ธนาคารแห่งประเทศไทย มาตรการช่วยเหลือ ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจยุคโควิด

ส่อง “มาตรการช่วยเหลือ-ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจยุคโควิด” จาก ธปท.

อัปเดตล่าสุด 28 ก.ย. 2564
  • Share :
  • 530 Reads   

ดร. เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผย “มาตรการช่วยเหลือและการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจยุคโควิด” ในงานประชุมสามัญประจำปี 2564 ของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท) เมื่อวันจันทร์ที่ 27 กันยายน ที่ผ่านมา 

โดยในงานครั้งนี้ นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้เปิดเวทีบรรยายในหัวข้อ “ความอยู่รอดของธุรกิจภายใต้ COVID-19” ชู 3 กลยุทธ์  Go Online, Go Global, Go Government  คลิกอ่านต่อ  

Advertisement

ภูมิหลังเศรษฐกิจไทย นับจากยุคทองถึงวันนี้

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ถ้าย้อนกลับไปช่วงยุคทองของเศรษฐกิจไทย หรือช่วง 15 ปีก่อนวิกฤตปี 2540 เศรษฐกิจไทยโตเฉลี่ยอยู่ที่ 8% ต่อปี ซึ่งปัจจัยสำคัญที่ขับเคลื่อนการเติบโตในช่วงนั้นก็คือ ภาคอุตสาหกรรม ซึ่ง GDP ภาคอุตสาหกรรมโตเกือบ 10% และสัดส่วนการลงทุนต่อ GDP ของประเทศสูงถึง 34%

“สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยเติบโตลดลงเฉลี่ยไม่ถึง 3% ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมการเติบโตที่ 2% และสัดส่วนการลงทุนต่อ GDP เหลือไม่ถึง 25%” 

ตัวเลขนี้สะท้อนว่า ยุคที่เศรษฐกิจไทยเฟื่องฟูเป็นยุคที่ภาคอุตสาหกรรมเข้มแข็ง ช่วยขับเคลื่อนการลงทุนและเศรษฐกิจ รวมถึงความมั่งคั่งของประชาชน ดูได้จากการเติบโตของค่าจ้างในภาคอุตสาหกรรมในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาที่โต 4% เทียบกับค่าเฉลี่ยของภาพรวมของประเทศที่ 2% แต่ก่อนที่เศรษฐกิจจะกลับไปเข้มแข็งได้จะต้องก้าวผ่านวิกฤตโควิดเสียก่อย

“ต้องยอมรับว่าวิกฤตโควิดเป็นวิกฤตที่หนัก ส่งผลกระทบในวงกว้างและรุนแรง ทั้งต่อภาคธุรกิจและภาคครัวเรือน โดยตัวเลข GDP ติดลบมากที่สุดในรอบ 22 ปี เป็นรองแค่ปี 2541” 

แต่ตัวเลข GDP ก็ยังไม่อาจสะท้อนผลกระทบในวงกว้างที่ภาคธุรกิจและประชาชนต้องเผชิญจากโควิด ซึ่งในรอบนี้ นับได้ว่าเป็นวิกฤตที่ส่งผลกระทบรุนแรงอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน

ผลกระทบจากวิกฤตโควิดต่อภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการ และภาคครัวเรือน

ภาคการผลิตเองก็ได้รับผลกระทบอย่างหนักเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะในช่วงระลอกแรกที่มีการประกาศล็อคดาว์น ทำให้การผลิตในไตรมาส 2 ปี 2563 ต่ำที่สุดในรอบ 10 ปี 

และการระบาดระลอกล่าสุดก็กลับมากระทบการผลิตอีกครั้ง โดยเฉพาะการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ ในขณะที่การผลิตเพื่อส่งออกก็ถูกกระทบจากปัญหาอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตชิปขาดตลาด หรือปัญหาซัพพลายเชน 

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังต้องแบกรับค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น จากการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดในโรงงาน เช่น การทำ Bubble and Seal ที่ทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้น โดยตัวเลขดัชนีราคาผู้ผลิตที่เพิ่มขึ้นสูงถึง 3.5% เทียบกับค่าเฉลี่ย 5 ปีที่ผ่านมาที่ 0.5% ในขณะที่ต้นทุนนี้ยังส่งผ่านไปยังผู้บริโภคไม่มากนักสะท้อนจากราคาฝั่งขายที่ปีนี้เฉลี่ยเพียง 0.7%

ในภาคบริการโดยเฉพาะการท่องเที่ยว เป็นภาคที่ได้รับผลกระทบรุนแรงมาก จากที่ในช่วงก่อนโควิดมีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาประเทศไทยปีละ 40 ล้านคน แต่ล่าสุด นับตั้งแต่มกราคม - กรกฎาคม 2021 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาเพียง 6 หมื่นคนเท่านั้น อีกทั้งผู้ประกอบการโรงแรมถึง 65% มีสภาพคล่องในการทำธุรกิจได้ไม่เกิน 3 เดือน อีกด้วย

นอกจากภาคธุรกิจที่ถูกกระทบหนักแล้ว ภาคครัวเรือนก็ได้รับผลกระทบหนักเช่นกัน โดยมี 2 ส่วนหลัก คือ

1. การจ้างงาน โดยข้อมูลการจ้างงานในไตรมาส 2 ปีนี้ จำนวนผู้ว่างงานและเสมือนว่างงาน (ผู้เสมือนว่างงาน คือ มีงานทำแต่ไม่ถึง 4 ชั่วโมงต่อวัน) รวมกันอยู่ที่ประมาณ 3.5 ล้านคน เทียบกับแรงงานทั้งหมดที่ 39 ล้านคน ถือเป็นสัดส่วนที่ไม่น้อย

2. ผู้ว่างงานเกิน 1 ปี อยู่ที่เกือบ 2 แสนคน เพิ่มขึ้นกว่าช่วงก่อนโควิดถึงกว่า 3 เท่าตัว

นอกจากนี้ ประเทศไทยยังแรงงานย้ายกลับภูมิลำเนาเดิมจากการถูกเลิกจ้าง โดยล่าสุดในเดือนสิงหาคม มีจำนวน 2 ล้านคน สูงกว่าค่าเฉลี่ยที่ผ่านมาซึ่งอยู๋ที่ 5 แสนคน 

มาตรการช่วยเหลือและการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจยุคโควิด

ภายใต้ผลกระทบที่หนักและเป็นวงกว้าง บทบาทสำคัญอย่างแรกของ ธปท. คือ ต้องดูแลให้ระบบการเงินและระบบสถาบันการเงินทำงานได้ตามปกติ หล่อเลี้ยงเศรษฐกิจให้ไปต่อได้ เพราะธนาคารพาณิชย์มีบทบาทสำคัญในการให้สินเชื่อแก่ภาคธุรกิจ 

ปัจจุบัน ไทยก็เป็นประเทศที่พึ่งพาระบบธนาคารพาณิชย์ค่อนข้างสูง เห็นได้จากตัวเลขสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ที่ 14 ล้านล้านบาท เทียบกับสินเชื่อที่มาจากสถาบันการเงินเฉพาะกิจหรือ SFIs ที่ 5 ล้านล้านบาท คิดเป็นเพียงประมาณ 1 ใน 3 ของระบบธนาคารพาณิชย์เท่านั้น

โดยในช่วงหลังมานี้ ภาคเอกชนมีการระดมทุนผ่านการออกตราสารหนี้เพิ่มขึ้น แต่ยอดคงค้างตราสารหนี้ภาคเอกชนอยู่ที่เพียง 3 ล้านล้านบาทเท่านั้น 

Advertisement

ซึ่งในภาวะที่มีความเสี่ยงสูงและเศรษฐกิจที่หดตัวนี้โอกาสที่ธนาคารพาณิชย์ไม่ปล่อยสินเชื่อก็มีสูง ดังนั้น เพื่อไม่ให้ปัญหาลุกลามและแรงไปกว่าเดิม หน้าที่สำคัญของ ธปท. คือ ทำให้ระบบธนาคารพาณิชย์ทำงานได้ต่อเนื่อง 

ที่ผ่านมา ระบบธนาคารพาณิชย์ยังทำงานได้ดีระดับหนึ่ง โดยมีเหตุผล 3 ข้อ ดังนี้ 

1. สินเชื่อโตใกล้เคียงกับก่อนโควิด สะท้อนจากสินเชื่อใหม่ในเดือนกรกฎาคม 2564 ของระบบธนาคารพาณิชย์ ที่โต 4% คิดเป็นเม็ดเงินกว่า 5 แสนล้านบาท ใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิดที่ประมาณ 4% เช่นกัน

2. สินเชื่อยังโตได้ดีแม้ในภาวะวิกฤต โดยปกติแล้ว สินเชื่อจะขยายตัวสูงในช่วงที่ GDP หรือเศรษฐกิจขยายตัวดี แต่สำหรับปีนี้ที่เศรษฐกิจน่าจะโตไม่ถึง 1% ขณะที่ระบบธนาคารพาณิชย์ยังสามารถให้สินเชื่อใหม่ได้ที่ 4% 

3. สินเชื่อไทยเติบโตได้มากกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค แม้ไทยถูกกระทบจากโควิดหนักที่สุดและฟื้นช้ากว่าประเทศอื่น เห็นได้จาก สินเชื่อของไทยที่โต 4% ขณะที่อินโดนีเซียหดตัว 1.7% ฟิลิปปินส์หดตัว 0.9% และสิงคโปร์ขยายตัว 1.4% โดยมีเพียงมาเลเซียที่มีอัตราขยายตัวใกล้เคียงกับไทย

นอกจากเรื่องสินเชื่อใหม่ยังมีเรื่องการดูแลภาระหนี้เดิม ซึ่งธนาคารพาณิชย์ได้ให้ความช่วยเหลือลูกหนี้อย่างต่อเนื่องโดยในเดือนกรกฎาคม 2563 มีลูกหนี่ที่ได้รับการช่วยเหลือกว่ากว่า 6 ล้านบัญชี เป็นยอดหนี้กว่า 4 ล้านล้านบาท 

ตัวเลขนี้ หากเทียบกับสินเชื่อทั้งหมดในระบบธนาคารพาณิชย์ที่ 14 ล้านล้านบาท ถือว่าเป็นสัดส่วนไม่น้อย และในปัจจุบันจำนวนลูกหนี้ทั้งหมดภายใต้มาตรการมีอยู่เกือบ 3 ล้านบัญชี แต่หากเทียบกับปัญหาที่รุนแรงและสะสมมานานจากวิกฤตครั้งนี้ การปล่อยสินเชื่อและช่วยเหลือลูกหนี้โดยกลไกปกติของธนาคารพาณิชย์ แม้จะทำมาได้ดี แต่ก็ยังไม่เพียงพอและไม่ทั่วถึงเท่าที่ควร 

ที่ผ่านมา เราจึงไม่ได้พึ่งพากลไกตลาดเพียงอย่างเดียว แต่มีบทบาทของภาครัฐเข้าไปเสริมในจุดที่ระบบธนาคารพาณิชย์ไม่สามารถทำหน้าที่ได้เต็มที่ เพื่อให้การช่วยเหลือครอบคลุมยิ่งขึ้น 

ธปท. จึงดำเนินนโยบายแบบ countercyclical ที่ในช่วงเศรษฐกิจซบเซา ผ่อนปรนกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ให้เหมาะกับสถานการณ์ในปัจจุบัน ดูแลสภาพคล่องในระบบการเงินและภาวะการเงินให้ผ่อนคลายต่อเนื่อง ไม่เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ รวมทั้งได้ปรับลด FIDF fee ให้กับสถาบันการเงินเพื่อส่งผ่านต้นทุนที่ลดลงนี้ไปช่วยลดภาระต่อให้ลูกหนี้ ทำให้อัตราดอกเบี้ยในตลาด เช่น m-rates ลดลงประมาณ 0.5-0.7% เทียบกับก่อนโควิด 

นอกจากนี้ จุดที่ระบบธนาคารพาณิชย์ยังทำหน้าที่ได้ไม่ดีเท่าที่ควร คือ การช่วยเหลือ SMEs ซึ่งสำหรับสินเชื่อใหม่ถูกเสริมด้วยการออกมาตรการเฉพาะ เช่น พ.ร.ก. สินเชื่อฟื้นฟูฯ เพื่อให้ระบบธนาคารพาณิชย์ให้ความช่วยเหลือ SMEs ได้มากขึ้น โดยใช้การค้ำประกันผ่าน บสย. มาช่วยลดความเสี่ยงได้ส่วนหนึ่ง ซึ่งแม้จะยังไม่เพียงพอ แต่อย่างน้อย เริ่มเห็นสินเชื่อ SMEs ขยายตัวกลับมาเป็นบวกได้ จากเดิมที่ติดลบมาตั้งแต่ช่วงก่อนโควิด โดยล่าสุดในเดือนกรกฎาคม 2564 สินเชื่อ SMEs ขยายตัวเพิ่มขึ้น 1% ซึ่งหากไม่มีผลของมาตรการดังกล่าว สินเชื่อ SMEs จะยังติดลบที่ 1%

นอกจากนี้ ภาครัฐยังใช้กลไก SFIs มาเสริมในการสนับสนุนสภาพคล่องให้กับระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะ SMEs โดยสินเชื่อ SFIs ขยายตัวกว่า 4% ซึ่งมีทั้งโครงการที่ดำเนินการตามมติ ครม. รวมถึงโครงการที่ SFIs ดำเนินการเองที่ปล่อยเม็ดเงินไปแล้วอีกกว่า 3 แสนล้านบาท

และในจุดที่มาตรการ ธปท. ไม่สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย เราก็ได้ปรับวิธีการเพิ่มเติม ด้วยการเข้าไปรับฟังความเห็นจากผู้ประกอบธุรกิจรวมถึงสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และเป็นตัวกลางในการประสานความช่วยเหลือระหว่างภาคธุรกิจและธนาคารพาณิชย์ในการสนับสนุนสินเชื่อฟื้นฟู  และประสานกับ SFIs ในส่วนของสินเชื่อโครงการรัฐ

กับคำถามที่ว่า “ทั้งหมดนี้...เพียงพอต่อความต้องการของทุกคนแล้วหรือไม่?” 

อย่างไรก็ตาม ดร.เศรษฐพุฒิยอมรับว่า ที่ดำเนินการไปทั้งหมดนี้ไม่ได้หมายความว่าเพียงพอ เราทำพอแล้ว โดย ธปท. ยังพร้อมออกหรือปรับมาตรการเพิ่มเติม เช่น พ.ร.ก. Soft loan ที่ออกมาเพื่อแก้ปัญหาในช่วงระบาดระลอกแรก แต่เมื่อพบข้อจำกัด จึงได้ออกมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูเพิ่มเติม ซึ่งสามารถให้สภาพคล่องแก่ธุรกิจ SMEs ได้เกิน 100,000 ล้านบาท ภายใน 4 เดือน เร็วกว่าที่ตั้งเป้าไว้ที่ 6 เดือน

นอกจากปรับเรื่องสินเชื่อใหม่ มาตรการดูแลหนี้เดิมก็มีออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยการฟื้นตัวของภาคเศรษฐกิจที่แตกต่างกันและยืดเยื้อ ทำให้มาตรการในรูปแบบที่เป็นการพักหนี้หรือปรับโครงสร้างหนี้ระยะสั้น ๆ ไม่ตอบโจทย์และไม่เอื้อให้เกิดการปรับตัว ดังนั้น ธปท. จึงได้ออกมาตรการแก้หนี้ระยะยาว 3 กันยายน เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์ช่วยเหลือลูกหนี้ด้วยการปรับโครงสร้างหนี้ระยะยาว

อย่างไรก็ตาม ยังจะมีคำถามว่าทั้งหมดนี้เพียงพอต่อที่ทุกคนต้องการแล้วหรือไม่ ดร.เศรษฐพุฒิยอมรับว่าไม่ได้ทั้งหมด เนื่องจากวิกฤตในครั้งนี้รุนแรง ต้องจัดสรรทรัพยากรของประเทศที่มีจำกัดไปช่วยกลุ่มที่ได้รับผลกระทบหนัก แต่มีโอกาสที่จะพลิกฟื้นและกลับมาดำเนินธุรกิจต่อไปได้ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดสำหรับการฟื้นฟูเศรษฐกิจก่อน 

ในทางกลับกัน หากจัดสรรทรัพยากรไปใช้อย่างไม่ถูกจุด ผู้เดือดร้อนหนักอาจไม่ได้รับความช่วยเหลือเพียงพอ และอาจส่งผลให้กลไกของระบบธนาคารพาณิชยไม่สามารถดำเนินการได้ตามปกติ ซึ่งอาจทำให้เกิดการเรียกหนี้คืนจากธนาคารพาณิชย์ หรือการขายลูกหนี้หรือทรัพย์ออกไปนอกธนาคารพาณิชย์เหมือนครั้งปี  2540 

“อย่างไรก็ดี แม้การดูแลช่วยเหลือลูกหนี้จะไม่ได้ทำให้ลูกหนี้รอดทุกคน แต่สิ่งที่เราอยากเห็น คือ การทำให้ลูกหนี้รอดมากที่สุด”

ชู “สองกระแสโลกใหม่”

ส่วนสุดท้าย คือการปรับตัวที่จำเป็นต่อการวางรากฐานในอนาคตให้เศรษฐกิจไทยและธุรกิจไทยเติบโตอย่างยั่งยืน โดยในอนาคตมีหลายเรื่องที่เป็นกระแสใหม่ แต่จะมีอย่างน้อย 2 กระแสที่มาแรง  คือ

1. ดิจิทัล (Digital) ที่ผ่านมา การใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ อาทิ การใช้ digital footprint ในการทำธุรกิจเริ่มแพร่หลายมากขึ้น มีนวัตกรรมใหม่ ๆ รวมถึงมีผู้เล่นรายใหม่ที่เข้ามามีบทบาทในเรื่องของดิจิทัลมากขึ้น ซึ่งการเตรียมความพร้อมในการรองรับกระแสดิจิทัลนี้เป็นโจทย์สำคัญกับทุกภาคส่วน

2. ESG (Environmental, Social, and Governance) โดยเฉพาะเรื่องสิ่งแวดล้อม ที่คาดว่าจะส่งผลกระทบเร็วและแรงกว่าที่คาด ไม่ใช่แค่เฉพาะเรื่องภาวะโลกร้อนที่ทำให้เกิดภัยแล้งหรือน้ำท่วม แต่จะรวมถึงผลกระทบต่อภาคธุรกิจจากการออกนโยบายต่าง ๆ เพื่อบรรเทาปัญหาเกี่ยวกับภาวะโลกร้อนของประเทศพัฒนาแล้ว ตัวอย่างที่ชัดที่สุด คือ กรณีที่สหภาพยุโรปได้ออก European Green Deal ซึ่งจะมีการบังคับใช้ Carbon Border Adjustment Mechanism หรือ CBAM ซึ่งจะคล้ายกับภาษีที่จัดเก็บตาม carbon footprint ของสินค้าต่าง ๆ ถ้าเราไม่ปรับตัว เช่น สินค้าส่งออกยังมี carbon footprint มาก ประเทศไทยก็จะได้รับผลกระทบมากเช่นกัน 

สำหรับภาคธุรกิจ การวางแผนทางการเงิน การบริหารความเสี่ยง การดำเนินกิจการ หรือการลงทุนใหม่ จะต้องให้น้ำหนักมากขึ้นกับกระแสโลกใหม่ ทั้งการให้ความสำคัญกับมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง และกระแสเรื่องดิจิทัลที่จะทำให้ธุรกิจต้องแข่งขันกันมากขึ้น 

ส่วนประชาชน ต้องเตรียมรับความไม่แน่นอนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เร่งวางแผนทางการเงิน จัดเตรียมเงินสำรอง รวมไปถึงการให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ทางการเงินมากขึ้น ขณะเดียวกัน ต้องเพิ่มความสำคัญกับการเท่าทันกับกระแสดิจิทัล เพราะนอกจากจะเป็นทักษะที่จำเป็นสำหรับงานในโลกใหม่แล้ว ยังช่วยป้องกันการหลอกลวงในรูปแบบต่าง ๆ ที่อาจมีเพิ่มขึ้นได้

ภาครัฐเองต้องปรับตัว ปรับปรุงกฎระเบียบให้เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจของเอกชนมากขึ้น และในการแก้ปัญหาวิกฤตโควิดนี้ ภาครัฐได้ดำเนินนโยบายเยียวยาและกระตุ้นเศรษฐกิจเช่นกัน ซึ่งต้องขอบคุณภาครัฐ ที่ล่าสุดได้ขยายเพดานหนี้สาธารณะให้สูงขึ้นเป็น 70% แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจที่จะดูแลสถานการณ์ให้ได้มากขึ้นและต่อเนื่อง แต่ก็ต้องใส่ใจกับการใช้งบประมาณที่เพิ่มขึ้น ให้มีประสิทธิภาพและโปร่งใส เพื่อให้เศรษฐกิจกลับไปเติบโตได้อย่างยั่งยืน

ดร.เศรษฐพุฒิแสดงความเห็นว่า ประเทศไทยเคยผ่านวิกฤตที่หนักหน่วงมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตปี 2540 วิกฤตการเงินโลกปี 2551 วิกฤตน้ำท่วมปี 2554 และมาถึงวิกฤตรอบนี้ที่หนักกว่ารอบก่อน ๆ แต่ภาคอุตสาหกรรมไทยจะผ่านพ้นไปได้อีกครั้ง เพราะมีความเข้มแข็ง สามารถปรับตัวได้เร็ว เห็นได้จากปีที่แล้ว ในช่วง lockdown ที่ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมลดลงจากระดับก่อนโควิดถึง 20% แต่สามารถฟื้นกลับมาได้ใน 4 ไตรมาส เช่นเดียวกับช่วงน้ำท่วมปี 2554 ที่ดัชนีฯ ลดลงถึงเกือบ 30% แต่สามารถฟื้นกลับมาได้ภายใน 2 ไตรมาส

“ผมเชื่อว่า ท้ายที่สุดเราจะผ่านพ้นจากวิกฤตนี้ไปได้ หากเราจะพ้นจากวิกฤตนี้ในแบบที่ให้คนรอดมากที่สุด ลดแผลเป็นให้เหลือน้อยที่สุด สิ่งสำคัญไม่ใช่เพียงแค่แต่ละภาคส่วนทำหน้าที่ของตนอย่างดีที่สุดเท่านั้น แต่ต้องเข้าใจในบทบาทและข้อจำกัดของกันและกัน เพื่อไม่ให้เกิด “เส้นแบ่ง” ในปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เป็นของลูกหนี้หรือเจ้าหนี้ ลูกจ้างหรือนายจ้าง รายเล็กหรือรายใหญ่”

 

#ธนาคารแห่งประเทศไทย #ธปท #เศรษฐกิจไทย #GDP Thailand #มาตรการช่วยเหลือและการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจยุคโควิด #มาตรการช่วยเหลือ โควิด #โครงสร้างเศรษฐกิจ โควิด #ผลกระทบ COVID-19 ต่อธุรกิจ #สินเชื่อ ผู้ประกอบการ #สินเชื่อ sme #มาตรการสิ่งแวดล้อม #ปัญหาซัพพลายเชน #วิกฤตชิปขาดตลาด #M Report #mreportth #ข่าวอุตสาหกรรม #Mreport #วงในอุตสาหกรรม #เอ็ม รีพอร์ต #เอ็มรีพอร์ต

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH