ค่าเงินบาทอ่อนค่า กระทบเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมไทย 2565

'เงินบาทอ่อนค่า' กระทบ ศก.อุตฯไทย อย่างไร ใครรุ่ง - ใครร่วง?

อัปเดตล่าสุด 13 มิ.ย. 2565
  • Share :
  • 1,521 Reads   

กระทรวงอุตฯ โดย สศอ. เผยผลการศึกษาผลกระทบค่าเงินบาทอ่อนค่า ช่วยดันเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมไทยขยายตัว เป็นผลบวกต่อการส่งออกและผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศที่แท้จริง (RGDP)  แม้จะได้รับผลกระทบจากราคาวัตถุดิบที่สูงขึ้น พร้อมแนะนำผู้ประกอบการให้ความสำคัญในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน การบริหารจัดการทรัพยากร รวมถึงใช้วัตถุดิบทางเลือก ทดแทนการนำเข้าวัตถุดิบหลัก

เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2565 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมได้ศึกษาผลกระทบค่าเงินบาทอ่อนต่อการผลิตภาคอุตสาหกรรมไทย โดยพบว่าสถานการณ์ค่าเงินบาทอ่อนค่าในปัจจุบัน (ณ วันที่ 7 มิ.ย. 2565 อยู่ที่ระดับ 34.46 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับวันที่ 30 ธ.ค. 2564 อยู่ที่ระดับ 33.38 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ) ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมโดยรวม เนื่องจากสถานการณ์ค่าเงินบาทอ่อนค่าเป็นบวกต่อการส่งออก ทำให้สินค้าไทยมีราคาถูกลงและสามารถส่งออกได้มากขึ้น แม้ว่าในภาคอุตสาหกรรมที่ต้องนำเข้าวัตถุดิบจะได้รับผลกระทบจากราคาวัตถุดิบที่สูงขึ้น แต่เมื่อพิจารณาโครงสร้างการผลิตอุตสาหกรรมพบว่า การอ่อนค่าของเงินบาทจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมต่าง ๆ แตกต่างกันตามสัดส่วนการนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง และสัดส่วนการส่งออกสินค้า โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนการนำเข้าวัตถุดิบน้อยและมีสัดส่วนการส่งออกมากจะเป็นกลุ่มที่ได้รับประโยชน์ 

ด้านนายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า จากการวิเคราะห์ผลกระทบของการอ่อนค่าของเงินบาทโดยใช้แบบจำลองเศรษฐมิติมหภาค กรณีถ้าหากเงินบาทอ่อนค่าลงร้อยละ 5 ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศที่แท้จริง (RGDP) จะขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.40 ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศที่แท้จริงภาคอุตสาหกรรมขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.35 มูลค่าการส่งออกเมื่อคิดเป็นสกุลเงินบาทจะขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.14 มูลค่าการนำเข้าเมื่อคิดเป็นสกุลเงินบาทจะขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.94 ด้านการบริโภคภาคเอกชนจะขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.21 เนื่องจากผู้ประกอบการมีรายได้เพิ่มมากขึ้น การลงทุนภาคเอกชนจะขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.31 และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะขยายตัวที่ร้อยละ 0.57 

ทั้งนี้ จากการศึกษาข้อมูลปัจจัยการผลิตและผลผลิตสามารถแบ่งกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากการอ่อนค่าของเงินบาทแบ่งเป็น 4 กลุ่
           
กลุ่ม 1 กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนการนำเข้าวัตถุดิบน้อยและมีสัดส่วนการส่งออกมาก เป็นกลุ่มที่มีการใช้วัตถุดิบในประเทศในการผลิตเป็นหลักและมีการส่งออกมาก ทำให้ได้รับประโยชน์จากรายรับที่สูงขึ้นมากกว่าผลเสียจากต้นทุนการนำเข้าสินค้าที่สูงขึ้น ได้แก่ ปลากระป๋อง ผลไม้กระป๋อง เม็ดพลาสติก ยางแผ่น ยางแท่ง ยางนอกและยางใน น้ำตาล และเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน (ไมโครเวฟ เตารีด และพัดลม)

กลุ่ม 2 กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนการนำเข้าวัตถุดิบมากและมีสัดส่วนการส่งออกมาก เป็นกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากรายรับที่สูงขึ้นจากการอ่อนค่าของเงินบาท แต่ก็ได้รับผลกระทบจากต้นทุนการนำเข้าวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน ได้แก่ แผงวงจรไฟฟ้า เคมีภัณฑ์อุปกรณ์การแพทย์ และเครื่องสำอาง

กลุ่ม 3 กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนการนำเข้าวัตถุดิบน้อยและมีสัดส่วนการส่งออกน้อย เป็นกลุ่มที่มีการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศเป็นส่วนใหญ่หรือไม่ได้พึ่งพิงตลาดส่งออกเป็นหลัก ประกอบกับการใช้วัตถุดิบในประเทศเป็นส่วนใหญ่ จึงไม่ได้รับผลกระทบมากนัก ได้แก่ ยานยนต์ จักรยานยนต์ ยาสูบ เครื่องมือเครื่องใช้ในสำนักงาน (เครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น เครื่องซักผ้า และคอมพิวเตอร์) ทอผ้า เครื่องแต่งกาย และเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์

กลุ่ม 4 กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนการนำเข้ามากและสัดส่วนการส่งออกน้อย เป็นกลุ่มผู้นำเข้าหลักที่มีสัดส่วนการนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางเพื่อใช้ในการผลิตเป็นจำนวนมาก จึงได้รับผลกระทบจากต้นทุนการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบที่สูงขึ้น มากกว่าประโยชน์จากรายรับจากการส่งออกที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ เหล็กแผ่น เหล็กเส้น ยารักษาโรค น้ำมันดิบ และน้ำมันสัตว์

“จากการวิเคราะห์ผลกระทบต่อการผลิตภาคอุตสาหกรรมรายสาขา พบว่ากลุ่มอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนการนำเข้าวัตถุดิบมากและมีสัดส่วนการส่งออกน้อยเป็นกลุ่มที่รับผลกระทบจากต้นทุนการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบที่สูงมากกว่าจะได้รับประโยชน์จากรายรับของการส่งออกที่เพิ่มขึ้น ดังนั้น ผู้ประกอบการในกลุ่มนี้ควรมีการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่เหมาะสม เช่น การทำสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า (Forward) การประกันค่าเงิน (Option) การซื้อขายเงินตราต่างประเทศผ่านตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Futures) เป็นต้น รวมถึงควรมีการบริหารจัดการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ หาแหล่งทดแทนการนำเข้าพลังงานและการใช้วัตถุดิบอื่นที่เป็นทางเลือกเพื่อทดแทนการนำเข้าวัตถุดิบหลัก” นายทองชัย กล่าว

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH