ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย ธ.ค. 63 ต่ำสุดรอบ 6 เดือน ผลกระทบโควิดระลอกใหม่

ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย ธ.ค. 63 ต่ำสุดรอบ 6 เดือน ผลกระทบโควิดระลอกใหม่

อัปเดตล่าสุด 12 ม.ค. 2564
  • Share :
  • 380 Reads   

ผศ.ดร.ธนวรรธน์  พลวิชัย  อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย ประจำเดือนธันวาคม 2563 (TCC Confidence Index) อยู่ที่ 31.8 ลดลง 1.9 จากเดือนที่แล้ว โดยลดลงเป็นเดือนแรก หลังก่อนหน้านี้ปรับตัวเพิ่มขึ้นมา 6 เดือนติดต่อกัน ผลกระทบจากโควิดระลอกใหม่

จากการสำรวจสมาชิกผู้ประกอบการ 369 รายทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 23-30 ธันวาคม 2563 พบว่า ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการปรับตัวลดลง ค่าดัชนีฯ อยู่ที่ระดับ 31.8 หดตัวลง 1.9 จากเดือนพฤศจิกายน 2563 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 33.7 เป็นผลจากความวิตกกังวลต่อการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 รอบใหม่ ส่งผลต่อการทำธุรกิจและการดำเนินชีวิตของประชาชน, การยกเลิกการจัดงานปีใหม่ในหลายพื้นที่, การที่ กนง. ปรับลด GDP ปี 2564 เหลือขยายตัวเพียง 3.2% จากเดิมประเมินไว้ที่ 3.6%, การส่งออกที่ลดลงในเดือน พ.ย. และค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย  

ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อดัชนีความเชื่อมั่นของหอการค้าไทย

ปัจจัยด้านลบ

  • ความวิตกกังวลต่อการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 รอบใหม่ ที่มีการระบาดเป็นวงกว้างและรวดเร็ว ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน การทำธุรกิจ และภาวะเศรษฐกิจของประเทศในอนาคตอีกครั้ง
  • การยกเลิกการจัดงานปีใหม่ในหลายพื้นที่
  • ความกังวลเกี่ยวกับการ Lock down อีกครั้ง ซึ่งจะทำให้ภาคธุรกิจประสบปัญหา
  • กนง. ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทย ปี 2564 จะขยายตัวอยู่ที่ 3.2% จากประมาณการเดิมที่คาดไว้ 3.6% จากการแพร่ระบาดของ COVID-19
  • ระดับราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้นโดยแก๊สโซฮอล ออกเทน 91 (E10) และแก๊สโซฮอล ออกเทน 95 (E10) และราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 0.40 บาทต่อลิตร
  • การส่งออกของไทยเดือน พ.ย.. 63 ลดลงร้อยละ 3.65 มูลค่าอยู่ที่ 18,932.66 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่การนำเข้าลดลงร้อยละ 0.99 มีมูลค่าอยู่ที่ 18,880.07 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 52.59
  • ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าเล็กน้อยจากระดับ 30.477 ฿/$ ณ สิ้นเดือน พ.ย. 63 เป็น 30.094 ฿/$ ณ สิ้นเดือน ธ.ค. 63 ซึ่งสะท้อนว่ามีเงินทุนจากต่างประเทศสุทธิไหลเข้าประเทศไทย และผลจากความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่กลับมาจากการแพร่ระบาดรอบใหม่อีกครั้ง

ปัจจัยด้านบวก

  • กนง. ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทย คาดว่าปี 2563 เศรษฐกิจหดตัวที่ 6.6% ดีกว่าที่ประเมินไว้ จากเดิมที่ 7.8% หลังการบริโภคภาคเอกชนและการส่งออกฟื้นตัวดีขึ้น
  • กนง. มีมติเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ต่อปี เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และให้เน้นมาตรการช่วยเหลือที่ตรงจุดมากขึ้น แม้ว่าเศรษฐกิจไทยจะปรับตัวดีขึ้น
  • มาตรการของรัฐบาลเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในช่วงปลายปี-ต้นปีหน้า ในโครงการ “คนละครึ่ง” เฟส 2 โครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” และมาตรการ “ช้อปดีมีคืน” ซึ่งมีส่วนช่วยกระตุ้นกำลังซื้อให้ปรับตัวดีขึ้น
  • SET Index เดือน ธ.ค. 63 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 41.04 จุด จาก 1,408.31 ณ สิ้นเดือน พ.ย. 63 เป็น 1,449.35 ณ สิ้นเดือน ธ.ค. 63

ข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ และแนวทางการดำเนินการของภาคเอกชนในการแก้ไขปัญหา

  • มาตรการทางการเงินเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 ระลอกใหม่ อาทิ การปรับลดอัตราดอกเบี้ยเอื้อให้กับต้นทุนทางการเงิน การผ่อนผันหรือชะลอการจ่ายภาษี เป็นต้น
  • มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ในการช่วยพยุงรักษาการจ้างงานของธุรกิจ
  • เร่งควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนที่จะออกมาจับจ่ายใช้สอยซื้อสินค้า หรือท่องเที่ยวให้กลับมาได้เพิ่มขึ้น
  • การสร้างความเชื่อมั่นนักลงทุนต่างประเทศที่มีฐานการผลิตในประเทศไทย ซึ่งไม่ควรให้บริษัท/โรงงานต่าง ๆ ย้ายฐานการผลิตออกไป
  • การใช้งบประมาณของภาครัฐ โดยรัฐบาลควรอัดฉีดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจอย่างมีประสิทธิภาพและให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับส่วนรวม เช่นเดียวกับ มาตรการคนละครึ่ง เป็นต้น

 

อ่านต่อ: ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย พ.ย. 63 เพิ่มขึ้น 6 เดือนติด ผลจากมาตรการคนละครึ่ง