“สมคิด” จี้กระทรวงอุตฯห้ามเกียร์ว่าง เร่งเครื่องเกษตรแปรรูป ส่งไม้ต่อทีมเศรษฐกิจใหม่ดึงนักลงทุนญี่ปุ่น

อัปเดตล่าสุด 20 มิ.ย. 2562
  • Share :
  • 399 Reads   

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม ว่า แม้ขณะนี้ยังไม่มีรัฐมนตรี แต่งานกระทรวงฯ ต้องเดินหน้าต่อ โดยเฉพาะเร่งเรื่องหลักอย่าง เกษตรอุตสาหกรรม ให้เป็นเรื่องหลักที่ต้องดูแลจริงจัง เพิ่มมูลค่าจากพืชนำมาแปรรูปส่งป้อนให้กับบริษัทใหญ่เพื่อเข้าสู่ตลาด
ขณะเดียวกันต้องทำงานบูรณาการกับ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธกส.) โดยไปต่อยอดโครงการ, ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME BANK) ที่ต้องดูแลรากหญ้า คนตัวเล็กด้วยการมีสินเชื่อมาหนุนช่วย

ขณะนี้เดียวกันเร่งสนับสนุนให้ภาคอุตสาหกรรมนำเทคโนโลยี IoT เข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต โดยให้สินเชื่ออัตราดอกเบี้ยพิเศษกับ SMEs ที่มีการปรับเปลี่ยนนำระบบเหล่านี้มาใช้ เช่นเดียวกับ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ที่ต้องปรับตัวมาแข่งขันกับเอกชน ที่ขณะนี้ผู้นำคือ WHA และ อมตะ

“กระทรวงอุตสาหกรรม ต้องเปลี่ยนแปลงทั้งการบริหารยุคใหม่ให้ทันประเทศเพื่อนบ้าน เมื่อแต่งตั้ง ครม.ได้แล้วเสร็จ จะเร่ิมเดินหน้าบริหารได้เต็มที่ จึงต้องการให้ทุกหน่วยงาน ทั้งสถาบันอาหาร สถาบันการศึกษา และหน่วยงานต่างๆ เตรียมรับมือต่อการเปลี่ยนแปลง หลายกรมของกระทรวงอุตสาหกรรม ควรปรับหน่วยงานระดับภาค รองรับให้เพียงพอในแต่ละภูมิภาคในการดูแลภาคเกษตร อีกทั้ง การเดินทางไปเยือนญี่ปุ่น คราวหน้าต้องมีความคืบหน้าเกี่ยวกับนโยบาย Open Innovation Columbus เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการรายใหม่สตาร์ทอัพที่ทางกระทรวงฯเมติ ได้เคยร่วมมือกันไว้ และจะต้องใช้ Thailand Cyberport ที่ต้องเปลี่ยนชื่อจาก InnoSpace เป็นตัวขับเคลื่อน”

นายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า งานของกระทรวงฯ ได้วางนโยบายและแผนงานไว้ทั้งหมดแล้วกับ โดยแต่ละกรมเดินหน้าตามแผน

นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรรม (กสอ.) กล่าวว่า การผลักดันเกษตรอุตสาหกรรม จะเริ่มนำเรื่องสินค้าบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) 99 โครงการดึงขึ้นมาเพื่อส่งเสริมจริงจัง และยังคงสานต่อหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (CIV)เพื่อให้ชุมชนพัฒนาผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตรแปรรูปให้มารายได้ เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวในชุมชน และร่วมมือกับตลาดออนไลน์อย่างอาลีบาบา Amazon เป็นช่องทางขาย รวมถึงจับมือบริษัทประชารัฐรักสามัคคี เอกชนรายใหญ่ ร่วมช่วยกันดูแลเกษตรกรแปรรูป และช่วยรับซื้อสินค้าจากชุมชน และช่วยส่งเสริมด้านการตลาด และสถาบันอาหาร เข้ามาช่วยปรับปรุงพัฒนาอาหารชุมชน