‘บีโอไอ’ แก้ล็อกกระตุ้นลงทุน ขอส่งเสริมซ้ำมากกว่า 1 ประเภทได้

‘บีโอไอ’ แก้ล็อกกระตุ้นลงทุน ขอส่งเสริมซ้ำมากกว่า 1 ประเภทได้

อัปเดตล่าสุด 1 ต.ค. 2563
  • Share :
  • 421 Reads   

ผ่านมาแล้วครึ่งปี 2563 ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 สำหรับการลงทุนในโครงการใหญ่ ๆ ของรัฐบาลที่ได้พยายามชักจูงนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในประเทศเพื่อใช้ไทยเป็นฐานการผลิต ด้วยการโชว์ความได้เปรียบเชิงภูมิศาสตร์ในพื้นที่ นโยบายการพัฒนาเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์ “นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตต์” เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ถึงเครื่องมือเพื่อฟื้นฟูการลงทุนใหม่พร้อมกับรักษานักลงทุนที่มีอยู่ในปัจจุบัน

ยังลุ้นเป้า 200,000 ล้าน

ภาพรวมครึ่งปีหลังเราประเมินว่า การลงทุนจะไม่สามารถกลับมาเหมือนเดิมได้ ขณะนี้เหลือเวลาอีกเพียงแค่ 3 เดือนเท่านั้น วัคซีนป้องกันเชื้อโควิด-19 ก็ยังไม่รู้ว่าจะได้หรือไม่ สภาพตลาดดีมานด์ก็เปลี่ยนหลังเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19โอกาสที่บรรยากาศของการลงทุนจะกลับมาคงยากมาก ดังนั้นเป้าหมายขอรับการส่งเสริมปี 2563 BOI ยังคงพยายามทำอย่างเต็มที่ ที่ผ่านมาเราไม่เคยกำหนดว่าจะได้เท่าไร เพราะเราหวังให้เป็นโครงการที่มีคุณภาพคือพวก new S-curve

แต่ทั้งปีคาดว่าการขอรับการลงทุนจะไม่ต่ำกว่าปี 2558 ซึ่งปีนั้นเป็นปีที่มียอดขอรับการส่งเสริมต่ำที่สุด หรืออยู่ที่ประมาณ 200,000 ล้านบาท เพราะเป็นช่วงของการปรับแก้ พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุนใหม่และฐานของปี 2557 นั้นสูงมาก

ที่เรามั่นใจว่าปีนี้การลงทุนจะต้องเกิน 200,000 ล้านบาท ก็เพราะ 6 เดือนแรก (ม.ค.-มิ.ย. 2563) มียอดขอรับการส่งเสริมได้มาแล้ว158,890 ล้านบาท จำนวน 754 โครงการ เป็นโครงการที่ลงทุนในพื้นที่ EEC ถึง 50% หรือ 85,480 ล้านบาท ขณะที่การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) อยู่ที่ 75,902 ล้านบาท จํานวน 459 โครงการ ประเทศญี่ปุ่นยังคงเป็นนักลงทุนอันดับ 1 ตามมาด้วยนักลงทุนจากจีน-ไต้หวัน


Relocation+Thailand Plus Plus

การเกิดสถานการณ์โควิด-19 ช่วยทำให้เราเห็นจุดแข็งของตัวเองว่า ประเทศไทยยังมีอุตสาหกรรมเกษตร “อุตสาหกรรมทางการแพทย์” เป็นดาวเด่น ซึ่งจะเป็นตัวพลิกฟื้นการลงทุนได้อย่างมาก โจทย์ใหญ่ของเราตอนนี้ก็คือ จะทำอย่างไรที่จะยังคงรักษาการลงทุนที่มีไว้ให้ได้ และจะรับการย้ายฐานการลงทุนด้วยอะไร ชูความเด่นของอุตสาหกรรมที่ไทยมีเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ ทำให้เกิดการลงทุนใหม่ภายในเดือนตุลาคม ดังนั้น BOI จึงเตรียมเสนอให้ออก “มาตรการสิทธิประโยชน์การลงทุนใหม่” รวมถึงการปรับปรุงและทบทวนมาตรการเก่าให้ที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนพิจารณา

อย่างไรก็ตาม ด้วยเครื่องมือส่งเสริมและกระตุ้นการลงทุนที่มีไม่มาก บวกกับสถานการณ์ในปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไป ดังนั้นมาตรการใหม่ใหญ่ ๆ ที่ BOI จะเสนอประกอบไปด้วย

1) มาตรการที่ช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจ ด้วยการจ้างงานและรักษาแรงงานเดิมไว้โจทย์ก็คือ จะทำอย่างไรให้ตอนนี้บริษัทไม่เลิกจ้างงาน เครื่องมือที่เรามีเดิม ๆ ก็คือ การ “ยกเว้น” ภาษีรายได้นิติบุคคล ลดหย่อนภาษี 50% คิดว่าจะออกมาในรูปแบบใด แต่หลักการก็คือคงไม่เอาจำนวนปีไปเพิ่มให้ แต่ใช้สิทธิอื่นเพิ่มโดยการจ้างงานเพื่อช่วยเหลือบริษัทที่ยังจ้างงานอยู่

2) มาตรการกระตุ้นการลงทุนใหม่ เน้นอุตสาหกรรมที่เตรียมย้ายฐานการผลิตมาไทยคล้าย ๆ กับมาตรการ Relocation หรือ Thailand Plus Plus ที่ออกมาช่วงปลายปี 2562 ช่วงที่เกิดสงครามการค้า ตอนนั้น BOI กำหนดว่าให้สิทธิประโยชน์เพิ่มสำหรับกิจการเป้าหมายที่อยู่นอกกรุงเทพฯได้รับ “ยกเว้น” ภาษีนิติบุคคล 5-8 ปี ลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% 5 ปี หากยื่นขอรับการส่งเสริมในปี 2563 และลงทุนจริงไม่น้อยว่า 1,000 ล้านบาทในปี 2564

นับตั้งแต่นั้นถึงตอนนี้แต่ละประเทศเขาเริ่มมีนโยบายออกจากประเทศอย่างญี่ปุ่น-จีน ก็มุ่งเป้าย้ายฐานการผลิตไปประเทศใหม่ ๆ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ ประเทศไทย ครั้งนี้ก็เช่นกันยังมีกลุ่มที่จะย้ายฐานมาเหมือนเดิม มาตรการ Relocation จึงต้องมีต่อไปอีก จากเดิมที่จะสิ้นสุดในสิ้นปี 2563 นี้ แต่จะเปลี่ยนเงื่อนไขด้วยการมีลูกเล่นใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น

ปลดล็อกขอ BOI ซ้ำได้

นอกจากนี้ จะเสนอบอร์ด BOI ให้ออกมาตรการสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น ด้านการแพทย์ เพิ่มประเภทกิจการ การวิจัยทางคลินิก วิจัยวัคซีน และทบทวนปรับปรุงมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ประเภทดิจิทัลเข้ามา แต่ที่สำคัญสุดก็คือเราจะปลดล็อกให้เอกชนสามารถขอ BOI ได้มากกว่า 1 ประเภทและซ้ำกันได้ เช่น เคยขอปรับปรุงประสิทธิภาพในสายการผลิตลงทุนหุ่นยนต์ไว้จะมาขอซ้ำอีกไม่ได้ จะต้องขอปรับปรุงประสิทธิภาพด้านอื่น ๆ อย่างการใช้พลังงานด้านสิ่งแวดล้อม พลังงานทดแทน R&D ซึ่งมีประมาณ 6 ด้าน

แต่ต่อไปนี้จะเป็นครั้งแรกที่ BOI “ปลดล็อก” ให้กลับมาขอใหม่ได้เช่น เคยลงทุนปรับปรุงประสิทธิภาพด้านหุ่นยนต์ ปรับปรุงลงทุนเครื่องจักร 1 ตัว พอผ่านไปแล้ว 2 ปีเขาใช้สิทธิประโยชน์ครบแล้ว อยากปรับปรุงประสิทธิภาพด้านการผลิตเพิ่มอีก อยากลงทุนหุ่นยนต์ ลงทุนเครื่องจักรใหม่อีก คราวนี้สามารถขอรับการส่งเสริมได้อีกเพราะผู้ประกอบการมีเงินทุนจะขยายกำลังการผลิตเพิ่มแล้ว ไม่ใช่แค่เปิดโอกาสให้เขาได้ปรับปรุงโรงงาน แต่ยังเป็นส่วนในการช่วยสนับสนุนกลุ่มอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ เครื่องจักรกล

ที่เรายอมปลดล็อกตรงนี้ก็เพราะ 1-2 ปีที่ผ่านมาเห็นการขอสิทธิประโยชน์การปรับปรุงประสิทธิภาพเครื่องจักรและอุปกรณ์เพิ่มมากขึ้น อาจเป็นเพราะเครื่องจักรหรือหุ่นยนต์เหล่านี้ราคาถูกลง เราจึงยังต้องทำมาตรการนี้อยู่ การที่เราเพิ่มประเภทกิจการด้านดิจิทัลเข้ามาก็เพราะตัวนี้จะเป็นตัวเข้ามาควบคุมการผลิตมากขึ้นสำหรับโรงงานและบริษัท

ส่งเสริมอุตสาหกรรมการแพทย์

นับจากนี้ BOI ต้องส่งเสริมอุตสาหกรรมทางการแพทย์ เมื่อต้นปีช่วงที่เกิดการระบาดของโควิด-19 เราออกมาตรการเร่งรัดให้อุตสาหกรรมทางการแพทย์ให้เข้ามาลงทุนโดยเร็ว เพราะช่วงนั้นขาดแคลนหน้ากากอนามัย เครื่องมือเครื่องใช้ อุปกรณ์ทางการแพทย์ไม่เพียงพอจึงออกมาตรการดังกล่าว ซึ่ง BOI ได้ปิดรับคำขอถึงแค่เดือนมิถุนายน 2563 ปรากฏมีจำนวนโครงการเข้ามาขอ45 โครงการ มูลค่า 13,000 ล้านบาท “มากกว่า” ยอดขอสะสมทั้งปี 2561-2563 ที่มี 100 โครงการ มูลค่า 20,000 ล้านบาท

ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงทิศทางของกลุ่มอุตสาหกรรมนี้ยังเกิดขึ้นต่อไป โดยเฉพาะประเภทกิจการผลิตหน้ากากอนามัย ชุดตรวจทางการแพทย์ ยา สารชีววัตถุ

เมื่อแนวโน้มมาแบบนี้ ถ้าเราจะเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์อาเซียน “medical hub” เราต้องครบขอบอร์ดเพิ่มประเภทกิจการวิจัยทางคลินิก อาทิ การวิจัยวัคซีน และกลุ่ม BCG หรือ เศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว เป็นอุตสาหกรรมที่ต้องสนับสนุน ยังเป็นเทรนด์เป็นโอกาสของไทยอยู่ เราได้รับแจ้งจากทางนักลงทุนญี่ปุ่นว่า โรงงานในแถบเพื่อนบ้านยังคงปิดไม่สามารถดำเนินการผลิตได้ การผลิตเลยต้องออร์เดอร์มาที่ประเทศไทยแทน เมื่อเป็นเช่นนั้นเขาจึงคิดที่จะเลือกไทยเป็นฐานการผลิตแห่งใหม่ดีกว่า คาดว่าจะมีทั้งขยายกำลังการผลิตและลงทุนใหม่เข้ามาคู่กัน

ปรับโครงสร้างภายในใหม่

โครงสร้างใหม่ของ BOI จะเริ่มใช้ในวันที่ 5 ตุลาคมนี้ เราเพิ่มกองอีก 2 กอง คือ 1) กองติดตามและประเมินผลการลงทุน ทำหน้าที่ติดตามเร่งรัดโครงการที่ได้ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนแล้วให้เกิดการลงทุนเร็วขึ้น โดยกองนี้จะทำหน้าที่เข้าไปตรวจสอบว่าขั้นตอนลงทุนไปถึงไหน มีการลงทุนจริงไปแล้วกี่เปอร์เซ็นต์ การใช้สิทธิประโยชน์หรือมีการแก้ไขโครงการอะไรบางส่วนหรือไม่งานตรวจสอบจึงจำเป็นต้องมี

กับ 2) กองพัฒนาผู้ประกอบการไทย เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการไทยอย่างครบวงจร เชื่อมโยงอุตสาหกรรมในและต่างประเทศ รวมถึงเปิดหน่วยอำนวยความสะดวกให้บริการนักลงทุน customer service unit หรือ CSU หน่วยนี้จะทำหน้าที่ให้บริการระบบนัดหมายออนไลน์สำหรับนักลงทุนเพื่อขอรับการปรึกษา ให้บริการคำปรึกษาทั้งก่อนและหลังรับการส่งเสริม ณ จุดเดียว รวมถึงให้บริการคำปรึกษาในรูปแบบออนไลน์ (zoom meeting) การปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ในครั้งนี้ ไม่ได้ของบประมาณและกำลังคนเพิ่ม

นี่จึงเป็นโมเดลต้นแบบแรกที่หน่วยงานรัฐสามารถนำมาใช้โดยโครงสร้างใหม่นี้ BOI จะจับยุบคละและโยกคนจากกองเดิมโดยจัดเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่จากเดิม 5 กองรวมเป็น 4 กองส่งเสริมการลงทุน 1-4 และมีการตั้งเพิ่มอีก 2 กอง