ตั้ง 3 นิคมฯเขตส่งเสริม EEC “มาบตาพุด-อมตะ-WHA” รับสิทธิ์ BOI

อัปเดตล่าสุด 4 ธ.ค. 2560
  • Share :
  • 464 Reads   

3 นิคมอุตสาหกรรม “มาบตาพุด-อมตะฯ-เหมราชฯ” ลอยลำได้สิทธิ “เขตส่งเสริมเพื่อกิจการอุตสาหกรรมเป้าหมาย” ใน EEC “นิคมฯโรจนะ” จ่อยื่นขอเป็นรายต่อไป กรศ. จ่อประกาศ

อุตฯเป้าหมายลงทุน

นาย วีรพงษ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กรศ.) เตรียมประกาศพื้นที่ 3 แห่ง เป็นเขตส่งเสริมเพื่อกิจการอุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ 1.นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด (สมาร์ทพาร์ก) จ.ระยอง เนื้อที่ 1,400 ไร่ 2.นิคมอุตสาหกรรมอมตะนครเฟส 2 จ.ชลบุรี เนื้อที่ 8,000 ไร่ 3.นิคมอุตสาหกรรมเหมราชอีสเทิร์นซีบอร์ด แห่งที่ 4 จ.ระยอง เนื้อที่ 1,900 ไร่ และเขตประกอบการ/สวนอุตสาหกรรมโรจนะ อีกรายที่อยู่ระหว่างเตรียมเสนอให้ทาง กรศ.พิจารณาเพื่ออนุมัติประกาศให้เป็นพื้นที่เขตส่งเสริมเช่นกัน ซึ่งทั้งหมดอยู่ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

ซึ่งในพื้นที่ดังกล่าวผู้ดำเนินการนิคมฯ แต่ละแห่งจะกำหนดว่าจะสนับสนุนให้อุตสาหกรรมใดได้รับสิทธิประโยชน์จากการลงทุน เช่น นิคมอุตสาหกรรมเหมราชฯ ดำเนินการโดยบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA ต้องการกำหนดให้พื้นที่เป้าหมายใช้สำหรับการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ อากาศยาน และหุ่นยนต์/ระบบอัตโนมัติ

จะได้สิทธิประโยชน์จากสำนักงาน คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% เพิ่มเติมอีก 5 ปี หลังสิ้นสุดระยะเวลายกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามเกณฑ์ปกติ โดยมีเงื่อนไขต้องเป็น 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-curve) และร่วมกับสถาบันการศึกษา สถาบันวิจัย ฝึกอบรมบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสัดส่วน 10% ของจำนวนพนักงานนั้น ๆ หรือขั้นต่ำ 50 คน เวลา 1 ปี

“บอร์ดบีโอไอให้สิทธิประโยชน์กับพื้นที่เขตส่งเสริมเพื่อกิจการอุตสาหกรรมเป้าหมายไปแล้ว เหลือแต่รอการประกาศจาก กรศ. เพราะเอกชนกำลังยื่นเสนอ จากนั้นจะกำหนดว่าแต่ละแห่งจะเน้นให้ลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายอะไรบ้างจึงจะได้สิทธิจากบีโอไอ”

สำหรับพื้นที่ที่ กนอ.อยู่ระหว่างการพัฒนาใน EEC ยังคงมีพื้นที่ที่จะพัฒนาให้เป็นเขตส่งเสริมพิเศษเพื่อกิจการอุตสาหกรรมเป้าหมายในปี 2560-2563 กว่า 30,000 ไร่ เช่น นิคมอุตสาหกรรมปิ่นทองเฟส 4 และเฟส 5 เนื้อที่ 1,500 ไร่ ส่งผลให้ปี 2560 นี้มีพื้นที่สำหรับให้นักลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายประมาณ 4,000 ไร่

ส่วนพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม 54 แห่งในพื้นที่ 15 จังหวัด (ไม่อยู่ใน EEC) ได้รับสิทธิประโยชน์จากบีโอไอเช่นกัน สำหรับกิจการที่อยู่ในกลุ่ม A1 A2 ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุด 8 ปี สำหรับกลุ่ม A3 A4 ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่ม 1 ปี (แต่ไม่เกิน 8 ปี) ลดหย่อนอากรขาเข้าเครื่องจักร วัตถุดิบเพื่อใช้ในประเทศและส่งออก ให้หักค่าขนส่ง ค่าไฟฟ้า และค่าน้ำประปา เป็น 2 เท่า เป็นต้น โดยมีเงื่อนไขต้องเป็นไปตามประเภทกิจการที่บีโอไอประกาศส่งเสริมเท่านั้น

นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า สำหรับมาตรการสำหรับพื้นที่ EEC จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 มกราคม 2561 ถึง 30 ธันวาคม 2562 ซึ่งการให้สิทธิประโยชน์แต่ละพื้นที่จะพิจารณาจากกิจการที่อยู่ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-curve) เป็นสำคัญ ดังนี้ เขตส่งเสริมเพื่อกิจการพิเศษ ที่ผ่านการพิจารณาและประกาศจาก กรศ. คือ เมืองการบินภาคตะวันออก (สนามบินอู่ตะเภา) เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (EECd)ได้ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติม 2 ปี จากเกณฑ์ปกติตามประเภทอุตสาหกรรมเป้าหมาย (สูงสุดไม่เกิน 13 ปี) ลดหย่อน 50% เวลา 5 ปี โดยมีเงื่อนไขต้องเป็นอุตสาหกรรมที่กำหนดให้ตรงกับพื้นที่เท่านั้น คืออุตสาหกรรมอากาศยาน ดิจิทัล งานด้านการวิจัย และร่วมกับสถาบันการศึกษา สถาบันวิจัย ฝึกอบรมบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สัดส่วน 10% ของจำนวนพนักงานนั้น ๆ หรือขั้นต่ำ 50 คน เวลา 1 ปีนิคมอุตสาหกรรมทั่วไป/เขตอุตสาหกรรม ใน EEC 30 แห่ง ซึ่งเปิดดำเนินการแล้ว 22 แห่ง อยู่ระหว่างการพัฒนา 8 แห่ง ได้ลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% เพิ่มเติมอีก 3 ปี หลังสิ้นสุดระยะเวลายกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามเกณฑ์ปกติ โดยมีเงื่อนไขเป็น 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย และร่วมกับสถาบันการศึกษา สถาบันวิจัย ฝึกอบรมบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสัดส่วน 5% ของจำนวนพนักงานนั้น ๆ หรือขั้นต่ำ 25 คน เวลา 1 ปี