เวนคืนถนนวงแหวนใหม่ เชื่อม 7 จังหวัด-ผ่า ม.พฤกษา

อัปเดตล่าสุด 5 เม.ย. 2562
  • Share :
  • 9,897 Reads   

กรมทางหลวงเดินหน้าบิ๊กโปรเจ็กต์ 2 แสนล้าน รับเมืองขยายตัว เร่งขีดแนว “วงแหวนรอบ 3” ระยะทาง 254 กม. ทะลุ 7 จังหวัด หนุนอีอีซี ทยอยสร้างทีละเฟส ประเดิมฝั่งตะวันออก 55 กม. รังสิตคลอง 9-บางนา-ตราด ตอกเข็มปี’64 ปีหน้าลุยฝั่งตะวันตก 30 กม.เชื่อมพระราม 2 รับมอเตอร์เวย์ “บางใหญ่-เมืองกาญจน์” ลูกบ้านพฤกษาวิลล์ 44 ร้องระงม แนวผ่ากลางหมู่บ้าน รัฐยันไม่เบี่ยงแนว
 

นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรมอยู่ระหว่างทบทวนผลศึกษาโครงการถนนวงแหวนรอบที่ 3 ให้สอดรับกับสภาพเมืองที่ขยายตัวไปยังโซนตะวันตกและตะวันออกมากขึ้น เพื่อเสริมโครงข่ายถนนในเขตปริมณฑล และลดปริมาณการจราจรที่ผ่านใจกลางเมืองกรุงเทพฯ

“ขณะนี้กำลังเร่งออกแบบ ทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอ เวนคืนที่ดิน ส่วนการก่อสร้างอยู่ที่นโยบาย เพราะเป็นโครงการใหญ่ใช้เงินลงทุนสูง ปีหน้าอาจเริ่มช่วงที่จำเป็นก่อน เช่น ฝั่งตะวันออก เพื่อแบ่งเบาการจราจรถนนวงแหวนรอบนอกและมอเตอร์เวย์”

ตัดผ่าน 7 จังหวัด

แหล่งข่าวจากกรมทางหลวงกล่าวเพิ่มเติมว่า ผลศึกษาเดิมปี 2552 กำหนดระยะทาง 254 กม. เงินลงทุน 157,700 ล้านบาท แยกเป็นค่าเวนคืน 56,300 ล้านบาท ค่าก่อสร้าง 101,400 ล้านบาท แนวห่างจากถนนวงแหวนรอบที่ 2 (กาญจนาภิเษก) 10-15 กม. คลุมพื้นที่ 7 จังหวัด 22 อำเภอประกอบด้วย จ.พระนครศรีอยุธยา ผ่าน อ.ลาดบัวหลวง บางไทร บางปะอิน วังน้อย และอุทัย, จ.ปทุมธานี ตัดผ่าน อ.หนองเสือ ลาดหลุมแก้ว ธัญบุรี และลำลูกกา, กรุงเทพฯ ตัดผ่านเขตหนองจอก ลาดกระบัง และบางขุนเทียน, จ.สมุทรปราการ ผ่าน อ.บางบ่อ พระสมุทรเจดีย์ อ.เมือง บางเสาธง และบางพลี, จ.สมุทรสาคร ที่ อ.กระทุ่มแบน และ อ.เมือง, จ.นครปฐม มี อ.สามพราน และพุทธมณฑล และ จ.นนทบุรี ที่ อ.ไทรน้อย แบ่งเป็น 3 ช่วง คือ 1.ด้านตะวันออก ระยะทาง 97 กม. 2.ด้านตะวันตก 98 กม. และ 3.ด้านใต้ ระยะทาง 59 กม.

“ผลศึกษาใหม่แนวยังคงเดิม แต่ต้นทุนค่าก่อสร้างที่เปลี่ยน คาดอาจใช้เงินเกิน 2 แสนล้านบาท เพราะเป็นเส้นตัดใหม่ สภาพพื้นที่เปลี่ยนไปมาก และดูเรื่องความคุ้มค่าของโครงการจะคุ้มทุนหรือไม่” แหล่งข่าวกล่าวและว่า

ปัจจุบันกรมเดินหน้าด้านตะวันออกและตะวันตกก่อน ส่วนด้านใต้อาจชะลอ เนื่องจากโครงการไม่มีความคุ้มทุนและต้องรอข้อสรุปร่วมกับโครงการสะพานเชื่อมต่อ จ.สมุทรปราการ-สมุทรสาคร ระยะทาง 59 กม. ของกรมทางหลวงชนบท (ทช.) ที่มีแนวเส้นทางใกล้เคียงกัน

“กรมจะเร่งรัดพื้นที่ที่จำเป็นก่อน และไม่รอโครงการในแผนบริหารจัดการน้ำของกรมชลประทาน แต่ออกแบบให้รองรับเผื่อไว้ในอนาคต เช่น ฝั่งตะวันออกจากที่ไจก้าออกแบบแนวฟลัดเวย์ 160 เมตร ข้างถนนวงแหวนรอบ 3 ถ้ากรมชลฯจะเดินหน้าก็สร้างด้านข้างได้”

เชื่อมรังสิต-บางนา

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ด้านตะวันออกจากระยะทาง 97 กม. จะเริ่มสร้างเฟสแรก 55 กม. มีจุดเริ่มต้นช่วงรังสิต-นครนายก บริเวณคลอง 9-10 ห่างจากถนนวงแหวนปัจจุบัน 15 กม.จากนั้นตัดมาทางทิศใต้ ผ่าน ต.บึงทองหลาง อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี และตัดถนนลำลูกกา กม.25+000 ที่ ต.บึงทองหลาง ด้านทิศตะวันออกของหมู่บ้านทำเลทอง

แล้วมุ่งหน้าลงทิศใต้ข้ามคลองหกวาสายล่าง เข้าพื้นที่แขวงคลองสิบ เขตหนองจอก กทม. ผ่านแขวงคู้ฝั่งเหนือ เขตหนองจอก ข้ามคลองลำเจดีย์ คลองบึงแตงโม ตัดถนนมิตรไมตรี ข้ามคลองแสนแสบ เข้าเขตพื้นที่แขวงโคกแฝด ผ่านจุดตัดถนนสุวินทวงศ์ กม.ที่ 47+650 แขวงลำผักชี ด้านตะวันตกของหมู่บ้านซื่อตรง ผ่านถนนฉลองกรุง ด้านตะวันตกของชุมชนเคหะฉลองกรุง มุ่งลงใต้ผ่านด้านตะวันออกของวัดลำพอง แขวงทับยาว ข้ามทางรถไฟห่างสถานีรถไฟหลวงแพ่ง 2 กม. ข้ามคลองประเวศบุรีรมย์ ตัดถนนหลวงแพ่ง บริเวณบ่อตกปลานวลจันทร์ ด้านตะวันออกของสนามบินสุวรรณภูมิ ที่แขวงขุมทอง เขตลาดกระบัง

ทางจะยกข้ามมอเตอร์เวย์ กม.ที่ 23+900 ต.บางเสาธง วิ่งขนานไปกับขอบพื้นที่สนามบินสุวรรณภูมิ สิ้นสุดถนนบางนา-ตราด กม.ที่ 23+850 ด้านตะวันตกของชุมชนอำเภอบางเสาธง ช่วงนี้เมื่อเสร็จแล้วจะทำให้การจราจรถนนวงแหวนปัจจุบัน มอเตอร์เวย์ชลบุรี-พัทยา ดีขึ้น รวมทั้งหนุนการขนส่งไปยังเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)

“แนวเฟสแรกขยับเล็กน้อย ช่วงรังสิต-นครนายก เพื่อลดการเวนคืน ตอนนี้กำลังออกแบบรายละเอียด สร้างเป็นถนนแบบวงแหวนปัจจุบัน ขนาด 4-8 ช่องจราจร ใช้เงินลงทุน 65,000 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าก่อสร้าง 50,000 ล้านบาท เวนคืนที่ดิน 3,400 ไร่ 15,000 ล้านบาท จะเริ่มสร้างปี 2564-2565”

แหล่งข่าวกล่าวว่า แนวด้านตะวันตกกำลังศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ โดยจัดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน 4 จังหวัดที่อยู่ในแนวเส้นทางพาดผ่าน ได้แก่ นนทบุรี นครปฐม ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา และสมุทรสาคร เพื่อกำหนดแนวให้ชัดเจน เพราะต้องผ่านพื้นที่ชุมชนจำนวนมาก และเกิดการประท้วงค่อนข้างมาก โดยเฉพาะจุดตัดพุทธมณฑลสาย 5 กับถนนบรมราชชนนี (สาย 338) ซึ่งมีแนวผ่ากลางหมู่บ้านพฤกษาวิลล์ 44 มีผู้ได้รับผลกระทบ 20-30 หลัง

“แนวตะวันตกเหมาะสมแล้ว คงไม่ปรับแนว แต่อาจปรับรูปแบบบางพื้นที่ที่ต้องใช้เขตทางกว้าง 110 เมตร จะลดเหลือ 70 เมตร เพราะเป็นแนวถนนตัดใหม่ ต้องเวนคืนเยอะ ซึ่งกรมพยายามชี้แจงกับชาวบ้านแล้ว”

ยืดถนนพรานนก-สาย 4

ขณะเดียวกัน ทางกรุงเทพมหานคร (กทม.) มีโครงการสร้างถนนพรานนก-พุทธมณฑลสาย 4 ปัจจุบันสร้างแล้ว 7 กม.ช่วงสามแยกไฟฉาย-วงแหวนฯ

ล่าสุดอยู่ระหว่างต่อเชื่อมไปถึงถนนพุทธมณฑลสาย 2 มี บจ.ประยูรวิศว์เป็นผู้ก่อสร้าง วงเงิน 1,136 ล้านบาท ขนาด 4-6 ช่องจราจร พร้อมทางต่างระดับบริเวณจุดตัดถนนพุทธมณฑสาย 2 ระยะทาง 1.5 กม. จะแล้วเสร็จวันที่ 13 ก.ย. 2563

และปี 2563 กทม.เตรียมของบประมาณ 2,175 ล้านบาท สร้างต่อเชื่อมจากถนนพุทธมณฑลสาย 2-ถนนพุทธมณฑลสาย 4 ขนาด 8 ช่องจราจร 6.4 กม.ปัจจุบันทยอยเวนคืนแล้ว เมื่อแล้วเสร็จจะเป็นโครงข่ายใหม่ที่เชื่อมจากศิริราชถึงนครปฐม

เปิดแนวฝั่งตะวันตก

สำหรับแนววงแหวนด้านตะวันตก 98 กม.มีจุดเริ่มต้นห่างจากวงแหวนปัจจุบัน 11 กม.จากถนนพระรามที่ 2 กม.22+500 แถวบริษัท แพลนฟู้ด จำกัด ผ่าน ต.นาดี และ ต.ดอกกระบือ อ.เมืองสมุทรสาคร จ.สมุทรสาคร ผ่าน ต.คลองมะเดื่อและ ต.แคราย ตัดผ่านบริเวณ กม.4+900 ถนนพุทธสาคร ในเขต ต.สวนหลวง อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร

จากนั้นเบี่ยงไปทางทิศตะวันตกตัดกับถนนเพชรเกษม ใกล้โรงพยาบาลมหาชัย 2 ในเขตอ้อมน้อย อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร แล้วทอดยาวไปบนเกาะกลางถนนพุทธมณฑลสาย 5 ผ่าน ต.ไร่ขิง ต.กระทุ่มล้ม ต.บางเตย ตัดผ่าน กม.18+800 ของถนนบรมราชชนนี ในเขต ต.บางระทึก อ.สามพราน จ.นครปฐม ข้ามทางรถไฟสายใต้ใกล้สถานีศาลายา ผ่านสนามกอล์ฟรอยัลเจมส์ ในเขต ต.ศาลายา มุ่งหน้าขึ้นเหนือตัดผ่านมอเตอร์เวย์บางใหญ่-กาญจนบุรี บริเวณหลังหมู่บ้านเอกสยาม ในเขตคลองโยง อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม

จากนั้นแนวจะเบี่ยงไปทิศตะวันออก ห่างวัดเสนีวงศ์ 500 เมตร ผ่าน ต.หนองเพรางาย ต.ทวีวัฒนา อ.ไทรน้อย แล้วยกข้ามถนนบางกรวย-ไทรน้อย กม.24+500 ใกล้โรงพยาบาลไทรน้อย เขตไทรน้อย บรรจบถนนปทุมธานี-บางเลน (สาย 346) กม.36 ใกล้สถานีไฟฟ้าไทรน้อย ต.คลองขวาง อ.ไทรน้อย จ.นนทบุรี

แล้วเบี่ยงไปทิศตะวันออกเฉียงเหนือตัดผ่านถนนบัวทอง-สุพรรณบุรี (สาย 340) กม.16+800 และข้ามคลองลากค้อน เขต ต.ราษฎร์นิยม อ.ไทรน้อย จ.นนทบุรี มุ่งหน้าผ่าน ต.บ่อเงิน อ.ลาดหลุมแก้ว จ.ปทุมธานี ห่างวัดสุวรรโณภาส 250 เมตร แล้วผ่าน ต.คลองพระยาบรรลือ ต.พระยาบรรลือ ต.คู้สลอด แล้วเข้าเขต อ.บางไทร ผ่าน ต.ไผ่พระ บรรจบถนนสามโคก-เสนา กม.24+500 ใกล้โครงการพัฒนาเกษตรกรรมเบ็ดเสร็จ ต.บ้านเกาะ อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา

ผ่านแม่น้ำน้อย เขตพื้นที่ระหว่าง ต.ห่อหมก ต.ข้างน้อย และผ่าน ต.กระแซง อ.บางไทร จากนั้นแนวจะตัดผ่าน กม.29+200 ของถนนสายเทคโนปทุมธานี-เจ้าปลุก ใกล้โรงแรมสตาร์โฮเต็ล เขตบางประแดง ยกข้ามผ่านแม่น้ำเจ้าพระยา กม.11+600 ของถนนบางประแดง-สำเภาล่ม ใกล้โรงงานของบริษัท พีเอเคเค คอนสตรัคชั่น จำกัด เขต ต.ตลาดเกรียบ ต.บางประแดง และ ต.ขนอนหลวง อ.บางปะอิน ตัดผ่าน กม.8+300 ของถนนบางปะอิน-อยุธยา ใกล้คลังสินค้าบริษัท เจียไต๋ จำกัด แล้วตัดข้ามทางรถไฟสายเหนือใกล้สถานีบ้านโพ ผ่าน ต.บ้านโพ บรรจบถนนเอเชีย กม.13+790 เขต ต.บ้านกรด และ ต.คุ้งลาน อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา จุดสิ้นสุดโครงการที่ กม.98+024

รับบางใหญ่-เมืองกาญจน์

“ผลศึกษาจะเสร็จ เม.ย.-พ.ค.นี้ ทั้งเส้นทางใช้เงินกว่า 1 แสนล้านบาท มีค่าก่อสร้าง 85,000 ล้านบาท ค่าเวนคืนประเมินอยู่ ตลอดแนวต้องเวนคืน 5,300 ไร่ บ้าน 500 กว่าหลัง” แหล่งข่าวกล่าวและว่า

รูปแบบเป็นถนนตัดใหม่ 6 ช่องจราจร เมื่อเปิดใช้จะมีปริมาณจราจร 190,000 คัน/วัน ซึ่งปี 2563 จะออกแบบช่วงถนนพระราม 2 เชื่อมมอเตอร์เวย์บางใหญ่-กาญจนบุรี ระยะทาง 30 กม. เริ่มเวนคืนปี 2564-2565 สร้างปี 2566 แล้วเสร็จปี 2570 คาดจะช่วยแบ่งเบาจราจรบนถนนวงแหวนรอบนอกตะวันตกที่ปัจจุบันอยู่ที่ 137,000 คัน/วัน ถนนพระราม 2 เฉลี่ยอยู่ที่ 243,000 คัน/วัน