"วอเตอร์ฟุตพรินต์" มาตรฐานการใช้น้ำภาคอุตสาหกรรม ลดข้อจำกัดทางการค้า

อัปเดตล่าสุด 4 ม.ค. 2561
  • Share :
  • 589 Reads   

จากปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคที่เกิดขึ้นทั่วโลก ทำให้ประเทศต่าง ๆ ให้ความสนใจในการอนุรักษ์ และพัฒนาประสิทธิภาพในการใช้น้ำมากขึ้น โดยเฉพาะน้ำที่ใช้ในกระบวนการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมและสินค้าเกษตรกรรม เพื่อสนับสนุน ส่งเสริม และสร้างความตระหนักในการใช้น้ำในกระบวนการผลิต องค์การมาตรฐานสากล (Organization for Standardization) จึงได้ประกาศใช้มาตรฐาน ISO 14046 หรือ Water footprint ขึ้น

วันนี้ Water footprint จะยังไม่ได้เป็นมาตรฐานบังคับให้ผู้ผลิตเพื่อการส่งออกต้องดำเนินการ แต่มีความเป็นไปได้ว่า จากปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นกับแหล่งน้ำต่าง ๆ ทั่วโลก จะกดดันให้มีการประกาศให้ Water footprint เป็นมาตรฐานบังคับ เพื่อให้ประเทศที่มีมาตรฐานการผลิตที่ต่ำกว่าต้องดำเนินการ

ดร.อรัญญา เฟื่องสวัสดิ์ รองอธิบดีกรม-ทรัพยากรน้ำบาดาล และรักษาราชการแทนอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศ-ไทยถูกจัดเป็น 1 ใน 10 ของประเทศที่ใช้น้ำค่อนข้างมาก โดยเฉพาะการใช้น้ำในภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรเพื่อการส่งออก  ในขณะที่แหล่งน้ำในประเทศไทยทั้งน้ำผิวดิน และน้ำใต้ดินมีอยู่อย่างจำกัด  ดังนั้นจึงควรหันมาให้ความสนใจการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ Water footprint เป็นแนวทางหนึ่งในการดำเนินการ ซึ่งจะเป็นตัวชี้วัดและประเมินการใช้น้ำในแต่ละกิจกรรมการผลิต ทั้งน้ำผิวดิน น้ำใต้ดิน ความชื้นที่มีอยู่ในดิน รวมถึงปริมาณน้ำเสียที่เกิดขึ้นจากกระบวนการผลิต โดยเริ่มตั้งแต่กระบวนการผลิตไปจนกระทั่งสินค้าถึงมือผู้บริโภค Water footprint จึงเป็นตัวชี้วัดถึงประสิทธิภาพในการใช้น้ำทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งสามารถนำมาประเมินผลกระทบที่เกิดจากการผลิตและการค้าต่อการใช้ทรัพยากรน้ำได้อีกด้วย 

เพื่อเป็นการขยายผล ส่งเสริม สนับสนุนการบริหารจัดการน้ำบาดาลในภาคอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน กรมทรัพยากรน้ำบาดาลโดยกองทุนพัฒนาน้ำบาดาล จึงได้สนับสนุนงบประมาณให้สถาบันน้ำเพื่อความ-ยั่งยืน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ดำเนินโครงการประเมินการใช้น้ำบาดาลตลอดวัฏจักรชีวิตผลิตภัณฑ์ หรือ Water footprint เพื่อส่งเสริม สนับสนุนให้สถานประกอบการอุตสาหกรรมให้สามารถประเมินการใช้น้ำในการผลิตในกระบวนการผลิตในอุตสาหกรรมแต่ละประเภท เพราะโรงงานอุตสาหกรรมบางแห่งอาจจะใช้น้ำบาดาล หรือน้ำผิวดิน (น้ำประปา) บางแห่งก็อาจจะใช้ทั้งสองอย่างควบคู่กันไป การนำ Water footprint มาใช้ในกระบวนการผลิต นอกจากจะทำให้มีการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ยังจะช่วยลดปริมาณการใช้น้ำในภาคอุตสาหกรรมได้ เป็นการอนุรักษ์แหล่งน้ำบาดาลให้เกิดความยั่งยืน

นายสมชาย  หวังวัฒนาพานิช ประธานคณะกรรมการสถาบันน้ำเพื่อความยั่งยืน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า โครงการนี้เป็นสิ่งสำคัญมากในการทำธุรกิจในปัจจุบันเสมือนหนึ่งเป็นใบเบิกทางให้ผู้ประกอบการให้สามารถทำธุรกิจและแข่งขันได้ในกรณีที่ถูกเงื่อนไขการกีดกันทางการค้า ประสิทธิภาพจากการใช้ทรัพยากรต่าง ๆ จะทำให้ผู้ประกอบการสามารถลดต้นทุน สามารถแข่งขันและอยู่ในตลาดโลกได้ และผลจากการดำเนินงานในครั้งนี้ก็จะทำให้ประสิทธิภาพของภาคอุตสาหกรรมดีขึ้น

สำหรับผู้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการ Water footprint สามารถดาวน์โหลดรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://goo.gl/JiV62s หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สถาบันน้ำเพื่อความยั่งยืน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โทรศัพท 02 345 1184