EECi ฐานอุตสาหกรรมชีวภาพ ความคืบหน้าโครงการ 2020

เร่งขับเคลื่อน ‘EECi’ สู่ฐานอุตสาหกรรมชีวภาพ หนุน ‘ระยอง’ เป็นเมืองนวัตกรรมขั้นสูง

อัปเดตล่าสุด 9 ก.ย. 2563
  • Share :
  • 445 Reads   

หัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก คือ นวัตกรรม โดยมีเขตส่งเสริมนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) บนพื้นที่ 3,302 ไร่ บริเวณวังจันทร์วัลเล่ย์ จังหวัดระยอง ที่ถูกกำหนดให้เป็นต้นแบบของแหล่งสร้างและสะสมองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อยกระดับพื้นที่ EEC โดยนำนวัตกรรมเข้าไปพัฒนาอุตสาหกรรมเดิม สร้างอุตสาหกรรมใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง รองรับการค้า การลงทุนด้านการวิจัย และนวัตกรรมด้านชีวภาพจากภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศ โดยมีสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เป็นหัวหอกเช่าพื้นที่ก่อสร้างอาคารสำนักงานใหญ่ที่ทันสมัย ขณะนี้คืบหน้าแล้ว 40% เตรียมเปิดดำเนินการปลายปี 2564 พร้อมผลักดันระยองเป็นจังหวัดนวัตกรรมขั้นสูง      

ดร.อเนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ติดตามความคืบหน้าการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์สำคัญ อาทิ อาคารสำนักงานใหญ่ EECi ซึ่งมีความคืบหน้าในการก่อสร้างตามแผนงานที่วางไว้กว่า 40% และคาดว่าเมืองนวัตกรรม EECi จะพร้อมเปิดดำเนินการได้ในปลายปี 2564 รวมถึงการพัฒนาเมืองนวัตกรรมชีวภาพ (BIOPOLIS) เพื่อรองรับการทำวิจัยขยายผลที่จะเกิดขึ้นในอนาคตของ EECi อาทิ โรงงานต้นแบบไบโอรีไฟเนอรี โรงเรือนฟีโนมิกส์ และศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน (SMC) โดยมีการพัฒนาแพลตฟอร์ม IoT (Internet of Thing) และระบบวิเคราะห์ข้อมูลในอุตสาหกรรม พร้อมกับการพัฒนาชุมชนด้วยการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) เข้าไปส่งเสริมและสนับสนุนภาคการเกษตร ภาคการศึกษา และวิสาหกิจชุมชนบนพื้นที่ EEC ครอบคลุมจังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง เพื่อตอบโจทย์การใช้งานของผู้ใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มศักยภาพด้วย    

“อว.พร้อมสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมของ EECi อย่างเต็มที่ เพราะเป็นโครงสร้างพื้นฐานด้าน วทน. ที่สำคัญของคนไทย จะช่วยพลิกโฉมการพัฒนานวัตกรรมของประเทศสู่เชิงพาณิชย์อย่างแท้จริง ทำให้ประเทศหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง ยกระดับและพัฒนาอุตสาหกรรมเดิม สร้างให้เกิดอุตสาหกรรมใหม่ทั้งในพื้นที่ EEC และในพื้นที่อื่น ๆ ทั่วประเทศ นำไปสู่การเป็นประเทศแห่งนวัตกรรมควบคู่กับการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ทำให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไปในอนาคต” ศ.ดร.อเนก เหล่าธรรมทัศน์ กล่าว


EECi พื้นที่แห่ง Technology Localization

ขณะที่ ดร.เจนกฤษณ์ คณาธารณา รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กำกับดูแล EECi กล่าวว่า EECi จะเป็นเมืองนวัตกรรมแห่งใหม่ของจังหวัดระยอง และของประเทศบนพื้นที่ EEC เป็นแหล่งพัฒนางานวิจัยขยายผลและปรับแปลงเทคโนโลยีขั้นสูงจากต่างประเทศ (Technology Localization) ให้เข้ากับบริบทของประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน เพื่อปิดช่องว่างทางเทคโนโลยีของไทย รวมทั้งการพัฒนาและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพของไทยที่มีอย่างหลากหลายออกสู่ตลาดโลก ที่ขณะนี้มีขีดความสามารถสร้างผลงานแล้วในระดับห้องปฏิบัติการ แต่ผลงานส่วนใหญ่ยังส่งไม่ถึงผู้ใช้ประโยชน์ เพราะที่ผ่านมาประเทศไทยไม่ได้ลงทุนกับโครงสร้างพื้นฐานและกลไกขยายผลงานวิจัย ส่วนอีกด้านหนึ่งยังไม่สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีขั้นสูงจากต่างประเทศได้มากนัก เพราะขาดโครงสร้างพื้นฐานและกลไกที่จะรองรับการปรับแปลงเทคโนโลยีให้เข้ากับบริบทของไทย 

ขณะเดียวกัน ยังขยายผลและสนับสนุนถ่ายทอดเทคโนโลยีพร้อมใช้ ตลอดจนองค์ความรู้ด้านจัดการเกษตรสมัยใหม่ ร่วมกับพันธมิตรทั้งภาคเกษตรกร หน่วยงานภาครัฐ ภาคสถาบันการศึกษา และภาคเอกชนในพื้นที่ ในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะ อาทิ เทคโนโลยีโรงเรือนเพาะปลูกและการบริหารจัดการครบวงจร เพื่อการจัดการการปลูกพืชผักครบวงจรตั้งแต่การผลิตเมล็ดพันธุ์ การเพาะปลูกในโรงเรือน การผลิตสารชีวภาพเพื่อควบคุมโรคพืชและแมลงศัตรูพืชผัก, เทคโนโลยีโรงเรือนอัจฉริยะพร้อมระบบติดตามและควบคุม เพื่อสาธิตและถ่ายทอดการปลูกพืชมูลค่าสูง, เทคโนโลยีระบบการให้น้ำตามสภาวะความต้องการของพืชในระบบแปลงเปิด เพื่อใช้จัดการทรัพยากรน้ำในสวนทุเรียน สวนมังคุด ให้มีประสิทธิภาพและคุ้มค่า โดยถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับเกษตรกร 29 ชุมชน รวมถึงเกษตรกรแกนนำ และ Young Smart Farmer รวม 29 ราย และร่วมพัฒนาศูนย์เรียนรู้เพื่อการขยายผลการถ่ายทอดเทคโนโลยีร่วมกับภาคเอกชนและภาคการศึกษา 3 แห่ง 
 

เสริมแกร่งอุตสาหกรรมฐานชีวภาพ

พร้อมกันนีั้ได้จัดกิจกรรมเตรียมพร้อมรองรับอุตสาหกรรมฐานชีวภาพ ที่มีการพัฒนาและติดตั้งต้นแบบแพลตฟอร์มอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะเพื่อเกษตรสมัยใหม่ในพื้นที่ ได้แก่ ระบบเกษตรแม่นยำ ฟาร์มอัจฉริยะ (Handy Sense) ติดตั้งในฟาร์มเกษตรกรรวม 34 แห่ง, ระบบติดตามแจ้งเตือนสภาพทั้งกายภาพ เคมี และชีวภาพพร้อมระบบเฝ้าระวังและติดตามการระบาดของโรค สำหรับประมงอัจฉริยะ (Aqua IoT) ขยายผลการใช้งานในฟาร์มของผู้ประกอบการเลี้ยงสัตว์น้ำเศรษฐกิจ (กุ้ง และปลา) รวม 15 แห่ง เป็นต้น ซึ่งจะช่วยยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตภาคเกษตรกรในพื้นที่ EEC ให้เทียบเท่ากลุ่มการบริการและภาคอุตสาหกรรม ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม

นอกจากนี้ EECi ยังมีการพัฒนาพื้นที่ในด้านอื่น ๆ อาทิ เมืองนวัตกรรมการบินและอวกาศ (SPACE INNOPOLIS) ที่อยู่ระหว่างดำเนินโครงการ 5G Sandbox ซึ่งเป็นการนำร่องการทดสอบใช้รถยนต์ไร้คนขับ (รถราง) ด้วยเทคโนโลยีระบุตำแหน่งความละเอียดสูง ดำเนินการโดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ สทอภ. ร่วมกับบริษัทพันธมิตร, โครงการจัดสร้างเครื่องกำเนินแสงซินโครตรอน (Sychrotron) ระดับพลังงาน 3 Gev ซึ่งมีวงเงินดำเนินโครงการ จำนวน 9,220 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 7 ปี หรือตั้งแต่ปี 2564 – 2570 ดำเนินการโดยสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ เป็นต้น 

เท่านั้นยังไม่พอ สวทช.มีแผนที่จะขยายพื้นที่ EECi บริเวณวังจันทร์วัลเลย์ เพื่อพัฒนาพื้นที่อยู่อาศัยและสิ่งอำนวยความสะดวกรองรับนักวิจัยและนวัตกรที่จะมาปฏิบัติงานในพื้นที่ โดยมี ปตท. เป็นผู้พัฒนา Community Zone แบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่
            1) International School โดย ปตท. ประกาศผู้ชนะการประมูลการสร้างโรงเรียนนานาชาติเรียบร้อยแล้ว จะเริ่มดำเนินการก่อสร้างภายในปี 2564
            2) Hotel & Apartment เป็นส่วนของที่พักอาศัย
            3) Mixed Use เป็นพื้นที่ใช้สอยสำหรับร้านค้าต่าง ๆ ซึ่งอยู่ระหว่างขอขยายพื้นที่เขตส่งเสริม จำนวน 152 ไร่  

ทั้งหมดทั้งมวลที่เกิดขึ้นและกำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ ก็เพื่อขับเคลื่อนให้ EECiมุ่งหน้าสู่การเป็นระบบนิเวศนวัตกรรมชั้นนำของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่พรั่งพร้อมไปด้วยผลงานวิจัยและนวัตกรรม อันจะนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจและความอยู่ดีกินดีของประชาคมอย่างยั่งยืน