กนอ.อนุมัติตั้งนิคมฯร่วมใหม่ 2 แห่งพื้นที่อีอีซี คาดสร้างมูลค่าการลงทุนกว่า 7 หมื่นลบ.จ้างงานเฉียด 2 หมื่นคน!

กนอ. อนุมัติตั้งนิคมฯ ร่วมใหม่ 2 แห่งพื้นที่อีอีซี คาดสร้างมูลค่าการลงทุนกว่า 7 หมื่นลบ. จ้างงานเฉียด 2 หมื่นคน!

อัปเดตล่าสุด 29 ต.ค. 2563
  • Share :
  • 508 Reads   

การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) อนุมัติจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมร่วมดำเนินงานใหม่ 2 แห่ง พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) ตอบโจทย์นโยบายรัฐด้านการลงทุน บูมเศรษฐกิจพื้นที่เป้าหมาย รองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-Curve และ New S -Curve คาดทั้ง 2 นิคมฯ จะสร้างมูลค่าการลงทุนในประเทศได้กว่า 70,000 ล้านบาท เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้นเกือบ 20,000 คน  

นางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ กนอ.(บอร์ด กนอ.) ครั้งที่ 14/2563 เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2563 มีมติอนุมัติจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมใหม่ 2 แห่ง ในรูปแบบของนิคมอุตสาหกรรมร่วมดำเนินงานกับ กนอ.พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เป็นการเพิ่มพื้นที่เพื่อรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-Curve และ New S-Curve ตอบสนองนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ที่มีศักยภาพตามยุทธศาสตร์ของประเทศในเชิง Area based โดยที่เอกชนเป็น ผู้ลงทุน พัฒนา และให้บริการระบบสาธารณูปโภค รวมพื้นที่ 2 โครงการ ประมาณ 2,806 ไร่  

โครงการแรก เป็นการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมโรจนะหนองใหญ่ ตำบลห้างสูง อำเภอหนองใหญ่ และตำบล หนองไผ่แก้ว อำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี พื้นที่ประมาณ 1,987 ไร่ ดำเนินงานร่วมกับ บริษัท สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จำกัด (มหาชน)

โดยพื้นที่ตั้งของโครงการแรกอยู่ห่างจากท่าเรือแหลมฉบังและท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดไม่ถึง 100 กิโลเมตร และห่างจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ 137 กิโลเมตร แบ่งการจัดสรรพื้นที่ออกเป็นพื้นที่เขตอุตสาหกรรมทั่วไป 1,501 ไร่ และพื้นที่สาธารณูปโภคและแนวกันชนประมาณ 486 ไร่ โดยคาดว่าจะใช้ระยะเวลาพัฒนาพื้นที่และระบบสาธารณูปโภค รวมทั้งสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ และเปิดให้บริการได้ภายใน 3 ปี ซึ่งหลังจากเปิดดำเนินการแล้วจะก่อให้เกิดมูลค่าการลงทุนประมาณ 60,057 ล้านบาท และเกิดการจ้างแรงงานเพิ่มขึ้นประมาณ 15,014 คน ในกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและชิ้นส่วน อุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ อุตสาหกรรมเกี่ยวกับการเกษตร อุตสาหกรรมเบาและอุปกรณ์ทางการแพทย์และเครื่องประดับ อุตสาหกรรมบริการ เช่น คลังสินค้า โลจิสติกส์ การวิจัยและพัฒนา และกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับการส่งเสริมในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)

โครงการที่ 2 เป็นการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมเอ็กโกระยอง ตำบลห้วยโป่ง อำเภอเมือง จังหวัดระยอง พื้นที่ประมาณ 621 ไร่ เป็นการร่วมดำเนินงานกับ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน)

โดยพื้นที่โครงการด้านหน้าอยู่ติดกับถนนทางหลวงแผ่นดินสายมาบตาพุด – มาบข่า) ห่างจากท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด 12 กิโลเมตร สนามบินอู่ตะเภา 28 กิโลเมตร ท่าเรือแหลมฉบัง 50 กิโลเมตร และห่างจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ 140 กิโลเมตร แบ่งการจัดสรรพื้นที่ออกเป็นพื้นที่เขตอุตสาหกรรมทั่วไป 421 ไร่ และพื้นที่สาธารณูปโภคและแนวกันชนประมาณ 200 ไร่ โดยคาดว่าจะใช้ระยะเวลาพัฒนาพื้นที่และระบบสาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวกและเปิดให้บริการได้ภายใน 2 ปี ทั้งนี้ เมื่อเปิดดำเนินการแล้วจะก่อให้เกิดมูลค่าการลงทุนประมาณ 16,840 ล้านบาท เกิดการจ้างงานเพิ่มประมาณ 4,210 คน ในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ กลุ่มเกษตรกรรมและผลผลิตจากการเกษตร กลุ่มแร่เซรามิกส์ และโลหะขั้นมูลฐาน กลุ่มอุตสาหกรรมเบา กลุ่มผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักรและอุปกรณ์ขนส่ง กลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มเคมีภัณฑ์ พลาสติก และกระดาษ กลุ่มกิจการบริการและสาธารณูปโภค กลุ่มการพัฒนาและนวัตกรรม และกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับการส่งเสริมในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)

“ทั้งสองโครงการสนองตอบต่อนโยบายการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ (อีอีซี) ของรัฐบาล ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการขับเคลื่อนและพัฒนาพื้นที่มาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการออกพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2561 เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศในการสนับสนุนการพัฒนาพื้นที่ดังกล่าว การวางโครงสร้างพื้นฐานในระบบสาธารณูปโภคที่สำคัญ อาทิ รถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เมืองการบินภาคตะวันออกสนามบินอู่ตะเภา ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะ 3 และการชักจูงการลงทุนและการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-Curve และ New S-Curve โดย กนอ.ได้รับมอบหมายให้จัดเตรียมพื้นที่รองรับนักลงทุน ซึ่งจากการพิจารณาข้อเสนอของโครงการจัดตั้งนิคมฯทั้งสองแห่งแล้ว กนอ.เห็นว่าบริษัทฯมีความพร้อม เนื่องจากมีฐานลูกค้าและประสบการณ์ในด้านการประกอบกิจการนิคมอุตสาหกรรมประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี รวมถึงมีศักยภาพด้านทำเลที่ตั้งโดยอยู่ในพื้นที่จังหวัดชลบุรี และจังหวัดระยอง ซึ่งมีเครือข่ายเส้นทางคมนาคมที่มีศักยภาพ ตลอดจนมีโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่เอื้อประโยชน์ต่อการลงทุน” นางสาวสมจิณณ์ พิลึก กล่าว

อย่างไรก็ตาม การจัดตั้งนิคมฯทั้งสองแห่งได้นำแนวคิดนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Industrial Town) มาประยุกต์ใช้ในการออกแบบ โดยจัดให้มีพื้นที่สีเขียวและพื้นที่แนวกันชนรอบพื้นที่โครงการฯ และจัดสรรพื้นที่สีเขียวภายในนิคมฯ ขณะเดียวกันในส่วนของน้ำทิ้งได้นำไปผ่านการบำบัดและปรับปรุงคุณภาพก่อนนำกลับไปใช้ประโยชน์ใหม่ภายในโครงการ (Recycle) เพื่อลดอัตราการระบายน้ำทิ้งออกนอกพื้นที่ และใช้แนวคิดออกแบบอาคารส่วนกลางแบบอารยสถาปัตย์ (Universal Design) และออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน (Green Building) เพื่อลดการใช้พลังงานและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและใช้พลังงานทดแทน (Renewable Energy) ซึ่งสอดคล้องและเป็นไปตามข้อบังคับของคณะกรรมการ กนอ.ว่าด้วยมาตรฐานระบบสาธารณูปโภคสิ่งอำนวยความสะดวกและบริการสำหรับนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ พ.ศ. 2557

“หลังเปิดดำเนินการทั้งสองโครงการแล้ว คาดว่าจะก่อให้เกิดมูลค่าการลงทุนในประเทศประมาณ 76,897 ล้านบาท และเกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้นประมาณ 19,224 คน ซึ่งเมื่อพิจารณาในภาพรวมของอุตสาหกรรมเป้าหมายแล้ว คาดว่าจะทำให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในพื้นที่เห็นได้จากตัวเลขการจ้างงาน ซึ่งถือว่าขานรับกับนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลและกระทรวงอุตสาหกรรมที่ต้องการให้มีสร้างงานเพิ่มในชุมชนท้องถิ่น และกระจายรายได้สู่ภูมิภาค โดยนิคมอุตสาหกรรมโรจนะหนองใหญ่ มีการคาดการณ์ว่าจะสามารถขายพื้นที่หรือให้เช่าพื้นที่ทั้งหมดได้ภายใน 5 ปี ส่วนนิคมอุตสาหกรรมเอ็กโกระยองคาดว่าจะสามารถขายพื้นที่หรือให้เช่าพื้นที่ทั้งหมดได้ภายใน 3 ปี” ผู้ว่าการ กนอ. กล่าวปิดท้าย