“จุรินทร์” ถกรัฐมนตรีอาเซียน-ลงนามเอกสารความร่วมมือ 12 ฉบับ

อัปเดตล่าสุด 5 ก.ย. 2562
  • Share :
  • 482 Reads   

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบให้นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ เป็นผู้ลงนามในเอกสาร 2 ฉบับ ในการประชุมรัฐมนตรีอาเซียน ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ระหว่างวันที่ 5-10 กันยายน ได้แก่
 
1.ข้อตกลงยอมรับร่วมผลการตรวจสอบและรับผิดชอบผลิตภัณฑ์ยานยนต์ของอาเซียน (ASEAN Mutual Recognition Arrangement on Type Approval for Automotive Products)

2.ร่างพิธีสารว่าด้วยกลไกระงับข้อพิพาทด้านเศรษฐกิจของอาเซียน (ASEAN Protocol on Enhanced Dispute Settlement Mechanism)

และเมื่อลงนามแล้วจะต้องส่งให้รัฐสภาพิจารณาให้เห็นชอบข้อตกลงฯ และพิธีสารฯ ก่อนแสดงเจตนาให้มีผลผูกพันต่อไป เพราะทั้งสองเรื่องเข้าข่ายเป็นหนังสือสัญญาที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคม หรือการค้า หรือการลงทุนของประเทศอย่างกว้างขวางตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญ จึงจำเป็นต้องเสนอให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบ

ทั้งนี้ ร่างข้อตกลงฯ เป็นการให้สิทธิประเทศสมาชิกแต่งตั้งหน่วยบริการทางเทคนิคในการทำหน้าที่ตรวจสอบ และรับรองผลิตภัณฑ์ยานยนต์และชิ้นส่วน เพื่อยื่นขอขึ้นบัญชีกับคณะกรรมการยานยนต์ของอาเซียน ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกในการยอบรับรายงานผลการทดสอบผลิตภัณฑ์ยานยนต์ของอาเซียนซึ่งกันและกัน รวมถึงการยกระดับการค้าของอาเซียนด้วย

ในขณะที่ร่างพิธีสารฯ เป็นการปรับปรุงหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวกับการระงับข้อพิพาทด้านเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นระหว่างประเทศอาเซียนให้ทันสมัย และมีความชัดเจนมากขึ้น สอดคล้องกับหลักการขององค์กรการค้าโลก กลไกประกอบด้วย 1) การปรึกษาหารือ 2) การประสานท่าที การประนอม การไกล่เกลี่ยข้อพิพาท 4) การตั้งคณะผู้พิจารณาประเมินประเด็นข้อพิพาท การตรวจสอบข้อเท็จจริง 4) กระบวนการอนุญาโตตุลาการ

มากไปกว่านั้น ครม.ยังรับรองร่างเอกสาร 10 ฉบับ คือ

1. ร่างแผนการดำเนินงานตามกรอบบูรณาการด้านดิจิทัลของอาเซียนปี 2562-2568 (ASEAN Digital Integration Framework Action Plan 2019-2015)

2. ร่างแนวทางการพัฒนาแรงงานมีทักษะ/ผู้ประกอบวิชาชีพเพื่อรับมือกับการปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4 (Guideline on Skilled Labor/Professional Service Development in Response to the Fourth Industrial Revolution)

3. ร่างปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการปรับเปลี่ยนอุตสาหกรรมอาเซียนไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 (ASEAN Declaration on Industrial Transformation to Industry 4.0)

4. ร่างแนวทางในการส่งเสริมการใช้ดิจิทัลสำหรับผู้ประกอบการรายย่อยอาเซียน (Policy Guideline on Digitalization of ASEAN Micro Enterprises)

5. ร่างการปรับปรุงข้อบทว่าด้วยระเบียบวิธีการปฏิบัติด้านหนังสือรับรองท้องถิ่นกำเนิดสินค้าเพื่อรองรับระบบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าของอาเซียน (Amended ATIGA Operation Certification Procedure to aloe for ASEAN-wide- self-Certification Scheme)

6. ร่างปรับปรุงรับรองหนังสือถิ่นกำเนิดสินค้าของอาเซียน (Amended Co From D)

7. ร่างขอบเขตการดำเนินงานของการทบทวนความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน (TOR: General Review of the ASEAN Trade in Goods Agreement)

8. ร่างแผนร่วมมือระหว่างอาเซียนกับคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจยูเรเซีย (Programme of Cooperation between the Eurasian Economic Commission and the Association of Southeast Asian Nation for 2019-2020)

9. ร่างแผนงานเพื่อยกระดับการเจรจาความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ (AANZFTA FJC Work Plan for the Upgrade AANZFTA)

10. ร่างแถลงการณ์ของรัฐมนตรีครบรอบ 10 ปี ความสัมพันธ์อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ (Ministerial Statement on the 10th Year Anniversary of the AANZFTA)

ซึ่งร่างเอกสารทั้ง 10 ฉบับนี้ เป็นการปรับเกี่ยวกับเรื่องต่าง ๆ เช่น การอำนวยความสะดวกทางการค้าแบบไร้รอยต่อ การเป็นศูนย์กลางด้านอุตสาหกรรมยุค 4.0 การปรับปรุงข้อบทว่าด้วยระเบียบวิธีปฏิบัติด้านหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า และแผนงานความร่วมมือหรือการเจรจาระหว่างกลุ่มอาเซียนกับกลุ่มประเทศอนุภูมิภาค ประโยชน์ที่จะได้คือ

1. ประเทศอาเซียนได้เตรียมความพร้อมในการรับมือและใช้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี
2. กฏระเบียบเกี่ยวกับการค้าได้รับการปรับปรุงให้ทันสมัย ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายและขั้นตอนการดำเนินงานให้กับผู้ประกอบการ
3. ประสานความร่วมมือกับประเทศนอกภูมิภาค เพื่อขยายตลาดการค้าและการลงทุน รวมถึงการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้

ในทางกลับกัน หากไม่มีการดำเนินการดังกล่าว ประเทศไทยและอาเซียนอาจสูญเสียขีดความสามารถทางการแข่งขันในการเป็นศูนย์กลางการค้าการลงทุนให้กับภูมิภาคอื่น

อาเซียนแสดงเจตนารมณ์ร่วม รับมือผลกระทบที่เกิดจากอุตสาหกรรม 4.0 และขยายความร่วมมือเศรษฐกิจกับประเทศยูเรเซีย

น.ส.รัชดา กล่าวเพิ่มเติมว่า ร่างปฎิญญาฯ ดังกล่าว เป็นการแสดงเจตนารมณ์ร่วมของประเทศสมาชิกอาเซียนเพื่อรับมือต่อผลกระทบที่เกิดขึ้นจากอุตสาหกรรม 4.0 โดยมุ่งให้เกิดสภาพแวดล้อมที่เสรีและเหมาะสม ส่งเสริมการเติบโตและใช้เทคโนโลยี และนวัตกรรมอย่างมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ให้ความสำคัญกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และยกระดับศักยภาพการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรม พัฒนาองค์ความรู้และทักษะวิชาชีพที่จำเป็นสำหรับโรงงานอุตสาหกรรมอัจฉริยะและห่วงโซ่มูลค่าเพิ่มดิจิทัล กระตุ้นให้เกิดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เกียวข้องกับอุตสาหกรรม 4.0 เช่น อินเตอร์เน็ตในทุกสรรพสิ่ง (IOT) ฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) เทคโนโลยีบนคราวน์

สำหรับร่างแผนร่วมมือระหว่างอาเซียนกับคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจยูเรเซีย (Programme of Cooperation between the Eurasian Economic Commission and the Association of Southeast Asian Nation for 2019-2020) ซึ่งเป็นอีกฉบับหนึ่งที่จะมีการลงนามในการประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนนี้ กลุ่มเศรษฐกิจยูเรเซียแม้ยังไม่เป็นที่คุ้นหูของคนไทยมากนัก แต่หากคนไทยตื่นตัวและได้ทำการศึกษาก็จะเห็นโอกาสในการทำธุรกิจและการลงทุนอย่างมาก กลุ่มเศรษฐกิจยูเรเซียประกอบด้วย 5 ประเทศ คือ เบลารุส คาซัคสถาน คีร์กีซสถาน อาร์มีเนีย และรัสเซีย ถ้าสามารถทำข้อตกลงทางเศรษฐกิจระหว่างสองภูมิภาคได้ จะเป็นโอกาสดีของประเทศไทยสำหรับการส่งออกสินค้าประเภทอุปกรณ์ชิ้นส่วนรถยนต์ อาหาร ผลิตภัณฑ์การเกษตร สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม และจะเปิดโอกาสการนำเข้าสินค้าประเภทสินแร่โลหะและผลิตภัณฑ์โลหะมากขึ้น ส่วนร่างแผนการดำเนินงานฯ ครอบคลุมการดำเนินงาน 6 ด้านได้แก่ (1) การอำนวยความสะดวกทางการค้าแบบไร้รอยต่อ (2) การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลพร้อมกับการส่งเสริมการค้าดิจิทัลและนวัตกรรม (3)การส่งเสริมชำระเงินดิจิทัล แบบไร้รอยต่อ (4) การพัฒนาทักษะด้านดิจิทัล (5) การส่งเสริมวิสาหกิจ และ (6) กลไกความร่วมมือด้านดิจิทัลของอาเซียน

ในภาพรวม ประโยชน์ที่จะได้จากการที่ นายจุรินทร์ ลักษณะวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ไปร่วมการประชุมครั้งนี้ คือ (1) เป็นการเตรียมพร้อมของประเทศอาเซียนในการรับมือ (2) ใช้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี (3) ประสานความร่วมมือกับประเทศนอกภูมิภาค