ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SME (SMESI) เดือนพฤศจิกายน (พ.ย.) 2565

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SME 2565 เดือน พ.ย. เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเดือนที่ 4

อัปเดตล่าสุด 24 ธ.ค. 2565
  • Share :
  • 1,474 Reads   

สสว. เผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SME (SMESI) เดือนพฤศจิกายน 2565 ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องอยู่ที่ 53.8 เป็นการเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 โดยเพิ่มขึ้นทั้งค่าดัชนีปัจจุบันและคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า ปัจจัยสำคัญมาจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศขยายตัว ผลจากการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ เช่นเดียวกับสถานการณ์ด้านต้นทุนที่มีแนวโน้มดีขึ้นจากราคาพลังงานและวัตถุดิบที่ลดลง ส่งผลดีต่อ SME ทั้งในภาคการเกษตร ภาคการค้า และภาคการผลิต

วันที่ 23 ธันวาคม 2565 นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยรายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SME (SME Sentiment Index: SMESI) ประจำเดือนพฤศจิกายน 2565 เปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้า พบว่า ค่าดัชนี SMESI อยู่ที่ระดับ 53.8 เพิ่มขึ้นจากระดับ 53.1 และเป็นการเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 ซึ่งมีปัจจัยบวกมาจากการขยายตัวต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยวและภาคการค้า จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ขยายตัวชัดเจนจนเกือบเป็นปกติ ตามการเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติโดยเฉพาะในพื้นที่ท่องเที่ยวสำคัญของประเทศทางภาคเหนือและภาคใต้ ขณะเดียวกันสถานการณ์ทางด้านต้นทุนธุรกิจมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากราคาพลังงานและวัตถุดิบเป็นสำคัญ

ทั้งนี้ องค์ประกอบสำคัญที่ส่งผลให้ค่าดัชนี SMESI เดือนพฤศจิกายน เพิ่มขึ้น ได้แก่ ปริมาณการผลิต/การค้า/การบริการ การลงทุนโดยรวม ด้านคำสั่งซื้อโดยรวม การจ้างงานและกำไร ซึ่งมีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 57.1 53.8 63.4 50.5 และ 57.5 จากระดับ 55.1 52.4 62.5 49.9 และ 57.4 ตามลำดับ ขณะที่องค์ประกอบด้านต้นทุน ค่าดัชนีฯ ลดลงเล็กน้อยอยู่ที่ระดับ 41.2 จากระดับ 41.5 โดยเฉพาะต้นทุนด้านบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่เพิ่มขึ้น 

เมื่อพิจารณารายภาคธุรกิจ พบว่า ภาคการเกษตร มีค่าดัชนี SMESI เพิ่มขึ้นสูงสุดอยู่ที่ 53.4 จากระดับ 50.2 ผลจากการที่สินค้าเกษตรสามารถขายได้ในราคาที่ดี โดยเฉพาะกลุ่มพืชไร่ เช่น ข้าวเปลือกเจ้า ข้าวเปลือกเหนียว และกลุ่มไม้ดอกไม้ประดับ ที่ราคาปรับตัวดีขึ้นกว่าปีก่อนหน้า รวมถึงต้นทุนโดยเฉพาะราคาปุ๋ยมีแนวโน้มลดลง รองลงมาคือ ภาคการค้า อยู่ที่ระดับ 52.3 จากระดับ 51.3 ผลจากการขยายตัวทั้งธุรกิจค้าปลีกและค้าส่ง โดยเฉพาะภาคเหนือและภาคใต้ ที่ได้อานิสงส์จากนักท่องเที่ยวขยายตัว มีเพียงการค้ารายย่อยในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลชะลอตัวลง ส่วนหนึ่งมาจากขาดปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการภาครัฐ

ส่วน ภาคการผลิต ค่าดัชนีฯ อยู่ที่ระดับ 53.3 จากระดับ 51.8 ปัจจัยบวกมาจากกำลังซื้อและต้นทุนพลังงานและวัตถุดิบที่มีแนวโน้มดีขึ้น โดยเฉพาะการผลิตที่เกี่ยวกับการเดินทางและการท่องเที่ยว เช่น ผลิตอาหาร ผลิตเสื้อผ้า ฯลฯ ขณะที่ภาคบริการ ค่าดัชนีฯ ปรับตัวลดลงเล็กน้อยอยู่ที่ระดับ 55.3 จาก 55.7 ธุรกิจที่ชะลอตัวลง เช่น อสังหาริมทรัพย์ ผลจากค่าสาธารณูปโภคที่สูงขึ้นกระทบต่อต้นทุนในการดำเนินธุรกิจ เช่นเดียวกับธุรกิจซ่อมบำรุง ที่ปัจจุบันค่าบริการอยู่ในระดับสูงใกล้เคียงกับการซื้อสินค้าใหม่ ส่งผลให้ผู้บริโภคหันไปซื้อสินค้ามากกว่าจะใช้บริการซ่อมบำรุง ขณะที่ธุรกิจด้านการท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องเป็นกลุ่มที่มีการขยายตัวต่อเนื่อง

สำหรับดัชนี SMESI รายภูมิภาค เดือนพฤศจิกายน 2565 พบว่า เกือบทุกภูมิภาคยังคงอยู่ในระดับเกินค่าฐานที่ 50 โดยภูมิภาคที่ค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงสุด ได้แก่ ภาคเหนือ อยู่ที่ระดับ 57.1 จากระดับ 53.7 ผลจากเศรษฐกิจขยายตัวจากภาคการท่องเที่ยวและภาคการค้า เนื่องจากเข้าสู่ฤดูการท่องเที่ยวทำให้มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาในพื้นที่เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ส่งผลดีกับธุรกิจโรงแรม ค้าปลีกและค้าส่ง

รองลงมาคือภาคใต้ อยู่ที่ระดับ 56.7 จากระดับ 53.7 เนื่องจากกำลังซื้อเพิ่มขึ้นอย่างมากในภาคการท่องเที่ยว โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ขยายตัวชัดเจน รวมถึงมีเที่ยวบินเช่าเหมาลำและเรือสำราญขนาดใหญ่จากต่างประเทศเข้ามาในพื้นที่จำนวนมาก ภาคกลาง อยู่ที่ระดับ 52.4 จากระดับ 51.3 ผลจากการจับจ่ายใช้สอยในพื้นที่เริ่มฟื้นตัว ซึ่งส่งผลดีกับภาคการค้า โดยเฉพาะค้าปลีก อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการร้านอาหารยังคงมีความกังวลกับต้นทุน โดยเฉพาะค่าบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่มีราคาเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

ส่วนภูมิภาคที่มีค่าดัชนีฯ ปรับตัวลดลง ได้แก่ กรุงเทพฯ และปริมณฑล ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก ซึ่งค่าดัชนีอยู่ที่ระดับ 53.7 52.7 และ 49.1 จากระดับ 54.0 53.2 และ 50.0 ตามลำดับ โดยกรุงเทพฯ และปริมณฑล มีผลจากกำลังซื้อชะลอตัวเล็กน้อยจากภาคการค้าและการขนส่ง เนื่องจากพฤติกรรมการซื้อต่อครั้งมีปริมาณที่ลดลง การใช้จ่ายของผู้บริโภคเฉลี่ยต่อครั้งลดลง

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เศรษฐกิจชะลอตัวจากเดือนก่อน เนื่องจากเทศกาลประเพณีที่ดึงดูดประชาชนและนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่สิ้นสุดลง ทำให้กำลังซื้อโดยเฉพาะในธุรกิจโรงแรมและสินค้าประเภทของฝากของที่ระลึกชะลอตัวลง

ภาคตะวันออก กำลังซื้อชะลอตัวลงในธุรกิจผลิตภัณฑ์โลหะ ค้าส่งวัสดุก่อสร้างและบริการซ่อมบำรุงเป็นสำคัญ รวมถึงผู้ประกอบการมีความกังวลต่อต้นทุนโดยเฉพาะค่าแรงและค่าไฟฟ้า แต่ภาคการท่องเที่ยวโดยเฉพาะธุรกิจโรงแรมขยายตัวตามการจัดอีเวนท์ในพื้นที่เพิ่มขึ้นทั้งจากภาครัฐและเอกชน

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 54.6 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 53.7 จากการคาดการณ์การขยายตัวของนักท่องเที่ยวที่จะเพิ่มขึ้นอีกเมื่อเทียบกับปัจจุบัน รวมถึงสัญญาณบวกจากแนวโน้มต้นทุนธุรกิจ ทำให้คลายกังวลต่อค่าครองชีพและกำลังซื้อของผู้บริโภคในอนาคต

จากการสอบถามธุรกิจ SME กับสถานการณ์การจ้างแรงงานต่างด้าวของธุรกิจ SME ซึ่งสำรวจผู้ประกอบการ SME จำนวน 2,684 ราย จาก 25 สาขาธุรกิจทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 19-30 พฤศจิกายน 2565 พบว่า ผู้ประกอบการSME เกือบร้อยละ 86 มีการจ้างงานเฉพาะแรงงานคนไทย ผู้ประกอบการ SME ร้อยละ 13.3 ที่มีความเข้มข้นของการจ้างแรงงานต่างด้าวระดับปานกลาง รองลงมา SME ร้อยละ 24.0 มีความเข้มข้นของการจ้างแรงงานต่างด้าวมาก ซึ่งอยู่ในภาคการผลิตมากที่สุด

แรงงานต่างด้าวในธุรกิจ SME กว่าร้อยละ 50 เป็นแรงงานเมียนมา รองลงมา คือ แรงงานลาว โดยหน้าที่งานส่วนใหญ่ที่ SME นิยมจ้างแรงงานดังกล่าว คือ การทำความสะอาด การขนของ/ยกของและงานทั่วไป เป็นต้น เหตุผลสำคัญที่ SME เลือกจ้างแรงงานต่างด้าว คือ ความขยัน/อดทน/สู้งาน ไม่เลือกงาน และต้นทุนการจ้างงานถูกกว่าคนไทย ตามลำดับ โดยผู้ประกอบการ SME มีการจ่ายค่าจ้างแรงงานต่างด้าวเฉลี่ยประมาณ 300 บาท/วัน ซึ่งเฉลี่ยแล้วถูกกว่าแรงงานคนไทย 

ผู้ประกอบการ MSME ร้อยละ 47.9 กำลังเผชิญปัญหาในการจ้างแรงงานต่างด้าว โดยเฉพาะปัญหาค่าใช้จ่ายในการนำเข้าแรงงานต่างด้าวที่ค่อนข้างสูง รองลงมา คือ ขั้นตอน/เอกสารในการยื่นขอนำเข้าที่ยุ่งยาก ผู้ประกอบการ ร้อยละ 49.0 ได้รับผลกระทบจากการเดินทางกลับประเทศของแรงงานต่างด้าวในช่วงโควิด โดยเฉพาะในธุรกิจด้านการขนส่งสินค้า บริการก่อสร้าง ซึ่งปัจจุบันสามารถเรียกคืนแรงงานต่างด้าวได้เพียงบางส่วนเท่านั้น และสิ่งที่ผู้ประกอบการที่มีการจ้างแรงงานต่างด้าวกว่าร้อยละ 60 ต้องการให้ภาครัฐสนับสนุนช่วยเหลือ คือ การลดค่าใช้จ่ายในการนำเข้าและการลดขั้นตอน/เอกสารในการยื่นขอใช้แรงงานต่างด้าว

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผู้ประกอบการ SME ส่วนใหญ่ต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือมากที่สุด คือ ด้านต้นทุนและค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะการลดอัตราค่าสาธารณูปโภค ส่วนด้านกำลังซื้อและรายได้ของผู้บริโภค ผู้ประกอบการ ต้องการให้ภาครัฐส่งเสริมมาตรการท่องเที่ยวไปยังจังหวัดอื่น ๆ ในแต่ละภูมิภาค เพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายไปยังธุรกิจรายเล็ก

 

#ดัชนี SME #ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SME #รายงานสถานการณ์ SME ส สว #ดัชนีชี้วัดภาวะเศรษฐกิจ #ดัชนีคำสั่งซื้อ SME #ดัชนีการผลิต SME #ดัชนีการค้า SME #ดัชนีการบริการ SME #ดัชนีการลงทุน SME #ดัชนีกำไร SME #ดัชนีการจ้างงาน SME

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH