กกร. GDP 2564 เศรษฐกิจไทย โอมิครอน

กกร. คง GDP ปี'65 โต 3-4.5% ส่งออก 3-5% ชี้ “โอมิครอน” กระทบเศรษฐกิจไทยแต่ไม่มาก

อัปเดตล่าสุด 12 ม.ค. 2565
  • Share :
  • 1,240 Reads   

กกร. คงตัวเลขคาดการณ์ GDP ปี 2565 อยู่ในกรอบ 3% ถึง 4.5% ส่งออกขยายตัวที่ 3% ถึง 5% ชี้ “โอมิครอน” กระทบเศรษฐกิจไทย แต่ไม่รุนแรง

การประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประจำเดือนมกราคม 2565 โดยมี นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เป็นประธาน กกร. นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และนายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย เป็นประธานร่วม เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า การแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนส่งผลให้กิจกรรมเศรษฐกิจช่วงต้นปีมีแนวโน้มชะลอตัวบ้าง แต่ผลกระทบโดยรวมคาดว่าไม่รุนแรง หลายประเทศมีการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะสหรัฐฯ และยุโรป แต่การบังคับใช้มาตรการควบคุมโรคเข้มงวดน้อยกว่าในช่วงของการระบาดของสายพันธุ์เดลตามากเนื่องจากความรุนแรงของโรคลดลงตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์ กิจกรรมทางเศรษฐกิจจึงชะลอลงบ้างแต่ส่วนใหญ่ยังสามารถดำเนินต่อไปได้ตามปกติ ดังนั้น ภาคการส่งออกของไทยยังมีโอกาสที่จะยังเติบโตหากสามารถป้องกันไม่ให้การแพร่ระบาดมีผลกระทบรุนแรงต่อ supply chain ของภาคการผลิตได้

ทั้งนี้ การประเมินเศรษฐกิจไทยในแง่ผลกระทบจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนภาคเอกชนมองว่าอาจไม่รุนแรงมากนัก โดยในกรณีฐาน การแพร่ระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนเป็นไปอย่างรวดเร็วแต่มีความรุนแรงลดลงตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์ ภาครัฐสามารถบริหารจัดการสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยไม่มีการ Lockdown ควบคู่กับการเร่งระดมฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้แก่ประชาชนเพื่อรับมือกับการระบาดของเชื้อกลายพันธุ์ใหม่ๆ ตลอดจนการปรับตัวของผู้คนตามวิถีปกติใหม่ และการระมัดระวังป้องกันตนเองขั้นสูงสุด (Universal Prevention) ทำให้คาดว่าจะกระทบกับ Sentiment ทางเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัวจะจำกัดเพียงระยะสั้นหรือราวไตรมาสแรกของปี 2565 

การท่องเที่ยวอาจได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนในระยะสั้น คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวในช่วงไตรมาสแรกของปี 2565 เนื่องจากภาครัฐมีมาตรการที่เข้มงวดมากขึ้นต่อการเดินทางระหว่างประเทศ ส่วนในประเทศ มีการยกระดับการเตือนภัยโควิด-19 เป็นระดับ 4 และขอความร่วมมือชะลอการเดินทางข้ามจังหวัดและการเคลื่อนย้ายของคน อย่างไรก็ดี คาดว่า ผลจากโอมิครอนจะกระทบการท่องเที่ยวในประเทศไม่มากเหมือนปีที่แล้ว เนื่องจากความรุนแรงของโรคที่ลดลงและพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวชาวไทยเริ่มปรับตัวได้กับสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 และยังให้ความสนใจกับการท่องเที่ยวในประเทศในระดับสูง ส่วนนักเดินทางต่างชาติคาดการณ์ว่าจะกลับมาเพิ่มขึ้นในปลายไตรมาส 1 โดยตลอดทั้งปี ประเมินจำนวนนักเดินทางเข้าประเทศ ประมาณ 5-6 ล้านคน

การประมาณการเศรษฐกิจปี 2565 คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัวสอดคล้องกับที่คาดการณ์ไว้ หากสามารถบริหารจัดการการแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์ใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยไม่จำเป็นต้องมีการ Lockdown และเร่งแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อและการปรับตัวของราคาสินค้าภายในประเทศอย่างรวดเร็ว 

 

ที่ประชุม กกร. จึงคงประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2565 จะขยายตัวได้ในกรอบ 3.0% ถึง 4.5% ขณะที่ประมาณการการส่งออกในปี 2565 ว่าจะขยายตัวในกรอบ 3.0% ถึง 5.0% ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าจะยังอยู่ในกรอบ 1.2% ถึง 2.0% แต่จำเป็นต้องมีมาตรการระยะสั้นเพื่อบรรเทาปัญหาสินค้าอาหารราคาแพงเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อผู้บริโภคมากเกินไป
 
 
กรอบประมาณการเศรษฐกิจปี 2565 ของ กกร.
 
%YoY

ปี 2565

(ณ ธ.ค. 64)

ปี 2565 

(ณ ม.ค. 65)

GDP 3.0 ถึง 4.5 3.0 ถึง 4.5
ส่งออก 3.0 ถึง 5.0 3.0 ถึง 5.0
เงินเฟ้อ 1.2 ถึง 2.0 1.2 ถึง 2.0
 
 
 

ทั้งนี้ กกร. ได้มีประเด็นข้อเสนอแนะที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม ดังนี้

1. Regulatory Guillotine กกร.เห็นถึงความจำเป็นที่ประเทศไทยจะต้องปฏิรูปกฎหมายทั้งระบบ โดยในปี 2560 กกร. ได้ร่วกับรัฐบาลได้เริ่มดำเนินโครงการ Regulatory Guillotine และได้ว่าจ้างที่ปรึกษาจากต่างประเทศ มาถ่ายทอดความรู้และให้คำปรึกษาแก่ TDRI ต่อมาภาครัฐได้มีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาปรับปรุงกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการประกอบอาชีพและการดำเนินธุรกิจของประชาชน (คณะอนุกิโยติน) ซึ่งมี นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล เป็นประธาน และมีผู้แทนจาก กกร. ร่วมเป็นกรรมการ เป็นผู้ขับเคลื่อนการดำเนินการ โดยคณะอนุกิโยตินได้รายงานความคืบหน้าว่าในปีงบประมาณ 2564 หน่วยงานราชการดำเนินการปฏิรูปกฎหมายเสร็จได้ 38.76% มีผลงานปลดล็อคกฎหมายที่สำคัญ เช่น หลักเกณฑ์การประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ การกำกับดูแลบริการรถยนต์ส่วนบุคคลผ่านระบบแอปพลิเคชัน การกำกับดูแลบริการโทรเวชกรรม (Telemedicine)  ข้อเสนอสำคัญที่ควรเร่งผลักดันเพื่อให้การปฏิรูปกฎหมายโดยใช้เครื่องมือ Regulatory Guillotine ในระยะต่อไปเกิดประสิทธิภาพยิ่งขึ้นเห็นว่าควรเสนอให้รัฐบาลเร่งดำเนินการ ดังนี้

(1) ให้ภาครัฐเร่งนำผลการศึกษาและข้อเสนอของ TDRI ไปดำเนินการแก้ไขและยกเลิกกฎหมายกฎระเบียบต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎหมายลำดับรองที่ไม่ต้องผ่านการพิจารณาของรัฐสภา

(2) ให้จัดตั้งหน่วยงานหรือมอบหมายหน่วยงานที่รับผิดชอบโครงการ Regulatory Guillotine โดยเฉพาะ มีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานเต็มเวลา และมีจำนวนที่เพียงพอ เหมือนช่วงทำ Pilot Project 

(3) ให้นำแนวคิดเรื่อง Omnibus Law ซึ่งแก้ไขกฎหมายทุกฉบับที่เกี่ยวข้องกับปัญหาและอุปสรรค(Issue- based) ในคราวเดียว เช่น ปัญหากฎหมายที่เกี่ยวกับธุรกิจการท่องเที่ยว โดยออกเป็น Omnibus Law ฉบับเดียวแทนการแก้ไขกฎหมายแบบเดิมที่แก้ไขเป็นรายฉบับทำให้ขาดความสอดคล้องกัน ซึ่งแนวคิด Omnibus Law นี้ ประเทศอินโดนีเซียได้เริ่มใช้และประสบผลสำเร็จมาแล้วตั้งแต่ปี 2021

ซึ่งคณะกรรมการพัฒนากฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้มีผลงานในการนำเสนอปรับปรุงกฏหมายต่างๆ จำนวนมาก กกร.จึงทำข้อเสนอปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจและการประกอบอาชีพของประชาชน เสนอต่อคณะกรรมการพัฒนากฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา จำนวนกว่า 40 ข้อเสนอ ซึ่งขณะนี้คณะกรรมการพัฒนากฎหมาย ได้นำเสนอแนวทางปรับปรุงกฎหมายดังกล่าวต่อท่านนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาสั่งการต่อไป โดย กกร. เห็นว่ามีข้อเสนอที่ กกร. ควรเร่งผลักดันเสนอให้รัฐบาลดำเนินการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายโดยเร็ว ซึ่งจะทำให้เกิดประโยชน์ในช่วงการฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจของประเทศจากวิกฤติการแพร่ระบาดของโควิด 19 ได้แก่

(1) ปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการกำกับดูแลองค์กรทางธุรกิจ SMEs และ Startup

(2) ปรับปรุงมาตรการเกี่ยวกับการกำกับดูแลการประกอบธุรกิจท่องเที่ยว

(3) ปรับปรุงมาตรการเกี่ยวกับการกำกับดูแลการประกอบธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์

(4) ปรับปรุงหลักการเกี่ยวกับการกำกับดูแลการค้าของเก่าและการนำผลิตภัณฑ์กลับมาใช้ใหม่ (reuse and recycle)

2. การกำหนดอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ตามพระราชกฤษฎีกา กำหนดอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2564 วันที่  13 ธันวาคม  2564 ซึ่งใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2565 มีความไม่ชัดเจนทำให้อัตราการจัดเก็บไม่ได้ลดลง ร้อยละ 90 ตามข้อเสนอของกกร. แต่อย่างใด และอัตราการจัดเก็บยังเป็นไปตามอัตราเดิมเช่นเดียวกับที่เคยกำหนดไว้ใน พรบ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 มาตรา 94 โดยมาตรการดังกล่าวมีส่วนสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 แม้ว่าในปัจจุบันสถานการณ์ Covid-19 ในประเทศจะคลี่คลายลง  แต่เนื่องจากปัจจัยปัญหาด้านสาธารณสุขและปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในปี 2563 และปี 2564 ยังคงมีผลกระทบต่อไปในปี 2565-2566  ซึ่งจะส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อภาวะเศรษฐกิจของประเทศ

ที่ประชุม กกร. จะมีการนำเสนอไปยังกระทรวงการคลัง เพื่อขอขยายระยะเวลาการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างลงร้อยละ 90  ออกไปอีก 2 ปี โดยขอพิจารณาออก พรก.ลดภาษีสำหรับที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง บางประเภทเพิ่มเติม อีกหนึ่งฉบับ  เพื่อลดอัตราการจัดเก็บภาษีที่ดินลงอีกร้อยละ 90 ตามมาตรา 55 เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระให้กับประชาชนและผู้ประกอบการทั่วประเทศในทุกภาคส่วน

3. ในด้านการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน ควรมีกลไกหรือนโยบายสนับสนุนการสร้างรายได้ควบคู่กับมาตรการช่วยเหลือด้านอื่นๆ เพื่อให้การแก้ปัญหาเป็นไปอย่างรอบด้าน และสร้างความเข้มแข็งทางการเงินให้กับครัวเรือนอย่างยั่งยืน

 

#เศรษฐกิจไทย #GDP Thailand #COVID-19 #การประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน #กกร. #หอการค้าไทย #สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย #สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย #สมาคมธนาคารไทย

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH