102-รถไฟความเร็วสูง-เชื่อม-3-สนามบิน-EEC

วันประวัติศาสตร์! “บิ๊กตู่-ซี.พี.” เซ็นสัญญาไฮสปีด 3 สนามบิน เชื่อมสัมพันธ์ไทย-จีน-ญี่ปุ่น

อัปเดตล่าสุด 26 ต.ค. 2562
  • Share :
  • 710 Reads   

เมื่อเวลา 13.45 น. ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นสักขีพยานในพิธีลงนามในสัญญาและบันทึกความร่วมมือ (MOU) เพื่อสนับสนุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง – สุวรรณภูมิ – อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กม. เงินลงทุน 224,544 ล้านบาท ระยะเวลา 50 ปี
 
โดยมีนายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.), นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และนายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ และตัวแทนบริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด ร่วมลงนาม

นายศุภชัยกล่าวว่า นับเป็นเกียรติที่ได้ร่วมทำ PPP โครงการกับภาครัฐ ซึ่ง กลุ่มซี.พี.ใช้เวลาเตรียมความพร้อมก่อนเข้าประมูลโครงการนี้ไม่ต่ำกว่า 2 ปี และเมื่อได้รับการคัดเลือกแล้วก็ต้องใช้เวลาเจรจาต่อรองกับรัฐอีก 11 เดือน ทุก ๆ อย่างและรายละเอียดต่าง ๆ ถือว่าเราร่วมกันทำงานอย่างเต็มที่

สำหรับการเริ่มงานแอร์พอร์ตลิ้งก์จะเป็นช่วงที่เริ่มได้เร็วที่สุด เพราะมีเพียงการปรับปรุงบางส่วนเท่านั้น ส่วนที่ยากที่สุดคือช่วงบางซื่อ – ดอนเมือง – พญาไท และส่วนที่ยาวที่สุด คือช่วงสุวรรณภูมิ – อู่ตะเภา ซึ่งมีความท้าทายแตกต่าง และต้องอาศัยความร่วมมือจาก ร.ฟ.ท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องร่วมมือกัน ยืนยันจะทำเต็มที่ และจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างให้ได้ภายใน 1 ปี ใช้เวลาก่อสร้าง 5 ปีให้เสร็จ

“พาร์ทเนอร์ของเรา ทั้งอิตาเลียนไทย และ ช.การช่าง มีความสามารถด้านการก่อสร้างงานโยธาอยู่แล้ว ส่วน China Railway Construction Corporation Limited (CRCC) มีความเชี่ยวชาญด้านระบบรางและการบริหารของรถไฟความเร็วสูง รวมถึงการจัดหาขบวนรถด้วย ด้าน FS (บริษัททางรถไฟแห่งชาติอิตาลี) เป็นผู้ที่มาร่วมในด้านการบริหารเดินรถพาร์ทเนอร์ แต่ละบริษัทมีความเข้มแข็งในด้านของตัวเอง แต่ยังไม่สรุปอะไร ยังเปิดเผยไม่ได้ เพราะอยู่ในขั้นตอนภายใน”

ขณะที่แหล่งเงินกู้มีทั้งในและต่างประเทศ สำหรับต่างประเทศ มีธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JBIC) กับ China Development Bank (CDB) ซึ่งมาช่วยเป็นที่ปรึกษาและทำให้เราเข้าใจการลงนามในโครงการนี้มากขึ้น

“ภาคเอกชนกลัวที่สุด คือความเสี่ยงร่วมลงทุนใช้เงินกว่าแสนล้าน ถ้าทำแล้วขาดทุนจะไม่ใช่แค่แสนล้าน ทุกปีที่ขาดทุนต้องระดมทุนเข้าไป เรื่องนี้เราศึกษาอย่างละเอียดก็เชื่อมั่นว่าจะทำให้สำเร็จได้ โครงการนี้เป็น ppp โครงการแรกที่เป็นการลงทุนขนาดใหญ่และจากความยืดหยุ่นต่าง ๆ จะเป็นโครงการนำร่องไปยังโครงการอื่น ๆ”

ทั้งนี้โครงการนี้ได้ร่วมกับพันธมิตรที่เป็นกิจการร่วมค้า ได้แก่ China Railway Construction Corporation Limited จากสาธารณรัฐประชาชนจีน บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ บมจ.ช.การช่าง

จัดตั้ง “บริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด” หรือ “Eastern High-Speed Rail Linking Three Airports Co.,Ltd.” เป็นตัวแทนลงนามในสัญญาร่วมลงทุน Public – Private – Partnership หรือ PPP ในครั้งนี้

โดยภายหลังการลงนามจะเร่งเข้าไปบริหารจัดการบริษัทรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินฯ เพื่อจะได้ดำเนินการลงพื้นที่สำรวจและออกแบบ เจรจากับผู้รับเหมาก่อสร้าง และ Suppliers ต่าง ๆ รวมถึงเร่งจัดทำแผนก่อสร้างและเดินหน้าทันที

“นับเป็นประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญของประเทศไทยที่ภาคเอกชนได้ร่วมลงนามในสัญญาร่วมลงทุน PPP กับภาครัฐผลักดันให้เกิดโครงการก่อสร้างเมกะโปรเจ็กต์ระดับนานาชาตินี้ขึ้นมาได้สำเร็จ” นายศุภชัยกล่าว

นายศุภชัยกล่าวว่าโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 2566 ซึ่งเมื่อแล้วเสร็จจะทำให้เกิดการพัฒนาเมืองโดยรอบสถานี นำความเจริญสู่ชุมชน เกิดการกระจายรายได้ให้ประชาชนในพื้นที่ได้มีที่ค้าขาย มีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจประมาณ 650,000 ล้านบาท ถือเป็นกุญแจสำคัญในการยกระดับเศรษฐกิจไทยตามนโยบาย Thailand 4.0 นอกจากนี้ ยังส่งผลให้เกิดการจ้างงานในช่วงก่อสร้างมากถึง 16,000 อัตรา

และการจ้างงานในธุรกิจเกี่ยวเนื่องมากกว่า 100,000 อัตรา ใน 5 ปีข้างหน้า รวมทั้งเปิดโอกาสให้คนไทยได้เรียนรู้วิธีการทำงานในโครงการด้วยเทคโนโลยีสูงอย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาสู่การเป็นบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญสูง และมีศักยภาพสูงเพียงพอที่จะสามารถแข่งขันกับนานาประเทศได้

นายคณิศกล่าวว่า เป็นความยินดีหลังจากทำงานในโครงการนี้มา 22 เดือน ต่อจากนี้ความสัมพันธ์ของรัฐและเอกชนจะเป็นไปในทางพาร์ทเนอร์ร่วมกัน ส่วนการเปิดเผยร่างสัญญาต้องรอฝ่ายกฎหมายของอีอีซีเป็นผู้เปิดเผยก่อน

ขณะที่การจ่ายเงินอุดหนุนโครงการ 117,227 ล้านบาท กระบวนการเดิมคือต้องสร้างเสร็จก่อน แล้วรัฐตรวจสอบจึงจะเริ่มจ่ายเงินส่วนนี้เมื่อเปิดเดินรถ แต่โครงการแบ่งเป็นท่อน ๆ ใน RFP ไม่ได้ยึดติดว่าต้องทำเสร็จทั้งช่วง จึงจะจ่ายเงิน แต่ถ้าช่วงใดที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ และสามารถเปิดเดินรถได้ก่อนก็จะทยอยจ่ายอุดหนุนเฉพาะส่วนนั้น ๆ ไปก่อน

ด้านนายวรวุฒิกล่าวว่า วันนี้เป็นวันแรกของการเริ่มต้นของการทำงานตามสัญญา 50 ปีของโครงการนี้ ยอมรับว่าหายเหนื่อย แต่ก็แค่พักเดียว เพราะหลังจากนี้มีอะไรต้องทำร่วมกันอีกมาก ต้องเหนื่อยกันอีก เพราะต้องลงรายละเอียดในเนื้องานของโครงการจริง ๆ แล้ว

ส่วนการส่งมอบพื้นที่ของโครงการ ในส่วนของการพัฒนา TOD มักกะสัน และศรีราชา จะส่งหนังสือเริ่มดำเนินการ (NTP : Notice to Proceed) ได้ ก็เมื่อมีการส่งมอบหนังสือ NTP ให้เริ่มการก่อสร้าง เมื่อส่งมอบ NTP ก่อสร้างจึงจะออก NTP พัฒนา TOD

ทั้งนี้ การส่งมอบพื้นที่ก่อสร้าง สาระสำคัญมี 2 เรื่อง คือ 1.การเคลียร์ผู้บุกรุก ซึ่ง ร.ฟ.ท.จะเป็นผู้จัดการ ส่วนเอกชนจะต้องเคลียร์ซากปรักหักพังต่าง ๆ และ 2.การเคลียร์พื้นที่ใต้ดินหรือระบบสาธารณูปโภค เอกชนต้องออกแบบให้เห็นแนวเส้นทางก่อน จากนั้นจึงจะเชิญหน่วยงานเจ้าของระบบสาธารณูปโภคทั้ง 8 หน่วยมาคุยกันว่าจะออกแบบอย่างไร ต้องหลบไหมหรือขยับอะไร ซึ่งหน้าที่การรื้อย้ายต่าง ๆ เป็นหน้าที่ของหน่วยงานเจ้าของระบบนั้น ๆ เป็นผู้ดำเนินการ