084-ลงทุน-ธุรกิจ-แรงงาน-BOI-EEC

เป้าลงทุน 7.5 แสนล้านบาทวืด บีโอไอหวั่นธุรกิจขาลง-แรงงานสูงวัย

อัปเดตล่าสุด 26 ธ.ค. 2562
  • Share :
  • 650 Reads   

แรงงานสูงวัย-วัฏจักรธุรกิจขาลง ฉุดลงทุน “บีโอไอ” ปี ส่อวืดเป้า 750,000 ล้านบาท “เลขาฯดวงใจ” ฮึดเสริมแกร่งมาตรการพัฒนาบุคลากรปิดช่องโหว่ สปีดมาตรการปีแห่งการลงทุน 2562-Thailand Plus Packageปั๊มยอดขอรับส่งเสริมโค้งสุดท้าย หลังบอร์ดนัดปิดท้ายปีต่อมาตรการ EEC ลงทุนนอกเขตส่งเสริมได้ ลดหย่อนภาษี 50% เพิ่ม 3 ปี ดีเดย์เริ่ม 2 ม.ค. 63-ธ.ค. 64 ส่วนมาตรการ SMEs รอ ก.พ. ปีหน้า
 
ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า ยอดขอรับส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) 9 เดือน (ม.ค.-ก.ย. 2562) มีจำนวน 1,165 โครงการ เพิ่มขึ้น 11% แต่มูลค่าการลงทุนเท่ากับ 314,130 ล้านบาท ลดลง11% ซึ่งเท่ากับว่าในช่วงไตรมาสสุดท้ายจะต้องมีการขอรับส่งเสริมการลงทุน อีก 435,870 ล้านบาท จึงจะถึงเป้าหมายที่วางไว้ 750,000 ล้านบาท

นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากการดึงดูด โรดโชว์ ประชาสัมพันธ์นักลงทุนมาตลอดทั้งปี พบว่าปัญหาและอุปสรรค คือ เรื่องแรงงานเป็นสิ่งที่นักลงทุนกังวลมากที่สุด ด้วยสังคมไทยกำลังเข้าสู่วัยผู้สูงอายุ ดังนั้น ประเทศไทยจึงต้องปรับปรุงโครงสร้าง ตลอดจนสร้างและพัฒนาทักษะแรงงานให้มีคุณภาพขึ้นมา จึงเป็นที่มาในการกำหนดมาตรการลงทุนต่าง ๆ ที่นักลงทุนจะได้สิทธิประโยชน์ จะต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขการพัฒนาบุคลากร รวมถึงมาตรการอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับด้านการศึกษาเข้ามาลงทุนเปิดหลักสูตรการดึงสถาบันชั้นนำเข้ามามีส่วนร่วม

“แต่ทั้งนี้แรงงานก็ไม่ใช่ปัจจัยที่ตัดสินใจไม่มาลงทุน และหากไม่ได้ตามเป้า 750,000 ล้านบาท ก็ต้องยอมรับว่า business cycle มันเกิดขึ้นก็เป็นเรื่องที่ยากในการควบคุม มีเรื่องของเศรษฐกิจเข้ามา ถึงอย่างไรก็มั่นใจว่าโครงการที่เข้ามาเป็นอุตสาหกรรมที่ช่วยพัฒนาประเทศตามที่รัฐบาลต้องการ”

อย่างไรก็ตาม ในช่วงโค้งสุดท้าย บีโอไอยังคงพยายามเร่งให้เกิดการลงทุน โดยเฉพาะการใช้มาตรการปีแห่งการลงทุน 2562 และมาตรการ Thailand Plus Package จะเป็นตัวเร่ง และทั้ง 2 มาตรการมีสถิติการใช้มากที่สุด ซึ่งจะเป็นตัวที่ส่งผลให้ยอดขอรับส่งเสริมการลงทุนปี 2562 ที่ตั้งไว้ 750,000 ล้านบาท เป็นไปตามเป้า

ล่าสุด ที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ซึ่งมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้เห็นชอบให้ต่อมาตรการส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยปรับเงื่อนไขใหม่ คือ เปิดโอกาสให้กิจการเป้าหมายที่อยู่ในกลุ่ม A1 A2 A3 ลงทุนนอกเขตพื้นที่ที่ถูกประกาศเป็นเขตส่งเสริมพิเศษได้ แต่มีเงื่อนไขต้องร่วมกับสถาบันการศึกษา ฝึกอบรม รับนักศึกษาฝึกงานในสัดส่วน 10% ของจำนวนพนักงานที่มี หรือ 40 คน จะได้รับสิทธิประโยชน์ลดหย่อนภาษีรายได้นิติบุคคล 50% เพิ่ม 3 ปี เพิ่มจากสิทธิประโยชน์พื้นฐานที่ได้อยู่แล้ว

เช่น กลุ่ม A1 A2 สิทธิประโยชน์พื้นฐานยกเว้นภาษีแล้ว 8 ปี ลงทุนนอกเขตพื้นที่จะได้ลดหย่อนภาษี 50% เพิ่ม 3 ปี (8+50% 3 ปี) ส่วนกลุ่ม A3 สิทธิประโยชน์พื้นฐานยกเว้นภาษีแล้ว 5 ปี ลงทุนนอกเขตพื้นที่จะได้ลดหย่อนภาษี 50% 3 ปี (5+50% 3 ปี) และกิจการที่อยู่ในหมวด 8 เช่น กิจการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม สิทธิประโยชน์พื้นฐานยกเว้นภาษีแล้ว 10 ปี ลงทุนนอกเขตพื้นที่จะได้ยกเว้นภาษีอีก 2 ปี (10+2 ปี) และหากลงทุนในพื้นที่เขตส่งเสริมเพื่อกิจการพิเศษ 4 แห่ง คือ เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EECi) 

เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (EECd) เมืองการบินภาคตะวันออก (EECa) และศูนย์นวัตกรรมการแพทย์ครบวงจร ธรรมศาสตร์ พัทยา (EECmd) กลุ่ม A1 A2 A3 จะได้ลดหย่อนภาษี 50% เพิ่ม 2 ปีจากสิทธิประโยชน์พื้นฐานที่มีกิจการหมวด 8 จะได้ยกเว้นภาษีอีก 1 ปีจากสิทธิประโยชน์พื้นฐานที่มี และหากลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม/เขตอุตสาหกรรม กลุ่ม A3 และกิจการหมวด 8 จะได้ยกเว้นภาษีอีก 1 ปีจากสิทธิประโยชน์พื้นฐานที่มี นักลงทุนสามารถยื่นขอรับส่งเสริมได้ตั้งแต่วันที่ 2 ม.ค. 2563-ธ.ค. 2564 ยกเว้นโครงการที่จะตั้งในเขตส่งเสริมเพื่อกิจการพิเศษทั้ง 4 แห่ง ไม่กำหนดระยะเวลาสิ้นสุดในการยื่นคำขอ

ขณะที่มาตรการส่งเสริม SMEs ได้ขยายระยะเวลาของมาตรการออกไปถึงสิ้นเดือน ก.พ. 2563 ระหว่างนี้จะต้องหารือกับกระทรวงการคลัง เพื่อปรับปรุงหาสิทธิประโยชน์ด้านภาษี การเงิน อื่น ๆ เพิ่ม ให้ครอบคลุมทั้งภาคเกษตร ท่องเที่ยว และบริการ เพื่อเสนอบอร์ดครั้งถัดไป

“จะเห็นได้ว่าเกณฑ์ใหม่ของมาตรการ EEC คือ เรื่องของที่ตั้ง กับการพัฒนาบุคลากร แต่การได้สิทธิที่ตั้งจะน้อยกว่า เพราะเราต้องการให้เกิดการพัฒนาคน มันเป็นเรื่องที่เรารู้ว่า นักลงทุนเขากังวลมาตลอด ที่ผ่านมาเขาเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนด้วยกัน โดยเฉพาะเวียดนามซึ่งมีแรงงานราคาถูก วัยทำงานมาก เราเลยต้องออกมาตรการเองพัฒนาคนมาช่วย”

ขณะเดียวกัน พื้นที่ EECd ที่จะถูกพัฒนาเป็น Digital Park ยังได้ขยายให้ไม่มีกำหนดระยะเวลาสิ้นสุดในการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุน และยังเปิดให้ประเภทกิจการในกลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัล 20 กิจการ และกิจการอื่นตามที่กำหนดใหม่สามารถลงทุนใน EECd และได้สิทธิประโยชน์ได้ด้วย ตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมได้ขอให้ปรับ