315-ส่งออกไทย-2563-ติดลบ-โควิด-19

เอกชน ชี้ส่งออกไทยปี’63 โอกาสสูงติดลบ 8% จากโควิด-19 พ่วง”ภัยแล้ง”

อัปเดตล่าสุด 9 เม.ย. 2563
  • Share :
  • 432 Reads   

สภาผู้ส่งออกฯ เห็นด้วยกับ กนง. ส่งออกไทยปี 2563 โอกาสติดลบ 8% เศรษฐกิจ ติดลบ 5.3% จากปัญหาหลังโควิด-19 ภัยแล้ง พร้อมเสนอ 3 มาตรการให้รัฐเข้าช่วยเหลือเอกชน หวั่นปิดกิจการเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

วันที่ 7 เมษายน 2563 นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า  สภาผู้ส่งออกฯ คาดการณ์การส่งออกไทยในปี 2563 หดตัวไม่ต่ำกว่า 8% ซึ่งเป็นการหดตัวในรอบ 10 ปี ส่วนการขยายตัวของเศรษฐกิจคาดการณ์ว่าอยู่ที่ หดตัว 5.3% โดยเป็นไปทิศทางเดียวกันกับ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่ประเมินไว้ สำหรับปัจจัยหลักที่กระทบมาจากปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่กระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก ส่งผลให้หลายประเทศชะลอคำสั่งซื้อ การขนส่งสินค้าลำบากมากขึ้นทั้งทางเรือ ทางอากาศ จากการออกมาตรการ lockdown ควบคุมการเดินทางเข้า-ออก รวมถึงประเทศไทย ผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง ซึ่งคาดว่าปริมาณสินค้าเกษตรที่ออกสู่ตลาดจะไม่เพียงพอต่อการส่งออก แม้มีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ อาทิ ข้าว อ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพด สับปะรด ปาล์ม ลำไย เป็นต้น

ส่วนปัจจัยบวกที่มีผลต่อการส่งออก เช่น การค้าขายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในกลุ่มสินค้าอุปโภคและสินค้าเวชภัณฑ์ ค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง ขณะนี้ อยู่ที่ 33 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ราคาน้ำมันปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงต้นปี เนื่องจากผลของการระบาดไวรัสโควิด – 19 ส่งผลต่ออุปสงค์การใช้น้ำมันที่ลดลงทั่วโลก ประกอบกับสงครามราคาน้ำมันระหว่างซาอุดิระเบีย รัสเซียและสหรัฐ ในช่วงต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา อาจให้เกิดผลดีต่อต้นทุนการผลิตและโลจิสติกส์ระหว่างประเทศลดต่ำลง

ส่วนข้อเสนอที่ สภาผู้ส่งออกฯต้องการให้หน่วยงานเข้ามาดูแล คือ 1. การออกมาตรการดูแลระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ที่ ครอบคลุมด้านการเงิน ด้านแรงงาน ด้านการนำเข้าวัตถุดิบและการส่งออกสินค้า ด้านโลจิสติกส์และการขนส่ง ด้านการตลาด เพราะยังมองว่ามาตรการที่รัฐออกมานั้น เป็นช่วงระยะสั้นและปัญหาที่เกิดอาจกระทบต่อเนื่องเป็นระยะยาวจนอาจถึงขั้นต้องปิดกิจการ

2. ขอให้ภาครัฐมีความชัดเจนในเรื่องของวิธีการดำเนินงานของภาคการส่งออก นำเข้า โรงงานการผลิตและระบบโลจิสติกส์ หากจำเป็นมีการประกาศเคอร์ฟิวยกระดับเป็น 24 ชั่วโมงทั่วประเทศ เนื่องจากโรงงานและระบบโลจิสติกส์เพื่อการส่งออกนำเข้าไม่สามารถหยุดการดำเนินกิจกรรมการทางการค้าทั้งในประเทศและระหว่างประเทศได้ มิเช่นนั้นแล้วอาจทำให้ engine ตัวสุดท้ายของระบบเศรษฐกิจพัง

3. เร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านโลจิสติกส์ที่สำคัญของประเทศ ทั้งทางบก ทางราง ทางเรือ และทางอากาศ ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ทั้งนี้เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมและสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศต่อการตัดสินใจเข้ามาลงทุน ภายหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด19 เริ่มคลี่คลาย และช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจในประเทศสู่ภาวะปกติได้เร็วขึ้น

 

อ่านเพิ่มเติม: