อีอีซี โรดโชว์ ญี่ปุ่น ชวนขยายการลงทุน อีอีซี

อัปเดตล่าสุด 6 ก.ค. 2561
  • Share :
  • 510 Reads   

ดร. คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เดินหน้าขับเคลื่อนการดึงดูดนักลงทุนโดยจัดงาน Roadshow “Eastern Economic Corridor (EEC): Thailand 4.0 in Action” ณ Keidanren Hall กรุงโตเกียว ตามแผนการดำเนินงานที่วางไว้ เพื่อผลักดันให้เกิดการลงทุนจากนักลงทุนญี่ปุ่นที่มีศักยภาพในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) อย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็ว โดยได้รับความร่วมมือสนับสนุนจากธนาคาร Mizuho ประเทศญี่ปุ่น ตามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ที่ได้ลงนามร่วมกันไปแล้วก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2561 พร้อมด้วยหลายหน่วยงานสำคัญได้แก่ สถานเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงโตเกียว สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) หน่วยงานเศรษฐกิจภาครัฐและภาคเอกชนของญี่ปุ่น เช่น องค์การส่งเสริมการค้าของญี่ปุ่น (JETRO)

ในการนี้ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ได้นำเสนอแผนการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โครงการลงทุนสำคัญของ EEC และสิทธิประโยชน์การลงทุน ให้กับผู้บริหารบริษัทชั้นนำญี่ปุ่นกว่า 230 คน พร้อมทั้งเชิญชวนนักลงทุนให้ขยายการลงทุนมายังพื้นที่ EEC โดยกล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศญี่ปุ่นและประเทศไทยที่มีมายาวนานโดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ EEC ที่ต้อนรับนักลงทุนญี่ปุ่นมากกว่า 30 ปี พร้อมนี้ได้ให้ความมั่นใจว่ารัฐบาลของนายกรัฐมนตรี (พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา) มีความตั้งใจที่ขับเคลื่อนการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกอย่างจริงจัง มีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อมรับการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมรวมถึงการสร้างเมืองให้เป็นเมืองเชิงนิเวศ (Eco-cities) ที่น่าอยู่ พร้อมทั้งปรับปรุงกฎระเบียบเพื่ออำนวยความสะดวกต่อการลงทุนและการดำเนินธุรกิจด้วย โดย สกพอ. ได้ดำเนินการให้สิทธิประโยชน์การลงทุนให้กับนักลงทุนญี่ปุ่นที่จะลงทุนในพื้นที่ EEC เพื่อให้นักลงทุนญี่ปุ่นมั่นใจว่าจะได้รับการดูแลเป็นอย่างดี

ทั้งนี้ ธนาคาร Mizuho มีบทบาทสำคัญให้การสนับสนุนการเป็นที่ปรึกษาทางการเงินให้กับนักลงทุนญี่ปุ่นที่สนใจจะลงทุนในพื้นที่ EEC โดยอาศัยความพร้อมทางด้านเงินทุนและการมีเครือข่ายระดับโลก รวมถึงประสบการณ์การเป็นที่ปรึกษาทางการเงินให้กับธุรกิจข้ามชาติมาแล้วทั่วโลก

การจัดกิจกรรมชักชวนนักลงทุนของ สกพอ. ในครั้งนี้ มุ่งเน้นการดึงดูดนักลงทุนญี่ปุ่นที่มีศักยภาพ ครอบคลุม 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งกรุงโตเกียวเป็นศูนย์รวมบริษัทชั้นนำของญี่ปุ่นที่มีความก้าวหน้า
ด้านเทคโนโลยีสมัยใหม่จำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสาขาหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ (Robotics and Smart automation) สาขาการแพทย์สมัยใหม่ (New Regenerative medicine) สาขาการขนส่งและโลจิสติกส์ (Logistics) เป็นต้น นอกจากนี้ คณะฯ จะมีการพบปะกับบริษัทญี่ปุ่นชั้นนำหลายบริษัทเพื่อสานต่อการเจรจาที่ดำเนินการอยู่ อาทิ บริษัท Nachi Fujikoshi ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำด้านอุตสาหกรรมเครื่องจักรและหุ่นยนต์ของญี่ปุ่น