สสว. เปิดผลสำรวจความต้องการมาตรการส่งเสริม SME จากว่าที่รัฐบาล ด้านต้นทุนและค่าใช้จ่ายเป็นอันดับ 1

สสว. เปิดผลสำรวจ มาตรการส่งเสริมด้านต้นทุนและค่าใช้จ่ายเป็นอันดับ 1 ที่ต้องการจากว่าที่รัฐบาล

อัปเดตล่าสุด 23 มิ.ย. 2566
  • Share :
  • 35,545 Reads   

สสว. เผยผลสำรวจความต้องการมาตรการส่งเสริม SME จากว่าที่รัฐบาล พบผู้ประกอบการต้องการความช่วยเหลือด้านต้นทุนและค่าใช้จ่ายเป็นอันดับแรก จากต้นทุนการดำเนินธุรกิจที่หลายปัจจัยทยอยปรับตัวสูงขึ้น โดยปัจจุบันความช่วยเหลือเร่งด่วนที่ต้องการคือการปรับลดค่าไฟฟ้าและค่าสินค้า/วัตถุดิบ รองลงมา คือ การกระตุ้นการใช้จ่าย เพิ่มเงินสดในมือผู้บริโภค และความช่วยเหลือด้านหนี้สิน ด้วยการลดอัตราดอกเบี้ยหรือมีอัตราดอกเบี้ยพิเศษสำหรับ SME

วันที่ 23 มิถุนายน 2566 นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า สสว. ได้ทำการสำรวจผู้ประกอบการ SME เกี่ยวกับความต้องการมาตรการส่งเสริม SME จากว่าที่รัฐบาล โดยสอบถามผู้ประกอบการ จำนวน 2,683 ราย ใน 6 ภูมิภาคทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 19-28 พฤษภาคม 2566 พบว่า ผู้ประกอบการ SME ในทุกภาคธุรกิจ ส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 54.5 ต้องการความช่วยเหลือด้านต้นทุนและค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะค่าสาธารณูปโภค มีความต้องการเร่งด่วนมากที่สุดในเรื่องค่าไฟฟ้า รองลงมาเป็นค่าสินค้า/วัตถุดิบ ซึ่งเป็นความต้องการของธุรกิจการผลิตและภาคธุรกิจการเกษตรเป็นส่วนใหญ่ ทั้งนี้ แนวทางความช่วยเหลือด้านค่าสาธารณูปโภคที่ผู้ประกอบการต้องการโดยภาพรวม ได้แก่ ลดอัตราการเก็บค่าไฟฟ้า ให้เงินอุดหนุนค่าไฟบางส่วน กำหนดอัตราการเก็บค่าไฟฟ้าสำหรับธุรกิจให้ถูกลง งดเก็บค่าไฟฟ้ากรณีใช้ไม่ครบตามที่กำหนด มีระบบการผ่อนชำระ และส่งเสริมการใช้แผงโซลาร์เซลล์ ส่วนแนวทางความช่วยเหลือด้านภาษี ได้แก่ ให้สิทธิประโยชน์ในการนำค่าใช้จ่ายไปลดหย่อนภาษีได้ ลดหย่อนอัตราการเก็บภาษีธุรกิจ (ภาษีร้าน/ภาษีป้าย/ภาษีสิ่งปลูกสร้าง) และการลดหย่อนภาษีการนำเข้า เป็นต้น

ส่วนความช่วยเหลือด้านหนี้สิน พบว่า การลดอัตราดอกเบี้ยเป็นความต้องการมากที่สุด รวมถึงต้องการสินเชื่อเฉพาะสำหรับ SME ที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำ การขยายระยะเวลาการผ่อนชำระ และผ่อนปรนเงื่อนไขการใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน ซึ่งธุรกิจรายย่อยต้องการมาตรการช่วยเหลือเรื่องการพักชำระหนี้มากที่สุด โดยเฉพาะในกลุ่มภาคธุรกิจการเกษตร ส่วนความต้องการให้มีการปรับปรุงการอนุมัติการปล่อยสินเชื่อให้เร็วขึ้นจะเพิ่มขึ้นตามขนาดธุรกิจ เนื่องจากความล่าช้าในการได้รับเงินแม้จะผ่านเงื่อนไขการกู้แล้ว โดยรูปแบบสินเชื่อที่ต้องการ ได้แก่ สินเชื่อที่มีระยะเวลาการผ่อนชำระนาน ปลอดหลักทรัพย์ค้ำประกัน ดอกเบี้ยต่ำ และวงเงินสูง รูปแบบการลดขั้นตอนและระยะเวลาการขอสินเชื่อ ได้แก่ อนุมัติการปล่อยเงินกู้ให้เร็วขึ้น และลดขั้นตอนและเอกสารขอสินเชื่อ เป็นต้น

ในด้านกระตุ้นกำลังซื้อด้วยมาตรการเพิ่มเงินสดในมือผู้บริโภค ยังเป็นความต้องการมากที่สุดในทุกภาคธุรกิจและทุกขนาดธุรกิจ ซึ่งธุรกิจรายย่อยโดยเฉพาะภาคการค้า มองว่าควรมีนโยบายเงินสนับสนุนเพิ่มเงินสดในมือให้ผู้บริโภคเพื่อช่วยกระตุ้นการใช้จ่าย ธุรกิจขนาดย่อมและขนาดกลาง มองว่าควรลดภาษีสินค้า/บริการ เพื่อช่วยลดต้นทุนราคา รวมถึงการสร้างรายได้และอาชีพให้ผู้บริโภคมีรายได้เพียงพอต่อการใช้จ่าย โดยรูปแบบมาตรการสนับสนุนการใช้จ่าย เช่น เงินสนันสนุนเพิ่มกำลังซื้อ ในลักษณะของโครงการเราชนะ คนละครึ่ง การแจกคูปองสำหรับซื้อสินค้า/บริการซึ่งให้สิทธิพิเศษถึงธุรกิจรายย่อยได้ เป็นต้น

ความรู้ทางด้านการตลาดและช่องทางการตลาดเป็นความต้องการมากที่สุดของ SME ทางด้านการเพิ่มศักยภาพและส่งเสริมธุรกิจ ลำดับรองลงมาเป็นความรู้เฉพาะทางและเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่ง SME ต้องการให้มีการส่งเสริมการนำเทคโนโลยีมาใช้ โดยเฉพาะในภาคธุรกิจการเกษตรและภาคการผลิต ซึ่งธุรกิจขนาดกลางมีความต้องการให้ส่งเสริมและอำนวยความสะดวกต่อการส่งออก ไม่ว่าจะเป็นการจดทะเบียน การขอมาตรฐาน โดยรูปแบบการส่งเสริมความรู้ด้านการตลาด เช่น การทำตลาด การเปิดตลาด/จัดหาแหล่งจำหน่ายสินค้า และการประชาสัมพันธ์ให้ธุรกิจขนาดเล็กและรายย่อย เป็นต้น

เงินอุดหนุนค่าจ้างและการขึ้นค่าแรงเป็นขั้นบันได เป็นความต้องการช่วยเหลือมากที่สุดทางด้านแรงงาน เพื่อให้มีเวลาเตรียมตัวปรับต้นทุน รวมถึงการเพิ่มทักษะแรงงานเป็นที่ต้องการมากในภาคการผลิต ส่วนการขาดแรงงานมีปัญหามากในภาคธุรกิจการเกษตร ซึ่งประเด็นความต้องการให้ส่งเสริมการนำเข้าแรงงานต่างด้าวจะเพิ่มขึ้นตามขนาดธุรกิจ โดยเฉพาะการแก้ไขประเด็นเกี่ยวกับการขอใบอนุญาตที่มีขั้นตอนและระยะเวลาการดำเนินงานมาก โดยรูปแบบความช่วยเหลือด้านต้นทุนค่าจ้างแรงงาน เช่น เงินอุดหนุนค่าจ้าง การปรับเพิ่มค่าจ้างเป็นลำดับขั้น มาตรการช่วยเหลือรองรับค่าจ้างที่เพิ่มขึ้น เป็นต้น ส่วนความช่วยเหลือด้านการเข้าถึงแรงงาน เช่น การจัดหาแรงงานที่มีทักษะตรงกับธุรกิจ มีศูนย์พบปะแรงงานที่มีคุณภาพให้กับผู้ประกอบการ และแก้ไขปัญหาแรงงานผิดกฎหมาย เป็นต้น

การผ่อนปรนข้อจำกัดการขายและพื้นที่รวมถึงการอำนวยความสะดวกการขอใบอนุญาตต่าง ๆ เป็นความต้องการช่วยเหลือมากที่สุดใน ด้านการแข่งขัน/กฎระเบียบข้อบังคับ/ใบอนุญาต เพื่อให้เกิดความสะดวก และลดต้นทุนในการประกอบธุรกิจ ซึ่งธุรกิจรายย่อยต้องการให้ลดกฎระเบียบการดำเนินงานของธุรกิจ โดยเฉพาะในกลุ่มภาคการค้าและภาคการบริการที่ต้องการให้ยกเลิกการจำกัดเวลาการขายสินค้าแอลกอฮอล์ ขณะที่ SME ส่วนใหญ่ต้องการให้แก้ไขปัญหาเกี่ยวกับใบอนุญาตของธุรกิจ โดยสัดส่วนความต้องการเพิ่มขึ้นตามขนาดธุรกิจ การแก้ไขไม่ว่าจะเป็นการลดขั้นตอน/ระยะเวลาในการขอใบอนุญาต งดเก็บค่าบริการ เพิ่มอายุใบอนุญาต หรือการดำเนินการที่สามารถทำผ่านระบบออนไลน์ได้ทุกขั้นตอน

ในปัจจุบันผู้ประกอบการ SME ส่วนใหญ่ยังสนใจเข้าร่วมโครงการภาครัฐ แม้จะต้องขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการ/ธุรกิจ โดยเฉพาะการลงทุนซื้ออุปกรณ์/เครื่องมือ เพื่อเข้าร่วมโครงการช่วยเหลือของภาครัฐ ได้รับความสนใจมากที่สุด ส่วน SME ที่ไม่สนใจ เนื่องจากมีความกังวลในขั้นตอนดำเนินการและผลทางภาษีเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจรายย่อย เพราะกังวลด้านค่าใช้จ่ายในการลงทุนที่อาจจะสูงจนเป็นภาระต้นทุนในการประกอบธุรกิจ

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH