เลขาฯใหม่ BOI ระดมปรับมาตรการเก่าใหม่ เตรียมเสนอบอร์ดต่อสิทธิประโยชน์ลงทุนในอีอีซี

อัปเดตล่าสุด 17 ต.ค. 2560
  • Share :
  • 345 Reads   

นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า ภารกิจหลักหลังเข้ามารับตำแหน่งใหม่ด้วยการสานต่อนโยบายส่งเสริมการลงทุนเดิม ออกมาตรการใหม่ และเพิ่มงานบริการ โดยนโยบายเดิมคือการเน้นไปยัง “มาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต” มาใช้ในภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น จึงได้ขยายระยะเวลาไปอีก 3 ปี (2563) จากเดิมสิ้นสุดยื่นขอรับการลงทุน 31 ธ.ค.2560 ซึ่งมาตรการดังกล่าวมี 3 ส่วนหลัก คือ 1.เพื่อการประหยัดพลังงานหรือการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม 2.เพื่อการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต 3.เพื่อการวิจัยพัฒนาและออกแบบทางวิศวกรรมเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต จากรายงานสถิติพบว่ามียอดขอรับส่งเสริมการลงทุน 6 เดือน (ม.ค.-มิ.ย.2560) 36 โครงการ เงินลงทุน 5,338 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นกิจการผลิตพลังงานไฟฟ้า กิจการยางล้อ เป็นต้น

สำหรับนโยบายใหม่ บีโอไอเริ่มทำการทบทวนและปรับปรุงมาตรการเดิมที่มีอยู่แล้ว โดยจะนำ “สิทธิประโยชน์เพิ่มเติมตามมูลค่าของโครงการ” (Merit –based Incentives) ในส่วนของ “การพัฒนาบุคลากร” ขึ้นมาประกาศเป็นมาตรการเป้าหมายที่จะสนับสนุนเป็นหลักในปีนี้ เพื่อจูงใจและกระตุ้นให้มีการลงทุนหรือใช้จ่ายในกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศหรืออุตสาหกรรมโดยรวมมากขึ้น ในกรณีที่ได้ลงทุนหรือมีค่าใช้จ่ายในกรณีต่างๆ เพื่อพัฒนาความสามารถในการแข่งขันให้นับรวมเงินลงทุนหรือค่าใช้จ่าย

เช่น ผู้ประกอบการได้รับสิทธิประโยชน์เพียง 5 ปีตามประเภทกิจการ แต่ต้องการสิทธิประโยชน์เพิ่มก็สามารถยื่นขอรับส่งเสริมภายใต้ สิทธิประโยชน์เพิ่มเติมตามมูลค่าของโครงการ ประกอบด้วย การสนับสนุนกองทุนพัฒนาเทคโนโลยีและบุคลากร สถาบันการศึกษา ศูนย์ฝึกอบรมเฉพาะทาง สถาบันวิจัย หน่วยงานรัฐด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งจะได้ตามสัดส่วนการลงทุนหรือค่าใช้จ่าย คือ เงินลงทุน/ค่าใช้จ่าย 1% หรือไม่น้อยกว่า 200 ล้านบาท จะได้รับระยะเวลายกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติม 1 ปี (รวมเป็น 6 ปี), เงินลงทุน/ค่าใช้จ่าย 2% หรือไม่น้อยกว่า 400 ล้านบาท ได้รับระยะเวลายกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติม 2 ปี(รวมเป็น 7ปี), เงินลงทุน/ค่าใช้จ่าย 3% หรือไม่น้อยกว่า 600 ล้านบาท ได้รับระยะเวลายกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติม 3 ปี (รวมเป็น 8 ปี) ทั้งนี้สูงสุด 8 ปี บางกิจการสูงสุด 13 ปี ซึ่งทั้งหมดจะได้ขยายพร้อมวงเงินเพิ่มเติมเช่นกัน 100% ของเงินลงทุน/ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น (ไม่แค็ปวงเงิน)

“เรื่องการพัฒนาคนเราให้สิทธิประโยชน์อยู่แล้วประกาศมาตั้งแต่ปี 2558 และด้วยรัฐมีเป้าหมายเรื่องคนเป็นสำคัญ เราต้องเข้าไปสนับสนุนในทุกอุตสาหกรรม ปีนี้จึงต้องนำเรื่องนี้มาดึงดูดมาใช้พัฒนาให้เอกชนรับรู้ หรืออย่างการปรับประเภทกิจการมาตรการไหนที่สำคัญเราต้องหยิบกลับมาดู เช่น ประเภทกิจการสถานฝึกอบวิชาชีพเราก็ปรับขยายเป็นสถานศึกษา/มหาวิทยาลัย เมื่อมันกว้างการกำหนดให้สิทธิประโยชน์กับนักลงทุนก็ชัดขึ้นไปด้วย”

ขณะเดียวกันเตรียมเสนอที่ประชุมคณะกรรมการบอร์ดบีโอไอเดือน พ.ย. พิจารณาต่อมาตรการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ พัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(EEC) ที่จะสิ้นสุดการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนวันที่ 31 ธ.ค.2560 นี้ รวมถึงพิจารณาประเภทกิจการภาคบริการจากการเกษตร หรือเมืองนวัตกรรมอาหาร (Food Valley) เติมเข้าไปในบางมาตรการให้ครบเพื่อยกระดับภาคการเกษตร แต่อย่างไรก็ตามบางมาตรการแม้กำลังจะสิ้นสุดแต่อาจไม่มีการต่อให้ เช่น มาตรการส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้า (EV) เนื่องจากรายที่สนใจลงทุนจริง ๆ ก็ได้ยื่นขอมาแล้ว ดังนั้นรายที่ตั้งใจจะลงทุนจริง ๆ ก็ต้องรีบตัดสินใจ

ส่วนภารกิจเพิ่มคือบีโอไอต้องไปสู่การบริการมากขึ้น อย่างการให้บริการขออนุญาตขอผู้เชี่ยวชาญต่างชาติเข้าทำงานในประเทศไทย ด้วยระบบ E-Service หรือศูนย์บุคลากรทักษะสูง (Strategic Talent Center :STC) เพื่อให้บริการ แนะนำ รับรอง อำนวยความสะดวกเรื่องวีซ่าและใบอนุญาตทำงานสำหรับผู้เชี่ยวชาญ รวมทั้งปรับบทบาท หน่วยพัฒนาการเชื่อมโยงอุตสาหกรรม (BUILD) เป็น “กองพัฒนาและเชื่อมโยงการลงทุน” โดยให้เชื่อมโยงจับคู่ธุรกิจครอบคลุมไปทุกอุตสาหกรรม S-Curve และจับคู่อุตสาหกรรมรับช่วงการผลิต

ขณะเดียวกันสำนักงานเศรษฐกิจการลงทุน 14 แห่งในต่างประเทศ บีโอไอให้แต่ละประเทศระบุรายชื่ออุตสาหกรรม บริษัทเป้าหมาย ที่เป็น อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) ตามที่รัฐบาลและ กระทรวงอุตสาหกรรม กำหนดว่าคือใคร ตั้งอยู่เมืองไหน จากนั้นใช้มาตรการเชิงรุกเข้าไปแนะนำชี้แจงรวมทั้งชักชวนการลงทุนเข้ามายังประเทศไทยโดยตรง และล่าสุดไปรับอนุมัติตามปีงบประมาณ 2561 ส่งเจ้าที่ไปประจำ 3 สำนักงานเศรษฐกิจการลงทุนใหม่ในสถานทูตที่ย่างกุ้ง ประเทศเมียนมา, ฮานอย ประเทศเวียดนาม, จากาต้า ประเทศอินโดนีเซีย

สำหรับยอดขอรับส่งเสริมการลงทุนปี 2560 ยังคงไว้ที่ 600,000 ล้านบาท ขณะที่สถิติการลงทุนเฉพาะในพื้นที่พัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(EEC) ตั้งแต่ พ.ค.2557-ก.ย.2560 มียอดคำขอจำนวน 1,561 โครงการ มูลค่าลงทุน 1.1 ล้านล้านบาท และจากรายงานสถิติยอดขอส่งเสริมการรับการลงทุน 6เดือน (ม.ค.-มิ.ย.2560) มีจำนวน 612 โครงการ ลดลง13% เทียบกับปีที่แล้ว ซึ่งการยอดขอรับดังกล่าวคิดเป็นมูลค่าลงทุนทั้งหมด 291,790 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3%

โดยการลงทุน 6 เดือนนี้แยกเป็นโครงการในอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) จำนวน 302 โครงการ คิดเป็น 49% ของยอดโครงการที่ขอรับส่งเสริมทั้งหมด(612 โครงการ) ซึ่งในจำนวนโครงการเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนจากกิจการซอฟแวร์และดิจิทัล ขณะเดียวกันอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) เหล่านี้มีมูลค่าลงทุนทั้งสิ้น 133,494 ล้านบาท คิดเป็น 46% ของมูลค่าลงทุนทั้งหมด (291,790 ล้านบาท) ซึ่งในเงินลงทุนเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน

Source: ประชาชาติธุรกิจ

https://www.prachachat.net/economy/news-56129