TDRI ชี้ EEC ผลงานเด่นรัฐบาลประยุทธ์ (1) ควรสานต่อ

อัปเดตล่าสุด 19 ก.ค. 2562
  • Share :
  • 2,557 Reads   

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ประเมินผลงานรัฐบาล ด้านการสร้างความมั่งคั่งของประเทศไทย ภายใต้นโยบาย Thailand 4.0 ที่เน้นเศรษฐกิจบนฐานเทคโนโลยีและนวัตกรรม ชี้ชัดหนึ่งในผลงานเด่นคือ EEC ที่เปรียบเสมือนเสาหลักของรัฐบาลในการยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยควบคู่ไปกับการส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย จากเดิมที่มุ่งเน้นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน หรือ SEZ 10 แห่ง แต่ยังไม่ถือว่าประสบความสำเร็จ รัฐบาลจึงได้ออก พรบ. เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561 และ พรบ. การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย พ.ศ. 2561 เพื่อทำให้เกิดความต่อเนื่องของนโยบายและความเชื่อมั่นของการลงทุน
 

ผลงานดำเนินงานที่ปรากฏเป็นรูปธรรมของ EEC มีดังนี้ 

        1. การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน  และท่าเรือมาบตาพุด ระยะที่ 3 ช่วงที่ 1 คาดว่าจะเซ็นสัญญาได้เร็วๆ นี้ ขณะที่สนามบินอู่ตะเภา และท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณา

        2. สามารถดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ปี 2558-2561ได้ดี  โดยมีมูลค่าการลงทุนของโครงการที่ได้รับอนุมัติการลงทุนรวม 1.014 ล้านล้านบาทในพื้นที่ EEC และ 1.110 ล้านล้านบาทในอุตสาหกรรมเป้าหมาย

โดยส่วนใหญ่ยังลงทุนในอุตสาหกรรมเดิมที่ไทยมีฐานอยู่ก่อน ได้แก่
          ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์                               20 %
          ยานยนต์และชิ้นส่วน                                     9 %
          การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ                8 %
          เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์                7 %

       3. เร่งการลงทุนใน New S-Curve เช่น อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ และอุตสาหกรรมการบินเพิ่มมากขึ้น โดยอุตสาหกรรมการบินความสำเร็จในช่วงแรกอยู่ที่ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO) ซึ่งอยู่ในช่วงการเจรจาระหว่างการบินไทยและแอร์บัส

       4. กำหนดมาตรการดึงดูดแรงงานทักษะสูงจากต่างชาติเป็นครั้งแรกในไทย โดยเฉพาะสมาร์ทวีซ่า และการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จากแรงงานทักษะสูงที่มีคุณสมบัติตามที่กำหนด 17%  ช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานทักษะสูงได้ในระยะสั้น

       5. ดึงดูดให้มหาวิทยาลัยระดับโลกเข้ามาตั้งในไทยได้สำเร็จ โดยเฉพาะมหาวิทยาลัย CMKL สถาบันร่วมระหว่างมหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอนกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง โดยเปิดรับนักศึกษารุ่นแรกในปีการศึกษา 2561 ในหลักสูตรระดับปริญญาโท สาขาวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ และสาขาวิศวกรรมซอฟท์แวร์ และหลักสูตรระดับปริญญาเอก สาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ รวมถึงการเปิดให้บางคณะของมหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน (NTU) เข้ามาเปิดสอนในไทย

      6. รัฐบาลร่วมมือกับญี่ปุ่นในการพัฒนาวิศวกรคุณภาพสูง ภายใต้หลักสูตร  KOSEN นับเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการผลิตแรงงานทักษะสูงที่จำเป็นต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศไทย แม้ว่าจำนวนบัณฑิตที่สถาบันต่างๆ จะผลิตได้ในช่วงเริ่มแรกจะยังน้อยมากก็ตาม
       
ทั้งนี้ TDRI ยืนยันรัฐบาลใหม่ควรสานต่อโครงการ EEC ต่อไป 

สนับสนุนบทความโดย :  สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.)    www.eeco.or.th