ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SME (SMESI) เดือนธันวาคม 2564

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SME 2564 เดือน ธ.ค. เพิ่มขึ้นทุกภูมิภาค

อัปเดตล่าสุด 28 ม.ค. 2565
  • Share :
  • 1,051 Reads   

สสว. เผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SME เดือนธันวาคม 2564 ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในช่วงปลายปี แต่โอมิครอนฉุดการคาดการณ์ในอนาคตลง

วันที่ 28 มกราคม 2565 นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เปิดเผยรายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SME (SME Sentiment Index: SMESI) ประจำเดือนธันวาคม 2564 ว่าดัชนีความเชื่อมั่น SMESI ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากเดือนพฤศจิกายน 2564 ที่ระดับ 50.5 มาอยู่ที่ระดับ 51.8 ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ปรับเพิ่มขึ้นเกินระดับค่าฐาน (50) ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ซึ่งเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้น เกือบทุกภาคธุรกิจ และทุกภูมิภาค อย่างไรก็ตาม ความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้ากลับลดลงจากความกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน

ในปัจจุบันความเชื่อมั่นปรับตัวเพิ่มขึ้นจากกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาลปีใหม่ และโครงการ "เราเที่ยวด้วยกัน" ที่กระตุ้นให้ผู้คนออกมาใช้จ่ายในการท่องเที่ยวมากขึ้น ส่งผลดีต่อภาคธุรกิจ โดยเฉพาะสาขาโรงแรม/ที่พัก ที่มีปรับตัวเพิ่มขึ้นในทุกภูมิภาค ประกอบกับการให้บริการรถรับเหมา และสาขาสันทนาการ/ วัฒนธรรม/การกีฬา ที่ขยายตัว โดยเฉพาะภาคเหนือ และภาคใต้ที่มีแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ อย่างไรก็ตาม การใช้จ่ายหมวดสินค้าอุปโภคบริโภคค่อนข้างทรงตัว เนื่องจากวงเงินของโครงการ "คนละครึ่ง" ใกล้หมดลง

องค์ประกอบของดัชนีด้านคำสั่งซื้อ ปริมาณการผลิต/การค้า/บริการ การลงทุน กำไร และการจ้างงาน ปัจจุบันเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 59.1 56.3 53.2 55.2 และ 49.9 ตามลำดับ ขณะที่องค์ประกอบด้านต้นทุนยังคงมีค่าดัชนีลดลงอย่างต่อเนื่อง อยู่ที่ระดับ 37.3 และดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SME ภาคการผลิต ภาคการค้า ภาคการบริการ และธุรกิจการเกษตร ในเดือนนี้เพิ่มขึ้นเกือบทุกสาขามาอยู่ที่ระดับ 52.3 50.4 52.1 และ 57.2 ตามลำดับ

ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของผู้ประกอบการ SME รายภูมิภาค ปรับตัวเพิ่มขึ้นทุกภูมิภาค ได้แก่

ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของภาคเหนือ ปัจจุบันอยู่ที่ 54.5 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 50.3 มีกำลังซื้อเพิ่มขึ้นชัดเจนในกลุ่มภาคบริการ เช่น การท่องเที่ยว โรงแรม/ที่พัก และร้านอาหาร รวมถึงความต้องการสินค้าในหมวดของฝาก/ของที่ระลึก เช่น เครื่องหอมที่นิยมถือเป็นของฝาก อาหารแปรรูปต่างๆ อีกทั้งการฟื้นตัวของภาคการก่อสร้างในพื้นที่ ส่งผลให้ความต้องการสินค้าหมวดดังกล่าวเพิ่มขึ้น จากยอดคำสั่งซื้อของสาขาการผลิตผลิตภัณฑ์จากโลหะการค้าวัสดุก่อสร้างที่ขยายตัว

ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของภาคกลาง ปัจจุบันอยู่ที่ 50.3 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 48.4 มีความต้องการเดินทางท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมมากขึ้น ส่งผลดีต่อธุรกิจภาคการท่องเที่ยว รวมไปถึงกลุ่มร้านนวด/สปา และภาคการผลิตอาหารที่เป็นสินค้ายอดนิยมของนักท่องเที่ยว เช่น ผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปของวิสาหกิจชุมชน สำหรับซื้อเป็นของฝาก/ของที่ระลึกในช่วงเทศกาลปีใหม่

ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของภาคใต้ ปัจจุบันอยู่ที่ 48.2  เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 46.4  จากปัจจัยบวกช่วงเทศกาล และวันหยุดยาวสิ้นปี ทำให้การเดินทางของนักท่องเที่ยวฟื้นตัว โดยเฉพาะในแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของภูมิภาค ส่งผลดีต่อธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง เช่น สาขาโรงแรม ที่พัก และสาขาสันทนาการ/วัฒนธรรม/กีฬา จากการจัดงานแสดงพื้นบ้านในแหล่งท่องเที่ยว รวมถึงกลุ่มร้านนวด/สปา ที่กลับมาเปิดต้อนรับนักท่องเที่ยวได้มากขึ้น

ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของภาคตะวันออก ปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 48.9 ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 48.3 จากโครงการเราเที่ยวด้วยกัน ทำให้ความต้องการท่องเที่ยวโดยเฉพาะที่ใกล้กรุงเทพฯ ขยายตัว

ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ปัจจุบันอยู่ที่ 52.3 จากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 52.1 ภาพรวมธุรกิจค่อนข้างทรงตัว แม้จะมีการผ่อนปรนมาตรการควบคุมโรคเพิ่มเติม แต่ให้งดจัดงานเฉลิมฉลองเทศกาลสิ้นปีในพื้นที่ ประกอบกับผู้คนเดินทางออกจากการพื้นที่เพื่อกลับภูมิลำเนา ส่งผลต่อภาคธุรกิจ โดยเฉพาะสาขาสันทนาการ/วัฒนธรรม/กีฬา และร้านโชห่วย ที่ชะลอตัวลงจากเดือนก่อนหน้า

ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 53.6 จากเดือนก่อนหน้า ที่ระดับ 53.4 เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยเพราะแนวโน้มการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนที่ส่งผลให้ผู้ประกอบการในหลายสาขาเริ่มกังวลต่อความไม่แน่นอนในการดำเนินงาน โดยเฉพาะภาคการค้าที่มีการลดการสต็อคสินค้าลดลงให้เพียงพอต่อการขายวันต่อวันเท่านั้น ประกอบกับวงเงินของโครงการ "คนละครึ่ง" ที่ใกล้หมด อย่างไรดีภาคการผลิตอาหารและเครื่องดื่ม และการเดินทางของผู้คนยังได้รับผลดีจากจากแรงงานที่มีการเดินทางกลับภูมิลำเนาในช่วงเทศกาล ทำให้มีความต้องการซื้อสินค้าหมวดของฝากมากขึ้น

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 56.0 ปรับลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 58.1 การคาดการณ์ความเชื่อมั่นฯ อีก 3 เดือนข้างหน้า มีแนวโน้มลดลง เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ที่มีการแพร่ระบาดในหลายพื้นที่ ส่งผลให้ผู้ประกอบการ SME ส่วนใหญ่กังวลต่อมาตรการควบคุมโรค และข้อจำกัดในการดำเนินธุรกิจ ประกอบกับกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ยังไม่ฟื้นตัว รวมไปถึงผู้ประกอบการต้องเผชิญภาวะต้นทุนราคาสินค้า/วัตถุดิบที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะราคาน้ำมันเชื้อเพลิง และหมวดวัตถุดิบในการผลิต ได้แก่ เนื้อหมู เครื่องปรุงรส และเนย เป็นต้น

ส่วน 5 ปัจจัยสำคัญที่มีผลกระทบต่อกิจการ SME ประเทศในเดือนนี้ ปัจจัยที่ส่งผลดี ได้แก่ กำลังซื้อของผู้บริโภค จากการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลดีต่อภาวะธุรกิจ SME เนื่องจากการฟื้นตัวของผู้บริโภคที่เริ่มทยอยออกมาใช้จ่ายตามสถานที่ต่างๆ มากขึ้น อีกทั้งธุรกิจมีการปรับรูปแบบการให้บริการที่นำเทคโนโลยีมาใช้ในกิจการ ทำให้ขยายกลุ่มตลาดได้หลายช่องทางมากขึ้น ขณะที่ปัจจัยที่ส่งผลลบ ได้แก่ ภาวะราคาสินค้า/วัตถุดิบที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งราคาน้ำมันที่กระทบต่อต้นทุนการดำเนินธุรกิจ และค่าครองชีพของประชาชน รวมทั้งมาตรการภาครัฐ เช่น โครงการ “คนละครึ่ง” สิ้นสุดลง ทำให้เกิดการชะลอการใช้จ่าย อีกทั้งความไม่มั่นใจในการแพร่ระบาดของสายพันธุ์โอมิครอน ในช่วงปลายเดือนธันวาคม 2564

 

#ดัชนี SME #ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SME #รายงานสถานการณ์ SME ส สว #ดัชนีชี้วัดภาวะเศรษฐกิจ #ดัชนีคำสั่งซื้อ SME #ดัชนีการผลิต SME #ดัชนีการค้า SME #ดัชนีการบริการ SME #ดัชนีการลงทุน SME #ดัชนีกำไร SME #ดัชนีการจ้างงาน SME

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH