หอการค้าฯ เผยดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภค มิ.ย.67 ร่วงต่ำสุดในรอบ 9 เดือน

หอการค้าฯ เผยดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภค มิ.ย.67 ร่วงต่ำสุดในรอบ 9 เดือน

อัปเดตล่าสุด 11 ก.ค. 2567
  • Share :
  • 1,826 Reads   

ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย (TCC Confidence Index: TCC-CI) ประจำเดือนมิถุนายน 2567 อยู่ที่ระดับ 54.2 ลดลงต่อเนื่องเดือนที่ 4 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคของผู้บริโภค (Consumer Confidence Index: CCI) ปรับตัวลดลงจากระดับ 60.5 เป็น 58.9 ลดลงต่อเนื่องเดือนที่ 4 เช่นกัน โดยอยู่ในระดับต่ำสุดรอบ 9 เดือน ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำโดยรวม และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตรายได้ในอนาคต อยู่ที่ระดับ 52.6 56.1 และ 67.9 ตามลำดับ

11 กรกฎาคม 2567 นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยผลสำรวจประชาชน
ทั่วประเทศ 2,243 คน พบว่า ผู้บริโภคยังคงเห็นว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมยังคงฟื้นตัวช้าและค่าครองชีพสูง ตลอดจนสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน กับอิสราเอลกับฮามาสในฉนวนกาซาที่ยังคงยืดเยื้อ ส่งผลกระทบทางจิตวิทยาในเชิงลบต่อกำลังซื้อภายในประเทศ ภาคการท่องเที่ยว ภาคการส่งออก ธุรกิจโดยทั่วไป และการจ้างงานในอนาคต โดยยังคงมีโอกาสบั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทั้งในปัจจุบันและในอนาคตได้อย่างต่อเนื่องในระยะอันใกล้นี้ 

ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อดัชนีความเชื่อมั่นของหอการค้าไทย

ปัจจัยด้านลบ​​​​​​

  • ความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ค่าพลังงานที่ยังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูง รวมทั้งต้นทุนวัตถุดิบที่ปรับตัวสูงขึ้น 
  • ราคาน้ำมันขายปลีกแก๊สโซฮอล ออกเทน 91 (E10) และแก๊สโซฮอล ออกเทน 95 ในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 0.60 บาทต่อลิตร อยู่ที่ระดับ 38.38และ 38.75 บาทต่อลิตรขณะที่ราคาน้ำมันดีเซลขายปลีกในประเทศ ยังคงทรงตัวจากเดือนที่ผ่านมา 
  • SET Index เดือน มิ.ย. 67 ปรับตัวลดลง 44.70 จุด จาก 1,345.66ณ สิ้นเดือน พ.ค. 67 เป็น 1,300.96 ณ สิ้นเดือน มิ.ย. 67
  • ค่าเงินบาทปรับตัวอ่อนค่าลงเล็กน้อยจากระดับ 36.636 ฿/$ ณ สิ้นเดือน พ.ค. 67 เป็น 36.704 ฿/$ ณ สิ้นเดือน มิ.ย. 67 สะท้อนว่ามีการไหลออกสุทธิของเงินตราต่างประเทศ 
  • กนง. คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.50% ต่อปี เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยปัจจุบันอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับการขยายตัวของเศรษฐกิจ
  • ความกังวลต่ออัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่รัฐบาลจะให้มีการปรับเพิ่มขึ้นในอัตราเดียวกันทั้งประเทศ  ซึ่งจะทำให้ต้นทุนของธุรกิจเพิ่มสูงขึ้น 
  • ความกังวลจากสถานการณ์ภัยธรรมชาติที่ควบคุมไม่ได้ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายต่อธุรกิจในพื้นที่ 
  • ความกังวลต่อเสถียรภาพทางการเมืองของประเทศไทยที่ยังมีความไม่แน่นอน ตลอดจนนโยบายด้านเศรษฐกิจของภาครัฐยังไม่มีความชัดเจน

ปัจจัยด้านบวก​​​​​​​​​​​​​​

  • ภาครัฐออกมาตรการภาษีเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวในเมืองรอง 55 จังหวัด ในช่วงระหว่างวันที่ 1 พ.ค. – 30 พ.ย. 2567
  • มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาริมทรัพย์ เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับภาคอสังหาริมทรัพย์ 
  • นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยจำนวนมากขึ้น ส่งผลให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในประเทศมากขึ้น
  • ราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้นหรือทรงตัวส่งผลให้เกษตรกรเริ่มมีรายได้สูงขึ้น และมีกำลังซื้อในต่างจังหวัดเริ่มปรับตัวดีขึ้น
  • การส่งออกของไทยเดือนพ.ค. 67 ขยายตัวร้อยละ 7.20 มูลค่าอยู่ที่ 26,219.48 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่การนำเข้าลดลงร้อยละ 1.66 มีมูลค่าอยู่ที่ 25,563.33 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งผลให้เกินดุลการค้า 656.15ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ และแนวทางการดำเนินการของภาคเอกชนในการแก้ไขปัญหา​​​

  • แนวทางการสนับสนุนภาครัฐช่วยเหลือด้านมาตรการกระตุ้นการใช้จ่าย เช่น มาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง มาตรการกระตุ้นที่สามารถเพิ่มยอดคำสั่งซื้อสินค้า/บริการในทุกสาขาธุรกิจ 
  • การดูแลปัญหาเกี่ยวกับต้นทุนราคาที่ปรับเพิ่มขึ้นส่งผลกระทบต่อค่าใช้จ่ายของธุรกิจ SME
  • เพิ่มแหล่งเงินทุนสำหรับ SMEs ที่ไม่ได้อยู่ในระบบ หรือธุรกิจฐานราก 
  • มาตรการช่วยเหลือด้านการเพิ่มศักยภาพของธุรกิจให้เข้าถึงโอกาสของตลาดใหม่ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
  • มาตรการกำกับแก้ไขปัญหาที่เกิดจากสภาพอากาศที่แปรปรวน พื้นที่ที่อาจจะได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติ 
  • การรักษาเสถียรภาพของค่าเงินบาทให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมต่อภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน

#สภาหอการค้า #หอการค้าไทย #สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย #เศรษฐกิจไทย #อุตสาหกรรมไทย #ภาคการเกษตร #ท่องเที่ยวไทย #ส่งออกไทย #ราคาพลังงาน #GDP

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH