หอการค้าฯ วอนรัฐต่อคนละครึ่งเฟส 5, ขยายเพดานหนี้-กู้เงินเพิ่ม, เร่งโควิดโรคประจำถิ่น ย้ำแนวคิด 4R ฟื้นเศรษฐกิจไทย

หอการค้าฯ ย้ำแนวคิด 4R ฟื้นเศรษฐกิจไทย ชงรัฐต่อคนละครึ่ง-เร่งโควิดโรคประจำถิ่น

อัปเดตล่าสุด 4 เม.ย. 2565
  • Share :
  • 1,370 Reads   

หอการค้าฯ วางทิศทางขับเคลื่อนองค์กร ชงรัฐต่อคนละครึ่งเฟส 5, ขยายเพดานหนี้-กู้เงินเพิ่ม, เร่งโควิดโรคประจำถิ่น ย้ำแนวคิด 4R Restart-Reimagine-Recover-Reform เร่งฟื้นเศรษฐกิจไทย พร้อมดึงคนรุ่นใหม่เข้ามามีส่วนร่วม

วันที่ 4 เมษายน 2565 นายสนั่น  อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยได้กำหนดนโยบายการดำเนินงาน ต่อเนื่องจากนโยบายเร่งด่วน 99 วัน ที่ได้ดำเนินการจนสำเร็จเมื่อปีที่ผ่านมา เพื่อเป็นแนวทางในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งนี้ สถานการณ์เศรษฐกิจของไทยในปัจจุบันยังประสบปัญหาหลายอย่าง เช่นเรื่องโควิดที่ยังระบาดอยู่ และมีมาตรการหลายอย่างที่ทำให้เดินหน้าเศรษฐกิจได้ไม่เต็มที่ ดังนั้น ควรเร่งฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นทั่วประเทศให้เกิน 70% แล้วประกาศให้เป็นโรคประจำถิ่นโดยเร็ว ซึ่งหากเป็นไปได้ควรประกาศหลังสงกรานต์นี้ เพราะเราพึ่งพิงทั้งการท่องเที่ยว การค้า และการลงทุนกับต่างชาติ การประกาศให้เป็นโรคประจำถิ่นได้เร็ว จะช่วยเรียกความเชื่อมั่นกลับมา นอกจากนั้น เรายังได้รับผลกระทบทางอ้อมจากปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศ ส่งผลให้ต้องเผชิญกับสินค้าราคาแพงขึ้น แม้ว่ารัฐบาลจะมีแผนช่วยลดค่าใช้จ่ายและเพิ่มกำลังซื้อให้ประชาชนบ้างแล้ว แต่คงยังไม่พอ และอาจจะไม่ทันต่อสถานการณ์เศรษฐกิจในช่วงนี้

ภาคเอกชนเห็นว่า การกระตุ้นกำลังซื้อภายในประเทศเป็นเรื่องสำคัญ โดยมาตรการคนละครึ่ง เฟส 4 กำลังจะหมดรอบในเดือนเมษายนนี้ มีเม็ดเงินในระบบสะพัดแล้วกว่า 6.4 หมื่นล้านบาท ถือว่าเป็นมาตรการที่ได้ประโยชน์และบรรเทาภาระค่าใช้จ่าย พร้อมเพิ่มกำลังซื้อให้ประชาชนได้จริง เชื่อว่า จะช่วยลดแรงกดดันที่ต้องขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ จากภาวะสินค้าราคาแพงได้อีกด้วย นอกจากนั้น เรื่องภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ก็ควรขยายเวลาการเก็บเต็มจำนวนออกไปก่อน แล้วค่อยทยอยเก็บเพิ่มขึ้นเป็นขั้นบันได ก็จะช่วยลดภาระให้ประชาชนในช่วงที่เศรษฐกิจไม่ดีนี้ได้ ทั้งนี้ ภาคเอกชนเคยเสนอเรื่องขยายเพดานหนี้สาธารณะ และรัฐบาลเองก็ได้เสนอผ่าน ครม.ไปแล้ว ดังนั้น ควรรีบนำเรื่องขยายเพดานหนี้สาธารณะจาก 60% ให้เป็น 70% ผ่านสภาฯ เพื่อให้รัฐบาลสามารถกู้เงินมากระตุ้นและพยุงเศรษฐกิจได้ เพราะขณะนี้เพดานหนี้ใกล้เต็ม 60% แล้ว อีกทั้งเงินกู้เดิมก็เหลือประมาณ 7 หมื่นล้านบาท และตอนนี้ยังเป็นสถานการณ์ที่ไม่ปกติ การกู้เงินเพิ่มมากระตุ้นเศรษฐกิจจะช่วยทั้งการสร้างงาน สร้างรายได้ ลดภาระหนี้ เพื่อ Reboot เศรษฐกิจ และดูแลกลุ่มเปราะบาง เพื่อให้เกิดการฟื้นตัว เช่น มาตรการคนละครึ่ง เฟส 5 และขยายสิทธิ์เราเที่ยวด้วยกัน เป็นต้น

“ตอนนี้เครื่องจักรที่จะสามารถช่วยให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ในปีนี้ คือเรื่องการส่งออก ซึ่งการดูแลค่าเงินบาทและการอำนวยความสะดวก จะเป็นปัจจัยให้การส่งออกเดินหน้าได้ดีขึ้น ดังนั้น ปัญหาเร่งด่วนในตอนนี้ คือการแก้ปัญหาการส่งออกผลไม้ไปจีน ซึ่งต้องขอขอบคุณทีมรัฐบาล ที่ได้ช่วยจัดการไปเจรจากับประเทศจีน โดยผมเพิ่งเดินทางกลับมาพร้อมกับท่านดอน  ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ต่างประเทศ ซึ่งได้มีการหารือกับท่านหวังอี้ มนตรีแห่งรัฐ และ รมว.ต่างประเทศ และทีมเศรษฐกิจ ในการแก้ไขปัญหาการขนส่งผลไม้ เพื่ออำนวยความสะดวก และเพิ่มเวลาเปิดด่าน รวมถึงจะส่งเจ้าหน้าที่จีนมาช่วยตรวจสินค้าตั้งแต่ต้นทางอีกด้วย ซึ่งเชื่อว่า สถานการณ์จะสามารถคลี่คลายต่อไปได้” นายสนั่น กล่าว

หอการค้าฯ เชื่อว่า เศรษฐกิจไทยจะมีการฟื้นแบบ K-Shaped โดยผลกระทบที่เกิดขึ้นนั้น คาดว่า SME จำนวน 1 ใน 5 จะไม่สามารถกลับมาดำเนินธุรกิจได้อีกครั้ง อย่างไรก็ตาม เราคงช่วยเหลือทุกกลุ่มไม่ได้ จึงต้องมุ่งเป้าไปยังกลุ่มที่มีความจำเป็นเร่งด่วนก่อน กลุ่มธุรกิจที่อยู่ K ขาล่าง ที่ส่วนใหญ่เป็นกลุ่ม SME ต้องช่วยให้เขาไม่ลงไปมากกว่านี้ เพื่อเป็นการรักษาความสามารถในการแข่งขันของประเทศเอาไว้ โดยประเทศไทยจำเป็นต้องนำเอาเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาเสริมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ให้เกิดการเติบโตมากกว่าที่เป็นอยู่ ภายใต้แนวทาง 4 R คือ

1. Restart–สร้างใหม่ ประเทศจำเป็นต้องสร้างธุรกิจใหม่ ๆ ต่อยอดจากธุรกิจเดิม โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ BCG หรือ Startup ต้องสร้างสภาพแวดล้อมที่ดึงดูด และสร้างโอกาสในการลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง

2. Reimagine–คิดใหม่ เพิ่มมูลค่า และสร้างความได้เปรียบ ต้องร่วมกันคิดรูปแบบ Business Model ใหม่ เพื่อตอบสนองสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว หาโอกาสจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ส่งเสริมการนำยานยนต์ไฟฟ้า (EV) มาใช้ให้มากขึ้น หรือการนำ AI เข้ามาช่วยบริหารจัดการและวิเคราะห์ข้อมูลให้แม่นยำ

3. Recover–พลิกฟื้น เราต้องร่วมมือกันเพื่อประคองธุรกิจ รอโอกาสพลิกฟื้น เช่น การช่วยให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน เสริมสภาพคล่องให้ธุรกิจกลับมาเดินหน้าต่อไป รวมถึงการช่วยให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงาน และลดค่าใช้จ่าย

4. Reform–ตื่นตัว เพื่อให้ปรับเร็ว ทุกภาคส่วนต้องร่วมกันปฏิรูปการทำงานใหม่ โดยเฉพาะเรื่องระเบียบหรือกฎหมายที่ล้าสมัย ช่วยรัฐบาล Transform สู่ E-Government เช่น เรื่อง Ease of Doing Business เพื่อลดขั้นตอนที่ยุ่งยาก การลดขั้นตอนการเข้าประเทศ เพื่อสร้าง Ease of Travelling เป็นต้น เพื่อให้ประเทศสามารถแข่งขันได้มากยิ่งขึ้น สำหรับภาคธุรกิจ ก็ต้องนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อสร้างแต้มต่อให้ธุรกิจตัวเอง

การดำเนินงานหลังจากนี้ จะมีการขยายผลและต่อยอดด้วย 3 Connect the Dots เพื่อให้เศรษฐกิจไทยกลับมาฟื้นตัวและเข้มแข็งอีกครั้ง ประกอบด้วย

1. Connect the Dots for Sustainability หอการค้าฯ จะขับเคลื่อนเรื่อง BCG และ ESG รวมถึงแผน Net Zero Carbon ของประเทศ ในหลาย ๆ แนวทาง อาทิ การสร้างต้นแบบการดำเนินธุรกิจด้วย BCG และ ESG เพื่อเป็นตัวอย่างให้ผู้ประกอบการทั้งขนาดเล็ก กลาง และใหญ่ ได้เห็นถึงการปรับตัวของการค้าและธุรกิจใหม่ รวมถึงการดึงคนรุ่นใหม่ให้มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อน

2. Connect the Dots for Scalability หอการค้าจะผลักดันให้เกิด National Trade Platform ขยายตลาดการค้าไปสู่ตลาดสากล โดย Platform ดังกล่าว จะมีการเชื่อมทั้ง Business to Business, Government to Government และ People to People จากตลาดนำไปสู่การผลิต นอกจากนั้น จะมีการผลักดันให้ไทยขยายความร่วมมือ FTA กับนานาประเทศมากขึ้น ดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ เพื่อให้ประเทศไทยเป็น The Regional Hub ของภูมิภาคนี้อย่างแท้จริง ทั้งนี้ จะต้องขยาย Trade Facilitation โดยเฉพาะ FTA แบบ Proactive และเร่งเรื่องการเปิดด่านการค้าชายแดน เป็นต้น

3. Connect the Dots for Repeatability หลายโครงการของหอการค้าฯ จะต้องขยายผลต่อเนื่อง เช่น โครงการ Big Brother ยกระดับ SME ไทยให้เติบโตอย่างเข้มแข็ง Sandbox Digital finance จัดทำโมเดลต้นแบบการช่วยเหลือ SME ในกลุ่มค้าปลีกให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน ขับเคลื่อน “Happy Model” ซึ่งมีต้นแบบ 5 จังหวัดที่ประสบความสำเร็จ รวมไปถึงโครงการ 1 ไร่ 1 ล้าน ซึ่งกำลังขยายผลต่อทั่วประเทศ

“ความร่วมมือกับต่างประเทศจะเป็นปัจจัยสำคัญในการฟื้นเศรษฐกิจของประเทศ โดยหอการค้าฯ จะเข้าไปมีส่วนร่วมผลักดันให้เกิดความร่วมมือกับประเทศต่าง ๆ อาทิ จีน ซาอุดิอาระเบีย และประเทศในตะวันออกกลาง ทั้งเรื่องการค้าและการท่องเที่ยว ทั้งนี้ สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่ง คือการกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศ เน้นการพึ่งพาและเติบโตจากเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยผลักดันให้เกิดการสร้างการจ้างงานกระจายไปทั่วประเทศ และสนับสนุนมาตรการภาครัฐที่ช่วยกระตุ้นการบริโภค เช่น คนละครึ่ง หรือเราเที่ยวด้วยกัน เพื่อช่วยสินค้าที่ผลิตในประเทศไทย” นายสนั่น กล่าว

สำหรับการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นจุดแข็งของประเทศไทยนั้น หอการค้าฯ มองว่า ปริมาณนักท่องเที่ยวจำนวนมาก ๆ เหมือนในอดีต จะเป็นไปได้ยากขึ้น และยังต้องใช้เวลาอีกนานกว่าการท่องเที่ยวจะฟื้น เชื่อว่าอย่างน้อย 2-3 ปี ดังนั้น ผู้ประกอบการต้องมีการวางแผนธุรกิจใหม่ เปลี่ยนกลุ่มเป้าหมายที่มีกำลังซื้อสูงขึ้น หรือที่เราเรียกว่า “นักท่องเที่ยวคุณภาพ” ในขณะที่ผู้ประกอบการเองก็ต้องพัฒนาสินค้าและบริการให้มีคุณภาพ มีมาตรฐาน สามารถรองรับความต้องการของนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ให้ได้

“โลกปัจจุบันเป็นยุคของคนรุ่นใหม่ ที่จะมีส่วนในการนำเทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามาขับเคลื่อนประเทศ หอการค้าฯ จึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาคนรุ่นใหม่ โดยเชื่อว่าคนรุ่นใหม่ไม่ใช่ภาระ แต่เป็น “พลัง” จะเห็นได้ว่ากลุ่ม YEC หรือทายาทธุรกิจของหอการค้าฯ ได้ร่วมมือกับกรรมการหอการค้าฯ (คนรุ่นใหญ่) ในการทำกิจกรรมต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด และเราจะส่งเสริมบทบาทคนรุ่นใหม่เหล่านี้ ให้เข้ามามีส่วนร่วมกับการขับเคลื่อนและพัฒนาเศรษฐกิจประเทศให้มากยิ่งขึ้น” นายสนั่น กล่าวทิ้งท้าย

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH