“อุตตม” ย้ำ! ไม่อยากถอยหลังต้องปรับตัว เพิ่มกำลังคน-เทคโนโลยี เชื่อมโยง EEC สู่ภูมิภาค

อัปเดตล่าสุด 13 พ.ย. 2561
  • Share :
  • 336 Reads   

“อุตตม” ย้ำหากไม่อยากให้ประเทศถอยหลังต้องปรับตัว พึ่งเทคโนโลยี พัฒนากำลังคน และขับเคลื่อนอีอีซีเชื่อมโยงภูมิภาค 

เมื่อเวลา 09.25 น. วันที่ 12 พฤศจิกายน นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนาเรื่อง Transform เศรษฐกิจไทย ก้าวไกลสู่อนาคต ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ซึ่งจัดโดยหนังสือพิมพ์มติชนว่า การเลือกตั้งที่มีขึ้นทุกคนคงต่างมองไปข้างหน้าว่าประเทศไทยจะเดินไปอย่างไร ซึ่งการที่ประเทศไทยจะ Transform ได้ต้องอาศัยพลังจากทุกภาคส่วน ทุกช่วงอายุ เพื่ออนาคตของประเทศ เชื่อว่าทุกคนอยากเห็นประเทศปรับเปลี่ยน ตอนนี้กระบวนการปรับเปลี่ยนเริ่มแล้ว อย่างการเดินหน้า 5G ก็เริ่มแล้ว อย่างสถานการณ์เศรษฐกิจมีความสำคัญ เพื่อให้สามารถแข่งขัน ค้าขายกับประเทศอื่นได้ เพราะฉะนั้น Transform เพื่อยกระดับ ถ้าเราเปลี่ยนได้เราก็ต่อไปได้ ถ้าเราย่ำที่เดิมคนอื่นจะแซง และจะถอยหลัง ซึ่งตอนนี้ไทยมีความพร้อมพร้อมทั้งเศรษฐกิจเพื่อเดินหน้าไปข้างหน้า มีการกระจายความมั่งคั่งเศรษฐกิจ และมีการใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์สูงสุด

นายอุตตมกล่าวว่า ตอนนี้ไทยมีความโดดเด่นในเวทีโลก เพราะเมื่อเร็วๆ นี้ผมมีโอกาสขึ้นเวทีประชุมอาเซียนด้านโครงสร้างพื้นฐานที่ประเทศสิงคโปร์ ได้ฉายภาพการ Transform ของไทย และได้คุยกับทูตหลายประเทศได้ หารือถึงแนวทางการเดินหน้าของไทย อย่างสหภาพยุโรป (อียู)ก็ จับตาไทยอยู่ ซึ่งการ Transform จะเป็นโอกาสของไทย ซึ่งไทยต้องดูว่าจะสร้างหุ้นส่วนกับประเทศภูมิภาคต่างๆ อย่างไร ซึ่งในการทำธุรกิจนั้น คนรุ่นใหม่สามารถเข้ามาคุยกันและสร้างสิ่งใหม่ๆ ได้ ซึ่งไทยมีโอกาสแล้ว ต้องก้าวไปไม่ควรนิ่งหรือถอยหลัง

ทั้งนี้ไทยแลนด์ 4.0 ที่ต้องก้าวไปข้างหน้า มีสังคมไทยที่ตื่นรู้ คนไทยต้องชัดเจน จะเตรียมคน การศึกษาอย่างไรให้พร้อมกับศตวรรรษที่ 21 ขณะที่เศรษฐกิจต้องมีโครงสร้างในการขับเคลื่อน อย่างภาพใหญ่ที่กำลังเกิดขึ้นคือเทคโนโลยี การเปลี่ยนขั้วของการเมืองโลก ซึ่งไทยควรมีการเศรษฐกิจที่เสริมแกร่ง จากโครงสร้างเดิมที่ใช้การส่งออกเป็นหัวใจหลัก จากนี้เราต้องสร้างความเข้มแข็งในประเทศ ควรดูว่าเราจะผลิตสินค้าอะไร และเมื่อเศรษฐกิจเราดีเราจะเดินหน้าแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ให้คนไทยเข้าถึงโอกาสได้จริงๆ ซึ่งเศรษฐกิจไทยจะต้องไม่รับจ้างผลิตของ แต่เป็นเศรษฐกิจที่สามารถผลิตสินค้าของเราเอง ตอบโจทย์ได้ อย่างไรก็ตามอย่าคิดว่าจะออกไปจากเกษตรเพื่อเข้าสู่อุตสาหกรรมและบริการ กลับกันควรใช้จุดเด่นภาคเกษตรของไทยเข้าไปต่อยอด ใช้เทคโนโลยีผสมผสานอย่างลงตัว จะทำให้ภาคเกษตรไทยยกระดับ แก้ปัญหาความยากจน ยกระดับขีดความสามารถและไม่ยอมแพ้ธรรมชาติ โดยวันนี้มีแนวทาง มีเทคโนโลยี ลดทอนผลกระทบจากธรรมชาตินั้น นอกจากนี้ต้องยกระดับตลาด การผลิต การเพิ่มมูลค่า และถอยมาต้นทางว่าจะปลูกจะเพาะอย่างไร

อีกตัวอย่างที่รัฐบาลกำลังสนับสนุนให้เห็นภาพชัดเจนคือ การสนับสนุนอุตสาหกรรมไบโอชีวภาพ โดยนำเกษตรต้นทางไปสู่สินค้าคุณภาพสูง เพราะไทยมีวัตถุดิบพร้อม หลายประเทศแสดงความสนใจเข้ามาลงทุน เพราะไทยมีความพร้อมเรื่องพื้นที่ คน วัตถุดิบทางการเกษตร ดังนั้นไทยต้องเตรียมพร้อม อีกภาคที่สำคัญคือการผลิต เราจะใช้เทคโนโลยีเข้าช่วยอย่างไร เรามีวิทยากรที่พร้อมจะช่วยเหลือหากไทยมีเป้าหมาย แผนชัดเจน อย่างไรก็ตามหากไทยไม่เน้นเทคโนโลยีทั้งยกระดับของเก่า และสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ไทยจะสู้ประเทศอื่นไม่ได้ จะทำให้เศรษฐกิจไทยอ่อนกำลังลง

นอกจากนี้ในด้านกำลังคน มี 2 เรื่องสำคัญคือ เราต้องเติมเต็มศักยภาพของคนไทย และเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่เศรษฐกิจ 4.0 โดยกลุ่มที่ไทยต้องสนับสนันคือ ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ หรือ Startup ซึ่งกลุ่มนี้อาจไม่ใช่เด็กรุ่นใหม่ แต่อาจหมายถึงกลุ่มคนที่มีประสบการณ์แล้วออกจากงานมาทำอะไรใหม่ สำหรับผม Startup ไม่ใช่แค่ผู้ประกอบการที่ใช้เทคโนโลยีหรือเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แต่ผมหมายถึงการเริ่มสิ่งใหม่ๆ ในทุกด้านและทุกกลุ่มอายุ อาจมีการนำ 5G มาใช้ประโยชน์สูงสุด อีกกลุ่มคือผู้ประกอบการรายย่อยทุกคน (เอสเอสเอ็มอี และเอสเอ็มอี) ทั่วประเทศ 5 ล้านราย แต่มีตัวตนลงทะเบียนเพียง 6 แสนราย คำถามคือเอสเอ็มอีไทยพร้อมหรือไม่ เรื่องนี้รัฐบาลต้องสนับสนุน อย่างปัจจุบันกระทรวงการคลังมีการสนับสนุนเอสเอ็มอีให้ทำบัญชีเดียว เพื่อให้เข้าถึงสินเชื่อ

ทางกระทรวงอุตสาหกรรม มีการจัดตั้งศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม (ไอทีซี) มีเทคโนโลยีให้เอสเอ็มอีได้ทดลองใช้งานฟรี เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ต้องการต่อยอดการผลิต อีกกลุ่มคือผู้ประกอบการที่ล้มและต้องการก้าวต่อไป ดังนั้นเทคโนโลยีและคนจึงเป็นปัจจัยสำคัญ ขณะเดียวกันการลงทุนก็มีส่วนในการช่วยผลักดันไทยแลนด์ 4.0 โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ รถไฟขนทั้งคนและสินค้าต่างๆ ถนนเส้นต่างๆ ซึ่งไทยมีการลงทุนเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ถือเป็นแรงกระตุ้นสำคัญ ที่ไม่เจาะจงแค่ 3 จังหวัดในภาคตะวันออก และมุ่งลงทุนในทุกภาค ทั้งการศึกษา สาธารณสุข ไม่ได้มุ่งแต่อุตสาหกรรม ซึ่งผมเพิ่งเดินทางไปจังหวัดนครสวรรค์ มีวัตถุดิบสำคัญทั้งอ้อยและน้ำตาล อีสานขอนแก่นก็มีวัตถุดิบ

“เพราะฉะนั้นตอนนี้ถึงเวลาแล้วที่ไทยควรเดินหน้า เพราะปีหน้าไทยจะเป็นประธานการประชุมอาเซียน นโยบายต้องยึดโยงกับประเทศต่างๆในภูมิภาค สุดท้ายประเทศไทยต้องเชื่อมโยงกันทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะการเมือง เศรษฐกิจ สังคม การศึกษา เพื่อผลักดันประเทศไทยไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 เป็นการ Transform ครั้งสำคัญ” นายอุตตมกล่าว