TGI จัดงาน iMould Die 2018 ภายใต้แนวคิด "นวัตกรรมการผลิตและแม่พิมพ์ยุค 4.0"

อัปเดตล่าสุด 30 ส.ค. 2561
  • Share :
  • 547 Reads   

เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม  2561 รศ. ณรงค์ วรงศ์เกรียงไกร อดีตผู้อำนวยการและคณะกรรมการการสถาบันไทย -เยอรมัน และ นายสมชาย จักร์กรีนทร์ รองผู้อำนวยการสถาบันไทย - เยอรมัน ร่วมเป็นประธานในพิธีเปิดงาน  iMould Die 2018 "Innovation for Mould Die & Machine Tools" ภายใต้แนวคิด "นวัตกรรมการผลิตและแม่พิมพ์ยุค 4.0"  ซึ่งทางสถาบันได้จัดงานเป็นปีแรกในปี 2561 นี้ที่สถาบันไทย - เยอรมัน นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ จังหวัดชลบุรี
 
สถาบันไทย-เยอรมัน  (Thai-German Institute: TGI ) ร่วมด้วยพันธมิตร จัดงาน iMould Die 2018  เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์การดำเนินงานของสถาบันไทย-เยอรมัน และเผยแพร่ความรู้ทางด้านเทคโนโลยีการผลิตแม่พิมพ์ รวมถึงระบบการผลิตในยุคอุตสาหกรรม 4.0 ให้แก่ผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรม อีกทั้งยังเป็นการแสดงให้เห็นถึงขีดความสามารถของสถาบันไทยเยอรมันและหน่วยงานพันธมิตรที่มีความร่วมมือ ในการให้บริการแก่ภาคอุตสาหกรรม การเชื่อมโยงธุรกิจ การฝึกอบรม การให้คำปรึกษาแนะนำ การค้นคว้าวิจัยและพัฒนา รวมถึงการให้บริการด้านอุตสาหกรรม  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตแม่พิมพ์สมัยใหม่ และเผยแพร่นวัตกรรมทางด้านการผลิตที่ทันสมัย ตลอดจนแนวคิดด้านการพัฒนาบุคลากร ซึ่งจะจัดในรูปแบบของการสัมมนาทางวิชาการ การแข่งขันทักษะฝีมือ  และการจัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับนวัตกรรมและเทคโนโลยีการผลิตสมัยใหม่จากพันธมิตรผู้ร่วมจัดงาน
 
รศ. ณรงค์ วรงศ์เกรียงไกร ประธานในพิธี เผยถึง วิธีการปรับตัวของอุตสาหกรรมเพื่อเข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 ว่า  “ประเทศไทยอยู่ในสถานการณ์ที่จะต้องปรับตัวไปสู่อีกยุคหนึ่งของการทำอุตสาหกรรม เราจำเป็นต้องพัฒนาต่อยอดสิ่งที่เรามีอยู่แล้ว  เทคโนโลยีหลาย ๆ อย่างเรามีอยู่แล้ว แต่เราจะทำอย่างไรเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุด จึงต้องมีกระบวนการที่จะปรับตัว ซึ่งสิ่งสำคัญอันดับแรก คือ การยกระดับบุคลากรให้มีความรู้มากยิ่งขึ้น เพื่อที่จะสามารถใช้เทคโนโลยีที่สูงขึ้นได้ ด้วยเทคโนโลยีเป็นสิ่งที่หาซื้อได้ แต่คนเป็นสิ่งที่หาซื้อไม่ได้ ”
 
นายวิธาน จริยประเสริฐสิน ผู้อำนวยการศูนย์แม่พิมพ์และเครื่องมือกล กล่าวถึง การบริหารจัดการโรงงานผลิตแม่พิมพ์ยุค 4.0  ว่า “ในปัจจุบัน ความต้องการในส่วนของการผลิตของอุตสาหกรรมต่าง ๆ เปลี่ยนแปลงไป การพัฒนาเทคโนโลยีรวมถึงนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อใช้ในการผลิตเป็นสิ่งที่จำเป็น จะต้องมีการปรับเพื่อความอยู่รอดของโรงงานผลิตให้ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค สำหรับอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ ถือเป็นอุตสาหกรรมสนับสนุน (Supporting Industry) ที่จะเชื่อมโยงอุตสาหกรรมอื่น ๆ อีกมากมาย โดยอุตสาหกรรมแม่พิมพ์นั้นเป็นอุตสาหกรรมเฉพาะทางที่จำเป็นต้องมีการบริหารจัดการที่แตกต่างออกไปจากโรงงานผลิตอื่น ๆ เพื่อให้ธุรกิจสามารถดำรงอยู่ได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว ”
 
“อุตสาหกรรมการผลิตแม่พิมพ์เป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำ ที่่จะนำไปต่อยอดในการผลิตเกือบทุกอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมชิ้นส่วนและยานยนต์ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เพราะฉะนั้นผู้ผลิตแม่พิมพ์จำเป็นจะต้องพัฒนาคุณภาพการผลิต เทคโนโลยี องค์ความรู้ ต่าง ๆ อยู่เสมอ ซึ่งในปัจจุบันยิ่งมีความต้องการสูงขึ้น”
 
3 สิ่งสำคัญที่ควรให้ความสำคัญเมื่อโรงงานแม่พิมพ์จะก้าวเข้าสู่ อุตสาหกรรม 4.0 คือ

1. บุคลากรที่จะต้องมีการพัฒนาองค์ความรู้อยู่เสมอ 

2. การผลิตแบบ LEAN Automation ที่สามารถทำการผลิตในระบบอัตโนมัติและลดการสูญเสียไปพร้อม ๆ กัน และ

3.การบริหารจัดการภายในองค์กร ”
 
นอกจากนี้คุณวิธานยังเน้นย้ำในเรื่องของการนำระบบอัตโนมัติมาใช้ในโรงงานแม่พิมพ์ 4.0 ที่จะสามารถช่วย “ลด” ต้นทุนการผลิต ในขณะที่คุณภาพนั้น “เพิ่ม” มากขึ้น

 

ภายในงาน iMould Die 2018 มีการจัดสัมมนามากกว่า 13 หัวข้อ และการจัดแสดงเทคโนโลยีการผลิตจากพันธมิตรมากกว่า 33 ราย นอกจากนี้ยังมีการแข่งขันเขียนโปรแกรมซีเอ็นซีโดยใช้ SoftwareSinuTrain และ Software MTS การแข่งขันขัดผิวแม่พิมพ์ อีกทั้งยังมีการจัดแสดง TGI Smart Factory ซึ่งเป็นต้นแบบระบบสายการผลิต ภายใต้แนวคิดโรงงานอัจฉริยะแสดงการทำงานด้วยระบบอัตโนมัติ และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องโดยควบคุมผ่านซอฟต์แวร์ ที่สามารถสื่อสารกับผู้บริโภค รับคำสั่งซื้อ ไปสู่กระบวนวางแผน การควบคุม การติดตามกระบวนการผลิต จนถึงการส่งมอบผลิตภัณฑ์ให้กับลูกค้า กระบวนการผลิตทั้งหมดนี้ เป็นการทำงานบนเครือข่ายการสื่อสารอินเตอร์เน็ต  ที่สามารถสั่งสินค้าจากที่ใดก็ได้ในโลกใบนี้ ซึ่งจะช่วยให้โรงงานสามารถดำเนินธุรกิจในทุกส่วนได้ด้วยเพียงปลายนิ้วสัมผัส