NIA ชู “การทูตนวัตกรรม” เครื่องยนต์ใหม่ดันไทยสู่ “อินโนเวชั่นเนชั่น” ปักธง 3 เป้าหมายพัฒนานวัตกรรมไทยควบคู่ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

อัปเดตล่าสุด 21 ธ.ค. 2561
  • Share :
  • 334 Reads   

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ลงนามความร่วมมือกับกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงต่างประเทศ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการนวัตกรรมไทยให้มีโอกาสก้าวสู่ระดับสากล พร้อมเปิดแนวคิด “การทูตนวัตกรรม หรือ Innovation Diplomacy” เพื่อนำความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมาช่วยขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวสู่การเป็นประเทศแห่งนวัตกรรม หรือ Innovation Nation โดยตั้งเป้าหมายใน 3 ด้าน คือ การสร้างเครือข่ายในกลุ่มองค์กรรัฐและองค์กรนานาชาติที่มีหน้าที่คล้ายคลึงกัน การเชื่อมโยงกับนักลงทุนที่สนใจการทำธุรกิจนวัตกรรมกับภาคเอกชนไทย และการเพิ่มพูนศักยภาพในการแข่งขันระดับสากลให้แก่ภาคธุรกิจนวัตกรรมด้วยการสรรหาความร่วมมือกับนักทุนและบริษัทข้ามชาติมาร่วมลงทุนและจัดตั้งธุรกิจกับสตาร์ทอัพไทย
 
ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา NIA จะเน้นการเป็นศูนย์กลางในด้านการพัฒนาระบบนวัตกรรม การให้คำปรึกษา และการให้ทุนสนับสนุน ซึ่งในก้าวต่อไป NIA เล็งเห็นความสำคัญในการขยายบทบาทในการเป็น “สะพานเชื่อม” ระหว่างหน่วยงานพันธมิตร นวัตกร และผู้ประกอบการ โดยมีองค์ความรู้ การสร้างระบบนิเวศ ไอเดียทางธุรกิจ การเผยแพร่แนวคิดการพัฒนานวัตกรรมแบบเปิด รวมถึงโอกาสใหม่ๆ มาใช้ต่อยอดคุณค่าและมูลค่าทางเศรษฐกิจร่วมกัน นอกจากนี้ การปรับบทบาทดังกล่าวยังจะช่วยส่งเสริมการเติบโตทางนวัตกรรมในระดับภูมิภาค การเข้าถึงทรัพยากรและการบริการ ลดอุปสรรคในด้านโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น ตลอดจนขยายผลความร่วมมือไปสู่กิจกรรมเป้าหมายอื่นที่เกี่ยวข้องได้อย่างมีนัยสำคัญ
 
ดร.พันธุ์อาจ กล่าวต่อว่า เพื่อให้บทบาทและแนวนโยบายดังกล่าวเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น ล่าสุด NIA จึงได้พัฒนากรอบแนวคิด “การทูตนวัตกรรม” ขึ้น โดยอาศัยพื้นฐานความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์กับหน่วยงานที่มีศักยภาพทางนวัตกรรมทั่วโลกมายกระดับความเป็นสากลของนวัตกรรมไทย และพัฒนาภาพลักษณ์ประเทศให้ก้าวสู่การเป็น “ประเทศแห่งนวัตกรรม” ในสายตาของประชาคมโลก โดยภายใต้บริบทการพัฒนา “การทูตนวัตกรรม” NIA ได้กำหนดกรอบการดำเนินงานวิเทศสัมพันธ์ออกเป็น 4 ขั้นตอน ได้แก่ การสำรวจและสื่อสารผ่านข้อมูล เพื่อนำไปสู่การมองหาโอกาสการพัฒนาความร่วมมือ การโน้มน้าวและส่งเสริม ด้วยการสื่อสารเชิงลึกและการสร้างความเชื่อถือ เพื่อมองหาโอกาสและประโยชน์ร่วมกันบนฐานความร่วมมือที่พัฒนา การปลูกฝังและสร้างความร่วมมือ ซึ่งอาจอยู่ในลักษณะข้อตกลงความร่วมมือในลักษณะ MOU หรือการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมร่วมกัน และการกระตุ้นและขยายผลไปสู่วงกว้าง หรือไปสู่กลุ่มเป้าหมายอื่นที่เกี่ยวข้องเพื่อต่อยอดเชิงคุณค่าและมูลค่า และผลักดันนวัตกรรมให้เป็นที่ยอมรับมากขึ้น
 
ดร.พันธุ์อาจ กล่าวเพิ่มเติมว่า ตามกรอบยุทธศาสตร์ NIA ในช่วง พ.ศ. 2560–2565 NIA ยังได้ดำเนินการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยมุ่งเป้าหมายใน 3 ด้าน คือ 1) การสร้างเครือข่ายในกลุ่มองค์กรรัฐและองค์กรนานาชาติที่มีหน้าที่คล้ายคลึงกัน (Government-to-Government หรือ G2G) โดยเป็นความร่วมมือกับองค์กรรัฐที่มีบทบาทและภารกิจคล้ายกับ NIA และองค์กรนานาชาติที่มีความสำคัญในการแพร่กระจายองค์ความรู้ผ่านเครือข่าย ตลอดจนการพัฒนากรอบความคิดต่างๆ เพื่อสนับสนุนให้เกิดการสร้างภาพลักษณ์ของประเทศไทยในการเป็น “ประเทศแห่งนวัตกรรม” เช่น ความร่วมมือกับ Israel Innovation Authority (IIA) เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการที่มีการพัฒนาเทคโนโลยีร่วมกันระหว่างบริษัทไทยและบริษัทอิสราเอล ความร่วมมือกับองค์การทรัพย์สินทางปัญญาแห่งโลก หรือ WIPO ซึ่งเป็นหน่วยงานในการจัดทำดัชนีนวัตกรรมระดับโลก เพื่อหาแนวทางการพัฒนาและปรับปรุงดัชนีนวัตกรรมของประเทศให้สูงขึ้น และความร่วมมือในการพัฒนาศักยภาพทางนวัตกรรมในระดับเยาวชน และนวัตกรรมเชิงสังคมร่วมกับกับโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) 2) การเชื่อมโยงกับนักลงทุนที่สนใจการทำธุรกิจนวัตกรรมกับภาคเอกชนไทย (Government-to-Investor หรือ G2I) ด้วยการทำอย่างอย่างใกล้ชิดกับสถานเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทย สถานเอกอัครราชทูตประจำประเทศต่างๆ และองค์กรต่างประเทศ เพื่อให้เกิดการถ่ายทอดความรู้ เทคโนโลยี ตลอดจนการสนับสนุนให้เกิดการจับคู่ทางธุรกิจ และ 3) การเพิ่มพูนศักยภาพในการแข่งขันระดับสากลให้แก่ภาคธุรกิจนวัตกรรม (Government-to-Startup หรือ G2S) ด้วยการประสานความร่วมมือกับบริษัทข้ามชาติ เพื่อให้เกิดการค้นหาศักยภาพความเป็นผู้ประกอบการ การพัฒนาองค์ความรู้ และการสร้างตลาดสำหรับการเติบโตของสตาร์ทอัพไทย
 
สำหรับกรอบความร่วมมือที่ลงนามในวันนี้ จะเน้นให้เกิดการส่งเสริมผู้ประกอบการนวัตกรรมไทยสู่ระดับสากล โดยผ่านกลไก “การทูตนวัตกรรม” โดยจะมีการหารือเพื่อกำหนดเป้าหมาย แผนกลยุทธ์ และกิจกรรมการดำเนินงานร่วมกัน ทั้งนี้ NIA จะเป็นผู้ให้คำปรึกษาแก่ผู้ประกอบการในการพัฒนาความสามารถทางนวัตกรรม และให้การสนับสนุนด้านการเงินแก่ผู้ประกอบการในการพัฒนานวัตกรรมทั้งด้านสินค้าและบริการที่ตอบสนองต่อความต้องการในระดับสากลตามนโยบาย ระเบียบ และหลักเกณฑ์ของNIA เพื่อส่งให้กับกระทรวงต่างประเทศในการส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการดังกล่าวให้สามารถก้าวสู่ระดับสากลผ่านกลไกทางการทูตต่อไป โดยมีกรอบความร่วมมือ 3 ปี