ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย มี.ค.63 ลดฮวบ เอกชนวอนรัฐเร่งจ่ายงบฯ-ออกมาตรการเยียวยาเพิ่มเติม

อัปเดตล่าสุด 18 เม.ย. 2563
  • Share :
  • 405 Reads   

ผศ.ดร.ธนวรรธน์  พลวิชัย  อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย ประจำเดือนมีนาคม 2563 (TCC CONFIDENCE INDEX) จากการสำรวจสมาชิกผู้ประกอบการ 360 ราย ระหว่างวันที่ 23 - 27 มีนาคม 2563 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ อยู่ที่ 37.5 ลดลงจากเดือนกุมภาพันธ์ อยู่ที่ 44.9 โดยเป็นการลดลงอย่างมากและต่อเนื่อง ส่งสัญญาณที่ไม่ดี เห็นได้จากดัชนีความเชื่อมั่นฯ ลดลงในระดับที่ต่ำกว่า 40 ทุกรายการ ยกเว้นดัชนีอนาคตที่อยู่ในระดับ 41.9 ลดลงจากเดือนที่แล้ว อยู่ที่ 47.0 ส่วนดัชนีปัจจุบันอยู่ที่ 33.1 ลดลงจากเดือนที่แล้ว อยู่ที่ 42.8  โดยมีปัจจัยสำคัญมาจากความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ที่มีระดับความรุนแรงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงปัญหาค่าเงินบาทอ่อนค่า และสถานการณ์ภัยแล้งในขณะนี้

ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อดัชนีความเชื่อมั่นของหอการค้าไทย

ปัจจัยด้านลบ

  • สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ที่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
  • การประกาศ พรก.ฉุกเฉิน และการสั่งปิดกิจการบางประเภท
  • นักท่องเที่ยวจากต่างประเทศลดลงอย่างต่อเนื่อง
  • ความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ภัยแล้งที่อาจจะส่งผลกระทบกับภาคการเกษตร และการใช้น้ำเพื่ออุปโภค-บริโภคของประชาชน
  • การส่งออกของไทยเดือน ก.พ. 63 ลดลงร้อยละ 4.47 มูลค่าอยู่ที่ 20,642 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ การนำเข้าลดลงร้อยละ 4.30 มีมูลค่าอยู่ที่ 16,745 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งผลให้เกินดุลการค้ามูลค่า 3,897.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
  • ค่า SET Index เดือน มี.ค. 63 ปรับตัวลดลง 214.66 จุด จาก 1,340.52 ณ สิ้นเดือน ก.พ. 63 เป็น 1,125.86 ณ สิ้นเดือน มี.ค. 63
  • ค่าเงินบาทปรับตัวอ่อนค่าจากระดับ 31.339 ฿/$ ณ สิ้นเดือน ก.พ. 63 เป็น 32.108 ฿/$ ณ สิ้นเดือน มี.ค. 623 ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่ามีเงินทุนจากต่างประเทศไหลออกจากประเทศไทย

 

ปัจจัยด้านบวก

  • คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติ 4 ต่อ 2 เสียง คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.75% ต่อปี
  • ระดับราคาน้ำมันดีเซลขายปลีกในประเทศปรับตัวลดลงประมาณ 4.70 บาทต่อลิตรจากเดือนที่ผ่านมา รวมถึงราคาน้ำมันเบนซิล 95 ปรับตัวลดลงประมาณ 6.50 บาทต่อลิตรจากเดือนที่ผ่านมา

 

ข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ และแนวทางการดำเนินการของภาคเอกชนในการแก้ไขปัญหา

  • มาตรการช่วยเหลือเยียวยาประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19
  • ขอให้ภาครัฐพิจารณามาตรการเพิ่มเติมให้แรงงาน ลูกจ้าง ที่อยู่ในระบบประกันสังคม ได้รับการชดเชยรายได้ โดยพนักงานที่เข้าระบบ Leave without pay
  • ให้มีการจ้างงานรายชั่วโมง เพื่อป้องกันปัญหาการเลิกจ้างแรงงาน โดยกำหนดค่าแรงขั้นต่ำ 325 บาทต่อวัน คิดเป็นชั่วโมงละ 40-41 บาท ต่อการจ้าง งานไม่ต่ำกว่า 4 ชั่วโมง และไม่เกิน 8 ชั่วโมง/วัน
  • บริษัทที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ที่มีโอกาสปลดแรงงานออก สามารถที่จะจ่ายเงินเดือนในจำนวนเงิน 75% ของเงินเดือนที่ได้รับปกติ โดยภาครัฐสนับสนุนค่าจ้างเงินเดือน 50% (จากประกันสังคม) และบริษัทเอกชนจ่ายอีก 25% ให้พนักงานและแรงงานที่มีเงินเดือนไม่เกิน 15,000 บาท สามารถนำค่าใช้จ่ายด้านเงินเดือนค่าจ้างแรงงาน มาใช้หักภาษีได้ 3 เท่าในช่วงระหว่าง COVID-19 ระบาด
  • ลดระยะเวลาการพิจารณาการเข้าถึงสินเชื่อของผู้ประกอบการในช่วง COVID และ ผ่อนปรนกับผู้ที่ติดเครดิตบูโร ในช่วงผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ เดิมมีข้อห้ามขอสินเชื่อภายใน ระยะเวลา 3 ปี นำเสนอให้เหลือ 1 ปี สำหรับลูกหนี้ที่มีประวัติดี
  • จัดสรรดูแลแหล่งน้ำสำหรับการเกษตร และอุปโภค-บริโภคให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้ง
  • เร่งสร้างโครงสร้างพื้นฐานของเทคโนโลยีการติดต่อสื่อสารให้พร้อมเพื่อรองรับกับเหตุการณ์ในอนาคต
  • ให้รัฐบาลเร่งเบิกจ่ายงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจ และการลงทุนในพื้นที่ต่าง ๆ ของประเทศ

 

อ่านต่อ: ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย ก.พ.63 ร่วงต่อเนื่อง วอนรัฐเร่งจ่ายงบฯเข้าระบบเศรษฐกิจ