ลุ้นค่าไฟถูกลง 15 สต./หน่วย ปี’65 รอ ปตท.สผ.ผลิตก๊าซ 2 แหล่งราคาถูก

อัปเดตล่าสุด 21 พ.ค. 2562
  • Share :
  • 475 Reads   

‘ศิริ’ ทิ้งทวนผลงาน ชี้ปี’65 คนไทยจ่ายค่าไฟถูกลง 15 สต./หน่วย จากต้นทุนพลังงานถูกลง เหตุปตท.สผ.ชนะประมูล 2 แหล่งก๊าซ-รับซื้อพลังงานทดแทน ด้าน กบง.รับทราบร่างแผนก๊าซ 20 ปี กำหนดปี 80 ใช้ก๊าซผลิตไฟฟ้าเพียง 28% นำเข้าแอลเอ็นจีพุ่ง 23 ล้านตัน

นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2562 ว่า ที่ประชุม กบง.มีมติรับทราบร่างแผนก๊าซ 20 ปี (แก๊สแพลน) ภายใต้แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ 20 ปี (พีดีพี 2018) โดยแผนก๊าซได้ระบุถึงทิศทางค่าไฟฟ้าของไทยตั้งแต่ปี 2565 จะถูกลง 15 สตางค์ต่อหน่วย จากปัจจุบันค่าไฟฟ้าฐานอยู่ที่ 3.62 บาทต่อหน่วย เนื่องจากปีดังกล่าวบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ.ซึ่งชนะประมูล 2 แหล่งก๊าซอ่าวไทย คือ บงกชและเอราวัณ จะได้สิทธิผลิตก๊าซธรรมชาติ โดยปตท.สผ.เสนอราคาก๊าซที่ถูกลงทำให้ค่าไฟที่ประชาชนต้องจ่ายถูกลงด้วย นอกจากนี้ค่าไฟที่ถูกลงยังมาจากการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนต่างๆ อาทิ การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์เซลล์)


นายศิริกล่าวว่า ทั้งนี้ในรายละเอียดของแผนก๊าซ 20 ปี ยังกำหนดให้ปลายแผนคือปี 2580 ไทยจะใช้ก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้าเพียง 28% จากปริมาณเชื้อเพลิงทั้งหมด คิดเป็นปริมาณ 5,500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน จากปีนี้ใช้ก๊าซฯ ผลิตไฟฟ้า 60-62% จากปริมาณเชื้อเพลิงทั้งหมด คิดเป็นปริมาณ 5,000 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งก๊าซฯ ดังกล่าวจะมาจากอ่าวไทย บนบก และนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน นอกจากนี้ปี 2580 ไทยจะนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) จำนวน 23 ล้านตัน โดยหลังจากนี้ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) จะไปรับฟังความคิดเห็นประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียทั่วประเทศ และจะนำกลับมาพิจารณาใน กบง.อีกครั้ง เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) พิจารณาบังคับใช้ภายใต้แผนพีดีพี 2018 ต่อไป


นายศิริกล่าวว่า นอกจากนี้ กบง.ยังรับทราบความคืบหน้าการคัดเลือกผู้จำหน่ายก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) 1.5 ล้านตันต่อปีให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ตามมติกพช.ที่มีมติให้ กฟผ.เป็นผู้นำเข้าแอลเอ็นจีรายที่ 2 ต่อจากบริษัท ปตท.จำกัด (มหา ชน) ที่ปัจจุบันเป็นผู้นำเข้ารายแรกรายเดียวของประเทศ มีสัญญาซื้อขายระยะยาวรวม 5.2 ล้านตันต่อปี โดย กบง.ได้สั่งการให้ กฟผ.หารือกับปตท. ถึงขั้นตอนและปริมาณที่เหมาะสมในการนำเข้าแต่ละช่วง เพื่อไม่ให้กระทบกับการนำเข้าของ ปตท. เพราะ ปตท.ถือเป็นผู้นำเข้าหลักที่มีความสำคัญส่งผลต่อความมั่นคงทางพลังงาน หลังจากนั้นให้นำข้อสรุปไปหารือกับคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ตามนโยบายการเปิดให้บุคคลที่สามเข้าใช้ท่อก๊าซ (ทีพีเอ โค้ด) และให้ กกพ.รายงานต่อ กพช.เพื่อพิจารณาภายใน 2 สัปดาห์หลังจากนี้


แหล่งข่าวกล่าวว่า ผลการคัดเลือกผู้จำหน่ายแอลเอ็นจี 1.5 ล้านตันต่อปีให้ กฟผ. เบื้องต้น คณะทำงานได้พิจารณาคัดเลือกให้ปิโตรนาสแอลเอ็นจีประเทศมาเลเซียเป็นผู้ชนะการประมูล