แนวโน้มอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 2018

อัปเดตล่าสุด 19 ก.ค. 2561
  • Share :
  • 514 Reads   

ปี 2018 คาดส่งออกอุตฯ ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์โตกว่า 6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ 4 เดือนแรกตลาดอาเซียนมีมูลค่าสูงสุด กังวล พ.ร.บ. การจัดซื้อจัดจ้างฯ ภาครัฐ  2560

นางกนิษฐ  เมืองกระจ่าง ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และโทรคมนาคม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และโทรคมนาคม (E&E) ยังคงเป็นอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าการส่งออกเป็นอันดับ 1 ของประเทศ คิดเป็นร้อยละ 25 มูลค่ากว่า 1.9 ล้านล้านบาท และยังเป็นอุตสาหกรรมต้นกำเนิดของนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัย อันจะนำพาประเทศชาติไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยีและการผลิตไปสู่ยุค 4.0 ตามนโยบายการขับเคลื่อนของภาครัฐ

สำหรับในปี 2018 คาดว่าการส่งออกอุตสาหกรรม E&E จะเติบโตถึง 5% หรือคิดเป็นมูลค่าการส่งออก 63,475 ล้านเหรียญสหรัฐ แบ่งเป็นมูลค่าส่งออกอิเล็กทรอนิกส์เติบโต 7% (39,061 ล้านเหรียญสหรัฐ) และมูลค่าส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าเติบโต 3% (24,415 ล้านเหรียญสหรัฐ)   

ในรอบ 4 เดือนแรกตลาดส่งออกที่สำคัญและมีมูลค่าส่งออกสูง ได้แก่ ตลาดอาเซียน คิดเป็นร้อยละ 19   รองลงมา คือ ตลาดสหรัฐอเมริกา คิดเป็นร้อยละ 17 และตลาดสหภาพยุโรป คิดเป็นร้อยละ 15 ตามลำดับ
สินค้าที่ส่งออกสูงสุดในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ ยังคงเป็นประเภทส่วนประกอบและอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ซึ่งในช่วง 4 เดือนแรกยอดส่งออกสูงถึง 5,037 ล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะที่กลุ่มสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ส่งออกสูงสุด ได้แก่ อุปกรณ์ด้านไฟฟ้ากำลัง ซึ่งมีมูลค่าส่งออกสูงถึง 2,051 ล้านเหรียญสหรัฐ รองลงมา ได้แก่เครื่องปรับอากาศ มีมูลค่าส่งออกสูงถึง 1,825 ล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะที่มูลค่าตลาดของสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศ มีมูลค่าประมาณ 500,000 ล้านบาท 

ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม ได้แก่ การผลิตที่ต้องปรับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปสู่ Smart Electronics รูปแบบการดำเนินธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงจากผู้ผลิตไปเป็น Trader / Distributor / Importer  เนื่องจากภาษีศุลกากรลดลงเหลือ 0 จากกรอบความตกลง FTA ต่างๆ และมาตรการนโยบายด้านการค้าที่อาจเปลี่ยนแปลงไปของประเทศคู่ค้าที่สำคัญและปัจจัยอื่นๆ อาทิ ราคาน้ำมันที่ผันผวน
 
สำหรับประเด็นปัญหาสำคัญที่กลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าฯ กำลังติดตามอย่างใกล้ชิด ได้แก่ ปัญหาที่เกี่ยวเนื่องจาก พ.ร.บ. การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 มีประเด็นเรื่องการตีความกฎหมายที่ยังไม่ชัดเจน ส่งผลให้หน่วยงานภาครัฐและรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้องชะลอการจัดซื้อสินค้า ซึ่งจะกระทบต่อผู้ผลิตในประเทศและเศรษฐกิจโดยรวม อีกทั้งประเด็นจาก ร่าง พ.ร.บ. การจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ ..... โดยร่าง พ.ร.บ. ฉบับล่าสุด (34 มาตรา) ยังขาดความชัดเจนในหลายประเด็น ซึ่งจะส่งผลให้มีปัญหาในทางปฏิบัติ จึงขอความอนุเคราะห์ให้หน่วยงาน   ที่เกี่ยวข้องพิจารณา และมองถึงแนวทางการนำไปปฏิบัติซึ่งต้องพิจารณาอย่างรอบด้าน