กกร. เผย GDP ปี 2567 ณ เดือนธันวาคม อยู่ที่ 2.8 เศรษฐกิจโลกปี 2568 เผชิญความเสี่ยงจากมาตรการกีดกันทางการค้า

กกร. เผย GDP ปี 2567 ณ เดือนธันวาคม อยู่ที่ 2.8 เศรษฐกิจโลกปี 2568 เผชิญความเสี่ยงจากมาตรการกีดกันทางการค้า

อัปเดตล่าสุด 4 ธ.ค. 2567
  • Share :
  • 591 Reads   

กกร. คาดการณ์ GDP ปี 2567 อยู่ที่ 2.8% เศรษฐกิจโลกปี 2568 เผชิญความเสี่ยงจากมาตรการกีดกันทางการค้า ภายหลังจากที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ และประกาศจะใช้มาตรการเก็บภาษีนำเข้าเป็นนโยบายทางการค้า ทำให้ประเมินว่าเศรษฐกิจโลกในปี 2568 จะอยู่ท่ามกลางความไม่แน่นอน โดยมีโอกาสเติบโตได้ต่ำกว่า 3% ส่วนเศรษฐกิจจีนมีโอกาสเติบโตได้เพียง 4.0-4.5%

วันพุธที่ 4 ธันวาคม 2567 นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) โดยมีนายทวี ปิยะพัฒนา รองประธานอาวุโสสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และดร.พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้แทนสมาคมธนาคารไทย ร่วมในการแถลงข่าว

ประเด็นแถลงข่าว กกร.ประจำเดือนธันวาคม 2567 มีดังนี้

  • เศรษฐกิจโลกปี 2568 เผชิญความเสี่ยงจากมาตรการกีดกันทางการค้า ภายหลังจากที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ และประกาศจะใช้มาตรการเก็บภาษีนำเข้าเป็นนโยบายทางการค้า ทำให้ประเมินว่าเศรษฐกิจโลกในปี 2568 จะอยู่ท่ามกลางความไม่แน่นอน โดยมีโอกาสเติบโตได้ต่ำกว่า 3% ส่วนเศรษฐกิจจีนมีโอกาสเติบโตได้เพียง 4.0-4.5% ขณะที่อาจกระทบการเติบโตของประเทศในอาเซียนได้มากทั้งจากการส่งออกไปจีนที่จะลดลง การส่งออกโดยภาพรวมที่จะลดลงเนื่องจากถูกทดแทนด้วยสินค้าจีน และการลงทุนภาคเอกชนที่ชะลอตัว
  • คาดว่ามาตรการทางด้านภาษีจะเริ่มเกิดขึ้นในช่วงกลางปี 2568 เป็นต้นไป นโยบาย Trump 2.0 จะไม่จำกัดเฉพาะสินค้าจากจีนเท่านั้น แต่จะเป็นการเก็บภาษีนำเข้ากับสินค้าจากทุกประเทศ โดยอาจจะขึ้นอัตราภาษีนำเข้าจากจีนเป็น 60% และจากประเทศอื่นๆ เป็น 10-20% รวมถึงจะใช้การเก็บภาษีเป็นนโยบายในการต่อรองกับคู่ค้า เช่น เม็กซิโก แคนาดา และกลุ่ม BRICS ซึ่งการขึ้นภาษีกับจีนอาจเกิดขึ้นได้เร็ว โดยเฉพาะกับสินค้าที่สหรัฐฯ เคยเรียกเก็บภาษีเพิ่มขึ้นในช่วง Trump 1.0
  • เศรษฐกิจไทยปี 2567 คาดว่าจะขยายตัวได้ 2.8% มีปัจจัยสนับสนุนจากการส่งออกที่ดีกว่าที่คาด มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐ โดยคาดว่าจะโตได้ราว 4% ในไตรมาสที่ 4 ขณะที่ปี 2568 ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีโอกาสขยายตัวได้ท่ามกลางความไม่แน่นอน โดยมีแรงส่งจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่อง และมาตรการภาครัฐทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ที่กำลังจะทยอยออกมา อาทิ การช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยและกลุ่มผู้ประกอบการ SME การปรับกฎหมายเกี่ยวกับการเช่าที่ดินระยะยาว 99 ปีเพื่อดึงดูดการลงทุน และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน อย่างไรก็ดี ในช่วงครึ่งปีหลังมีความเสี่ยงจากมาตรการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ โดยเฉพาะสินค้าส่งออกหลัก อาทิ อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า ยานยนต์ เม็ดพลาสติก และยางล้อ ที่ประชุม กกร. จึงขอเสนอให้ภาครัฐและภาคเอกชนร่วมกันเตรียมความพร้อมรับมือเจรจาในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับภาษีนำเข้าและส่งออกกับสหรัฐที่จะเกิดขึ้นในปีหน้า นอกจากนี้ กกร.ขอชื่นชมภาครัฐที่สามารถเจรจาความตกลงการค้าเสรีภายใต้ FTA-EFTA ระหว่างประเทศไทยและสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป ประกอบด้วย สวิตเซอร์แลนด์ ลิกเตนสไตน์ ไอซ์แลนด์ และนอร์เวย์ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการค้าของประเทศไทยในอนาคต

  • สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมที่ของประเทศไทยในปีนี้ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือในช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้ประเมินความเสียหายไว้ประมาณ 75,000 ล้านบาท หรือ คิดเป็น 0.5% ของ GDP ส่วนสถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้ ถือว่าเป็นหนึ่งในภัยพิบัติที่เกิดขึ้นรวดเร็วและรุนแรงเช่นกัน เบื้องต้น พบว่า หากสถานการณ์คลี่คลายได้เร็ว น่าจะมีมูลค่าความเสียหายประมาณ 5,000 – 10,000 ล้านบาท หรือประมาณ 0.03 –0.06% ของ GDP โดยพื้นที่ภาคการเกษตรได้รับผลกระทบมากที่สุด รวมถึงย่านการค้าสำคัญของ จ.สงขลา ทั้งนี้ หากรวมความเสียหายของน้ำท่วมภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ น่าจะมีความเสียหายราว  80,000 – 85,000 ล้านบาท หรือประมาณ 0.6% ของ GDP

กรอบประมาณการเศรษฐกิจปี 2567 ของ กกร.
(ณ ต.ค. 67) ปี 2567
GDP 2.2 ถึง 2.7
ส่งออก 1.5 ถึง 2.5
เงินเฟ้อ 0.5 ถึง 1.0

(ณ พ.ย. 67) ปี 2567
GDP 2.6 ถึง 2.8
ส่งออก 2.5 ถึง 2.9
เงินเฟ้อ 0.5 ถึง 1.0

(ณ ธ.ค. 67) ปี 2567
GDP 2.8
ส่งออก 4.0
เงินเฟ้อ 0.5

#เศรษฐกิจไทย #GDP Thailand #การประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน #กกร. #หอการค้าไทย #สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย #สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย #สมาคมธนาคารไทย

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH