Q3/2020 โรงงานจะปลดคนมโหฬาร SMEs ค่อนประเทศเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน soft loan

Q3 ได้เห็น รง.ปลดคนมโหฬาร SMEs ค่อนประเทศเข้าไม่ถึง “ซอฟต์โลน”

อัปเดตล่าสุด 14 ก.ค. 2563
  • Share :
  • 483 Reads   

มาตรการรัฐเกาไม่ถูกจุด SMEs เข้าไม่ถึงเงินช่วยเหลือ 90% เหตุสถาบันการเงินไม่กล้าปลดล็อกเกณฑ์ขอกู้ หวั่นหนี้ NPL แบงก์ชาติรับวงเงินซอฟต์โลน 500,000 ล้านบาท ปล่อยได้แค่ 90,000 ล้านบาท “สภาเอสเอ็มอี” ชงโมเดลดึงผู้ว่าราชการจังหวัดคัดกรองเปิดเงื่อนไขผ่อนปรนพิเศษ ด้านกระทรวงอุตสาหกรรมอัดเงินเพิ่ม 1,700 ล้านบาทช่วยเร่ง สสว.กระจายวงเงิน 10,000 ล้านบาททันที หอการค้าเตือนรัฐอย่าปล่อย SMEs ตายห่วงคนตกงานเพียบ

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจเปิดเผยว่า ภาครัฐจำเป็นที่จะต้องเร่งมาตรการช่วยเหลือสภาพคล่องทางการเงินให้กับผู้ประกอบการ SMEs ให้เร็วเพราะที่ผ่านมาอาจยังไม่ตรงจุด และยังเกิดความล่าช้าออกไปจากไตรมาส 3/2563เชื่อว่าจากนี้จะเห็นการปลดคนงานมากขึ้นเนื่องจากสอบถามกับทางภาคเอกชนสามารถดูแลแรงงานได้เต็มที่ในระยะ 3-6 เดือนเท่านั้น หากไม่มีมาตรการใดช่วยเหลือคาดว่าจะเกิดการว่างงานเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ดี หอการค้าอยู่ระหว่างการติดตามเรื่องของหนี้ครัวเรือน พร้อมกับติดตามเรื่องของสภาพคล่องของภาคเอกชน

นายไชยวัฒน์ หาญสมวงศ์ ประธานสภาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย (สภาเอสเอ็มอี) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ”ว่า ในช่วงเดือน เม.ย. 2563 ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบภาพรวมเศรษฐกิจในประเทศอย่างหนัก รัฐบาลจึงเห็นชอบมาตรการแก้ไขปัญหาและบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นด้วยการออก พ.ร.ก.เยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบ COVID-19 วงเงิน 1.9 ล้านล้านบาทมาพยุงเศรษฐกิจเอาไว้ และ พ.ร.ก.ให้อำนาจธนาคารแห่งประเทศไทยออก soft loan เพื่อดูแลภาคธุรกิจโดยเฉพาะ SMEs วงเงิน 500,000 ล้านบาท ผ่านกลไกของสถาบันการเงิน อัตราดอกเบี้ย 2% ต่อปี นาน 2 ปี ฟรีดอกเบี้ย 6 เดือนแรก

โดยจ่ายคืนเฉพาะเงินต้นแต่ด้วยยังคงใช้หลักเกณฑ์การปล่อยกู้แบบสถาบันการเงินคือ ไม่เป็นหนี้ NPL การใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน และยังต้องมีวงเงินสินเชื่อเพื่อธุรกิจกับสถาบันการเงิน 500 ล้านบาทด้วยเงื่อนไขที่มากมาย จึงทำให้ SMEs รายเล็กโดยเฉพาะรายบุคคลหรือโดยรวมกว่า 90% ไม่สามารถเข้าถึง soft loan ได้เลยทำให้วงเงินก้อนนี้มีการปล่อยกู้ไปได้เพียง 90,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังมีมาตรการช่วยเหลือ SMEs อีกก้อนคือวงเงิน 466,000 ล้านบาทของสถาบันการเงินรัฐอีกเช่นกัน ซึ่งออกมาช่วงเดือน มี.ค. การปล่อยกู้ไปได้ 80,000 ล้านบาท ดังนั้น จึงมีเม็ดเงินช่วย SMEs จากมาตรการรัฐประมาณ 970,000 ล้านบาท ปล่อยสินเชื่อไปเพียง 170,000 ล้านบาท ยังเหลือวงเงินอีกกว่า 800,000 ล้านบาท และมีแนวโน้มจะปล่อยไม่หมด ดังนั้น รัฐจะต้องรีบปล่อยสินเชื่อโดยต้องมีข้อมูลด้าน SMEs มากกว่านี้ว่ามีกี่ระดับ ต้องการอะไร ตลาด แหล่งทุน หรือนวัตกรรมเพื่อพัฒนาตนเอง โมเดลเหล่านี้ทางสภาเอสเอ็มอีได้มีการหารือกับหน่วยงานรัฐมาโดยตลอด แต่สุดท้ายรัฐจะยังมีข้อจำกัดในการปล่อยสินเชื่อ ซึ่งหากไม่เร่งการช่วยเหลือคาดว่าในเดือน ต.ค.มาตรการเยียวยาที่ช่วยไว้ตามกรอบระยะเวลา 3 เดือน 6 เดือนหมดลง จะเห็น SMEs ได้รับผลกระทบหนักกว่านี้

เมื่อกฎเกณฑ์การให้สินเชื่อจากสถาบันการเงินในปัจจุบันเป็นอุปสรรคในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการ SMEs ขณะที่บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ก็ยังไม่สามารถเข้ามาค้ำประกันให้ได้ด้วยผิดหลักของกฎหมาย ดังนั้น รัฐจึงควรมีการกำหนดกลไกพิเศษเฉพาะกิจขึ้นมาให้ความช่วยเหลือ SMEs ที่ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อ soft loan 500,000 ล้านบาทของ ธปท.ได้ ด้วยการให้คณะกรรมการระดับจังหวัด (ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน) ในการกำกับดูแลกระบวนการคัดกรอง SMEs ในระดับจังหวัดร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในพื้นที่ ด้วยเงื่อนไขแบบผ่อนปรนพิเศษ โดยมีองค์การภาคเอกชนรวบรวมและรับรองรายชื่อสถานประกอบการส่งเข้ามา เพื่อขอรับสินเชื่อจากสถาบันการเงินรัฐ และเพื่อเป็นการช่วยเหลือเฉพาะหน้าให้รักษาการจ้างแรงงานและประกอบธุรกิจต่อไปได้

“หน้าที่ของรัฐก็หามาตรการรีบออกมาช่วย ส่วนหน้าที่อื่น ๆ ของเราที่ทำได้อีกทางคือ การให้แต่ละจังหวัดสามารถนำสินค้าเด่นของจังหวัดนั้น ๆ ไปขายในจังหวัดอื่น อาจใช้ช่องทางผ่านบริษัทประชารัฐพัฒนาที่เคยตั้งขึ้นมาก่อนหน้านี้ แล้วยังใช้ประโยชน์ได้ไม่เต็มที่ เช่น ถ้วยชามลำปางจับให้เขาเข้าถึงตลาดใหม่ สามารถขายในภูเก็ตได้ เป็นต้น”

นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า นอกเหนือจากมาตรการรัฐที่ออกมาในส่วนของกระทรวงอุตสาหกรรมยังคงมีกองทุนเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ (กองทุน 20,000 ล้านบาท) ที่จะเป็นอีกส่วนในการช่วย SMEs โดยกองทุน 20,000 ล้านบาทนี้แยกเป็นส่วนที่ช่วย SMEs ไซซ์ใหญ่ 10,000 ล้านบาท ซึ่งปล่อยวงเงินหมดแล้ว แต่เพื่อช่วยเหลือในช่วงวิกฤตโควิด-19 จึงอนุมัติเติมวงเงินเข้าไป 1,000 ล้านบาท เพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียน

ส่วนไซซ์เล็ก 8,000 ล้านบาท ก็เช่นกันได้เติมวงเงินเข้าไป 700 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีวงเงินในส่วนของหน่วยงานภายใต้การกำกับของกระทรวงอุตสาหกรรมคือ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) อีก 10,000 ล้านบาทด้วยการแบ่งเป็นส่วนที่ให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ไปบริหารจัดการ 5,000 ล้านบาท และส่วนที่ให้ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว. หรือ SME D Bank) ไปอีก5,000 ล้านบาท ในอัตราดอกเบี้ย 1% ชำระคืน 7 ปี เพื่อใช้ฟื้นฟูกิจการ ซ่อมแซมทุนหมุนเวียน เป้าหมายเป็น SMEs ทั่วไป ท่องเที่ยว และบริการ ล่าสุดปิดรับการยื่นขอแล้วเนื่องจากวงเงินการขอเต็ม

อ่านต่อ: