กนอ.พัฒนาแพลตฟอร์มบริการเอสเอ็มอี-สตาร์ทอัพ ผ่านศูนย์ SMEs Industry Transformation Center

อัปเดตล่าสุด 4 ม.ค. 2562
  • Share :
  • 303 Reads   

กนอ. โชว์ความพร้อมการให้บริการเอสเอ็มอี-สตาร์ทอัพ ด้วยแพลตฟอร์ม4 โซลูชั่น ผ่าน 10 “ศูนย์ SMEs–ITC” ทั่วประเทศ ในนิคมอุตสาหกรรม 10 แห่ง เพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการไทยต่อยอดการผลิต ด้วยเทคโนโลยี และนวัตกรรม สร้างผลงานใหม่ ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมขั้นสูง รับฐานการผลิตใหม่ของอุตสาหกรรม ในยุทธศาสตร์ไทยแลนด์4.0

นางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า การเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทย กนอ.พร้อมให้การสนับสนุนในทุกกลุ่มเป้าหมาย นอกจากอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดใหญ่แล้ว ยังให้ความสำคัญกับวิสาหกิจอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม ซึ่งเป็นคลัสเตอร์ที่มีส่วนในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมทั้งระบบ ด้วยการพัฒนาโซลูซั่น เพื่อให้ SMEs เข้ามาเพื่อเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีและสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ด้วยนัวตกรรมต่างๆผ่านการให้บริการของ“ศูนย์ SMEs Industry Transformation Centerหรือ “ศูนย์ SMEs–ITC” ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ ในที่นิคมอุตสาหกรรม 10 แห่งที่มีการเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการแล้ว ได้แก่นิคมฯแหลมฉบัง นิคมฯภาคเหนือ (ลำพูน) นิคมฯ บางชัน นิคมฯลาดกระบัง นิคมฯปะอิน นิคมฯมาบตาพุด นิคมฯ ภาคใต้ นิคมฯ สมุทรสาคร และ นิคมฯเกตเวย์ซิตี้ ด้วยแพลตฟอร์ม (Platform) ต่าง ๆ ที่พัฒนาขึ้นเพื่อให้บริการ เพื่อสนับสนุนให้ภาคธุรกิจ ผู้ประกอบการ SMEs ไทยสามารถต่อยอดนวัตกรรมและงานวิจัยไปสู่ผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ที่มีมูลค่าสูงขึ้น

ทั้งนี้การให้บริการของ ศูนย์ SMEs–ITC ประกอบไปด้วยแพลตฟอร์มบริการในด้านต่างๆทั้งการให้บริการด้านต่างๆ เพื่อสร้างความแข็งแกร่งในการพัฒนาองค์ความรู้กับผู้ประกอบการ ผู้ผลิต นวัตกรรม และงานวิจัย เช่น การให้คำปรึกษาแนะนำแก้ไขปัญหาธุรกิจ การต่อยอดนวัตกรรม และงานวิจัย การถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคนิคด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมโดยบริษัทที่เป็น Big brother ในนิคมฯ เช่น การให้ความรู้ในเรื่องเทคโนโลยี การออกแบบบรรจุภัณฑ์ การบริหารจัดการ การดำเนินงานด้านระบบซอฟต์แวร์ ฯลฯ               

นอกจากนี้ศูนย์ดังกล่าว จะพัฒนาเป็น Co-Working Space หรือเป็นพื้นที่ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ร่วมกันของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่มีการนำ เทคโนโลยีขั้นสูง เพื่อใช้ผลิตชิ้นงานต้นแบบเชิงอุตสาหกรรม เช่น เครื่องจักรที่ช่วยขึ้นรูปงานต้นแบบด้วยเทคโนโลยี (3D Printer) ทั้งโลหะ โพลีเมอร์ และ เรซินต่าง ๆ เครื่องขึ้นรูปงานพลาสติกด้วยเครื่องฉีดพลาสติกขนาด 20 - 150 ตัน เครื่องเป่าลมพลาสติก เครื่องผสมเม็ดพลาสติก เครื่องกึ่งอัตโนมัติ (CNC) และ ต้นแบบของ Learning Factory เป็นต้น ซึ่งขณะนี้แต่ละพื้นที่ได้พร้อมให้บริการด้านความช่วยเหลือ และสนับสนุน ตลอดจนการให้คำปรึกษาในด้านต่างๆ เช่นการวางกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจ กระบวนการผลิต และแผนการตลาดเป็นต้น

นอกจากนั้นศูนย์ SMEs–ITC ยังเป็นศูนย์กลางความร่วมมือของหลายหน่วยงานที่มีความชำนาญด้านการออกแบบและวิศวกรรม ทั้งจากผู้นำเทคโนโลยีระดับโลก สถาบันเครือข่ายผู้ประกอบการ สมาคมอุตสาหกรรม สถาบันการศึกษาต่าง ๆ เข้ามาสนับสนุน และพร้อมให้บริการแก่ภาคเอกชน นับเป็นแนวทางที่สำคัญต่อการยกระดับอุตสาหกรรมขนาดเล็กของไทย โดยเฉพาะ สตาร์ทอัพที่พร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีทั้งในปัจจุบันและอนาคต สอดรับกับตามยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0