีก 1 แสนล้านบาท สินค้าที่ได้รับอานิสงส์ไม่ใช่เพียงทูน่า แต่มีทั้งกุ้ง ไก่ ซึ่งมีภาษีเป็นศูนย์ ส่วนการเยียวยาผลกระทบ ควรมีตัวแทนภาคเกษตร ควรมุ่ง “ปฏิรูปภาคเกษตร” ซึ่งเป็นจุดอ่อนมาก ราชการตามเทคโนโลยีไม่ทัน

ช่องโหว่กลไกรัฐ-SMEs

นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ เห็นด้วยว่า “กลไกรัฐ” คือจุดอ่อน เกษตรกรหากจะฟื้นการเจรจาต้องเยียวยาผู้ที่เดือดร้อนที่ผ่านมาเข้าไม่ถึงกองทุน FTA อย่างแท้จริง ส่วนประเด็น UPOV ยังคงเป็นประเด็นอ่อนไหวในการเจรจาเชื่อว่ากลไกรัฐยังฝังปัญหาการผูกขาดเมล็ดพันธุ์ ขณะที่สมาคมผู้เพาะเลี้ยงปลาไทยหวั่นวิตกถึงปัญหาการนำเข้าปลาซาบะ ควรดึงรายการสินค้านี้ออกจากการลดภาษีในการเจรจา

นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช เลขาธิการสมาพันธ์ SME ไทย มองว่า งานวิจัยให้รายละเอียดข้อดีของการเจรจาค่อนข้างมาก แต่ยังไม่เห็นข้อมูลรายคลัสเตอร์ที่ชัดเจนว่าใครคือผู้ครอบครองสินค้านั้น ๆ รวมทั้งการสร้างเศรษฐกิจใหม่ในตลาดโลกในยุคปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงจากโควิด-19 ยังไม่อัพเดตครอบคลุม และยังห่วงเรื่องกลไกรัฐยังไม่แข็งแรงมากพอ โดยเฉพาะการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ รวมถึงกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา ขณะเดียวกันยังต้องเตรียมพร้อมเรื่องมาตรฐานสินค้าเกษตร และการสร้างแบรนด์

นายปิติ ศรีแสงนาม ผู้อำนวยการเศรษฐกิจระหว่างประเทศ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทิ้งท้ายว่า แม้ว่ายุทธศาสตร์การค้า การลงทุนเป็นปัจจัยหลักพัฒนาประเทศ แต่ความพิเศษของการเจรจาการค้าของเพื่อนบ้าน คือ กฎหมายที่เข้มแข็งโดยเฉพาะเวียดนาม ระยะหลังรัฐบาลกล้าปฏิรูปกฎหมายอย่างชัดเจน รวดเร็ว และมีเสถียรภาพดึงดูดนักลงทุน นั่นคือสิ่งที่ไทยต้องเร่งสปีด

 

อ่านเพิ่มเติม