กรอ. ยันร่าง พ.ร.บ.โรงงานฯฉบับใหม่ยังคงเข้มแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม-ความปลอดภัย

อัปเดตล่าสุด 28 ก.พ. 2562
  • Share :
  • 435 Reads   

นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีการวิพากษ์วิจารณ์สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้พิจารณาเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติโรงงานอุตสาหกรรม พ.ศ.2535 ฉบับแก้ไขใหม่ โดยผู้ประกอบการไม่ต้องขออนุญาตต่ออายุใบประกอบกิจการโรงงาน (ร.ง.4) จากเดิมที่ต้องต่ออายุใหม่ทุก 5 ปี เป็นการทำลายระบบธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อมของประเทศ และเป็นผลให้โรงงานมากกว่า 60,000 ทั่วประเทศ ได้ประโยชน์จากกฎหมายฉบับใหม่นี้นั้น


ทั้งนี้ หากพิจารณาสาระสำคัญของการแก้ไขพระราชบัญญัติดังกล่าวจะพบว่า การยกเลิกการต่ออายุใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน เป็นการปรับแก้ไขกฎหมายเพื่อให้มีการอนุญาตเท่าที่จำเป็นไม่เป็นภาระในการประกอบกิจการของผู้ประกอบกิจการโรงงาน และเพื่อให้เกิดความสะดวก รวดเร็ว โปร่งใส ให้ผู้ประกอบการสามารถทำธุรกิจได้อย่างถูกต้อง และปิดช่องไม่ให้มีการกล่าวอ้างเรื่องเจ้าหน้าที่รัฐมีการแสวงหาประโยชน์อันจะเป็นการช่วยดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามาลงทุนเพิ่มมากขึ้น


ขณะที่การดูแลด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย จะยังคงมีกฎหมายกำกับดูอยู่เช่นเดิม โดยจะให้ผู้ประกอบการโรงงานเป็นฝ่ายรับรองตนเองหรือ Self-declared  ซึ่งผู้ประกอบการจะต้องแสดงข้อมูลเพื่อรับรองตนเองว่าการประกอบกิจการได้มีการดำเนินการถูกต้องตามกฎหมาย กำหนดให้มีการแจ้งข้อมูลที่จำเป็นต่อการควบคุมกำกับดูแลทั้งด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมในแต่ละปี และจะมีเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือผู้ตรวจสอบเอกชนที่ขึ้นทะเบียนเจ้าหน้าที่ตรวจโรงงานกับกระทรวงอุตสาหกรรม (Third Party) ไปทำการตรวจภายหลังและเป็นผู้รับรองข้อเท็จจริงความถูกต้องอีกขั้นหนึ่งเพื่อป้องกันการรับรองเท็จ


ฉะนั้น การปรับปรุงแก้ไขกฎหมายในประเด็นนี้ จึงมิได้ทำให้ผู้ประกอบกิจการโรงงานหลุดพ้นจากการควบคุม กำกับ ดูแล แต่อย่างใด เพียงแต่จะทำให้การประกอบกิจการลดภาระลงซึ่งเป็นผลดีต่อการประกอบกิจการในภาพรวม และที่สำคัญการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายในประเด็นนี้มีความสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่กำหนดให้รัฐพึงใช้ระบบอนุญาตเท่าที่จำเป็น


“มาตรการนี้จะส่งผลดีและชัดเจนแบบ 2 เพิ่ม 2 ลด คือ 1.เพิ่มความสะดวกให้กับผู้ประกอบการ 2.เพิ่มประสิทธิภาพในการบริการ และ1.ลดระยะเวลาการทำเรื่องขอใบอนุญาตแบบเดิม 2.ลดปัญหาข้อร้องเรียนเรื่องความโปร่งใสในกระบวนการต่อใบอนุญาต  ผู้ที่ได้รับประโยชน์โดยตรงก็คือผู้ประกอบการโรงงานทั่วประเทศ     อีกทั้งยังช่วยสร้างความสนใจดึงดูดนักลงทุนทั่วโลกมาลงทุนเพิ่มในประเทศไทยได้มากขึ้น”


นายทองชัย กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีการอนุญาตให้โรงงานเอกชนขนาดเล็กที่มีเครื่องจักรต่ำกว่า 50 แรงม้า และคนงานต่ำกว่า 50 คน ไม่ต้องขออนุญาตจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมอีกต่อไปนั้น เนื่องจากกระทรวงอุตสาหกรรมพิจารณาแล้วเห็นว่าโรงงานที่มีการใช้เครื่องจักรไม่เกิน 50 แรงม้า หรือใช้คนงานไม่เกิน 50 คน เป็นโรงงานขนาดเล็ก ประกอบกิจการไม่มีความซับซ้อน และไม่ได้ก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง ประกอบกับโรงงานขนาดดังกล่าวจะอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายอื่นอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น กฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข กรณีเป็นกิจการที่อาจก่อให้เกิดเหตุเดือดร้อนรำคาญ หรือกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม กรณีที่การประกอบกิจการเป็นแห่งกำเนิดมลพิษ 


“นอกจากนี้ โรงงานขนาดดังกล่าว กระทรวงอุตสาหกรรมได้มีการถ่ายโอนภารกิจให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไปแล้วเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งกำกับดูแลตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข จึงสามารถกำกับดูแลโรงงานที่มีเครื่องจักรต่ำกว่า 50 แรงม้า หรือคนงานต่ำกว่า 50 คน ได้   ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมได้มีการฝึกอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายโรงงานให้กับเจ้าหน้าที่มาโดยตลอด ดังนั้น กรณีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายในประเด็นนี้ จึงไม่ได้มีปัญหาแต่อย่างใด เนื่องจากยังมีกฎหมายอีกหลายฉบับที่เข้ามาดูแลเรื่องของความปลอดภัย รวมถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมและมลพิษ” อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าว