TCC Confidence Index ในเดือนมกราคม 2564

ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย ม.ค. 64 ลดต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2

อัปเดตล่าสุด 10 ก.พ. 2564
  • Share :
  • 442 Reads   

ผศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย ประจำเดือนมกราคม 2564 (TCC Confidence Index) อยู่ที่ 29.8 ลดลง 2.0 จากเดือนที่แล้ว โดยลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิดระลอกใหม่

จากการสำรวจสมาชิกผู้ประกอบการ 369 รายทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 25-29 มกราคม 2564 พบว่า ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการปรับตัวลดลง ค่าดัชนีฯ อยู่ที่ระดับ 29.8 หดตัวลง 2.0 จากเดือนธันวาคม 2563 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 33.7 เป็นผลจากความวิตกกังวลต่อการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 รอบใหม่ การล็อคดาวน์พื้นที่เสี่ยงสูง ทำให้ธุรกิจมีการหยุดชะงัก นอกจากนี้ยังส่งผลต่อภาคธุรกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่องจากการล็อคดาวน์, การที่ สศค. ปรับลด GDP ปี 2564 ขยายตัวเพียง 2.8% และค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย  

ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อดัชนีความเชื่อมั่นของหอการค้าไทย

ปัจจัยด้านลบ

  • การล็อคดาวน์พื้นที่เสี่ยงสูง ทำให้ธุรกิจมีการหยุดชะงัก นอกจากนี้ยังส่งผลต่อภาคธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องจากการล็อคดาวน์
  • ความวิตกกังวลต่อการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 รอบใหม่ ที่มีการระบาดเป็นวงกว้างและรวดเร็ว และมีผู้ติดเชื้อภายในประเทศเป็นจำนวนมาก ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน การทำธุรกิจ และภาวะเศรษฐกิจของประเทศ
  • สศค. ปรับลดจากการประมาณเศรษฐกิจไทยในปี 2564 โดยคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.8 เนื่องจากเศรษฐกิจมีผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 รอบใหม่
  • ระดับราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้นโดยแก๊สโซฮอล ออกเทน 91 (E10) และแก๊สโซฮอล ออกเทน 95 (E10) ปรับตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 1.50 บาทต่อลิตร และราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 0.90 บาทต่อลิตร
  • ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าเล็กน้อยจากระดับ 30.094 ฿/$ ณ สิ้นเดือน ธ.ค. 63 เป็น 30.006 ฿/$ ณ สิ้นเดือน ม.ค. 64 ซึ่งอาจจะมีผลกระทบเชิงลบต่อความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยในตลาดโลก

ปัจจัยด้านบวก

  • มาตรการของรัฐบาลเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในช่วงปลายปี-ต้นปีหน้า ในโครงการ “คนละครึ่ง” “เราเที่ยวด้วยกัน” “เราชนะ” และเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งมีส่วนช่วยกระตุ้นกำลังซื้อให้ปรับตัวดีขึ้น
  • การส่งออกของไทยเดือน ธ.ค. 63 เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.71 มูลค่าอยู่ที่ 20,082.74 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่การนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.62 มีมูลค่าอยู่ที่ 19,119.16 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 963.58 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
  • SET Index เดือน ม.ค. 64 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 17.63 จุด จาก 1,449.35 ณ สิ้นเดือน ธ.ค. 63 เป็น 1,466.98 ณ สิ้นเดือน ม.ค. 64
  • การเริ่มฉีดวัคซีน COVID-19 ของต่างประเทศ

ข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ และแนวทางการดำเนินการของภาคเอกชนในการแก้ไขปัญหา

  • การเร่งควบคุมสถานการณ์COVID-19 เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อธุรกิจ และเศรษฐกิจของประเทศไทย
  • เร่งออกมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายช่วยเหลือประชาชน
  • บรรเทาความเดือดร้อนของธุรกิจและเร่งออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการส่วนใหญ่ที่ได้รับผลกระทบจากการ แพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 พร้อมกระตุ้นการท่องเที่ยวต่อเนื่องโดยเน้นและให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวแบบปลอดเชื้อ
  • มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการในเรื่องของค่าจ้างแรงงานที่ต้องหยุดกิจการเนื่องจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19
  • ออกมาตรการ และหาแนวทางเพื่อจูงใจการลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติ

 

อ่านต่อ: ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย ธ.ค. 63 ต่ำสุดรอบ 6 เดือน ผลกระทบโควิดระลอกใหม่