เศรษฐกิจโลกถดถอย IMF คาด ปี 2020 ทั่วโลกติดลบ 4.9% ไทยติดลบเกือบ 8%

อัปเดตล่าสุด 22 ก.ย. 2563
  • Share :
  • 683 Reads   

เศรษฐกิจทรุดหนักยิ่งขึ้นจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) เปิดเผยการคาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจโลกในปี 2020 นี้ซึ่งอยู่ในภาวะเศรษฐกิจถดถอย โดยทั่วโลกจะหดตัว 4.9% โดยแบ่งเป็นกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วจะหดตัว 8.0% กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาและตลาดใหม่จะหดตัว 3.0% ซึ่งมีจีนเพียงประเทศเดียวที่เติบโต 1.0% สำหรับประเทศไทยคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะหดตัวถึง 7.7% ในขณะที่รัฐบาลหลายประเทศต่างอีดฉีดงบประมาณเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และรักษาตำแหน่งงาน

รายงาน “WORLD ECONOMIC OUTLOOK UPDATE” จัดทำโดย IMF เผยถึงความไม่แน่นอนในสถานการณ์โควิด และความเสี่ยงในการกลับมาระบาดของโรค ทำให้รัฐบาลจำเป็นต้องเฝ้าระวังควบคู่กับการฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยพบว่า มากกว่า 2 ใน 3 ของรัฐบาลทั่วโลกมีการอัดฉีดงบประมาณเพิ่มเติม ซึ่งมีมูลค่ารวมราว 11 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ตัวเลข ณ เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา) โดยงบประมาณครึ่งหนึ่งใช้ไปกับการลงทุน และส่วนที่เหลือสำหรับปล่อยกู้ และป้องกันการล้มละลายของธนาคาร ซึ่งกลุ่มประเทศเศรษฐกิจพัฒนาแล้ว (Advanced Economies) มีการใช้จ่ายจากภาครัฐเพื่อป้องกันโรค และกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นคิดเป็น 8.85% ของ GDP โดยมีประเทศที่น่าจับตา ได้แก่ สหรัฐอเมริกาซึ่งใช้งบประมาณถึง 12.28% ของ GDP ในขณะที่ญี่ปุ่นอยู่ที่ 11.33% เยอรมนี 9.39% จีน 4.1% สำหรับประเทศไทยใช้อยู่ที่ 8.2% 

การหดตัวของเศรษฐกิจโลก

IMF รายงานว่า เศรษฐกิจโลกหดตัวรุนแรงกว่าการคาดการณ์ สืบเนื่องจากความไม่แน่นอนจากหลายปัจจัยทั่วโลก โดยมีสาเหตุหลักมาจากการบริโภคภายในแต่ละประเทศลดลงจากสองปัจจัยหลัก คือรายได้ที่ลดลงจากมาตรการล็อกดาวน์ในช่วงครึ่งปีแรก และความต้องการประหยัดรายจ่าย ส่วนในภาคการลงทุนนั้น เนื่องจากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ทำให้เกิดการลงทุนลดลงเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนภาคเอกชน ซึ่งนโยบายภาครัฐไม่สามารถชดเชยในส่วนนี้ได้

ในช่วงไตรมาสแรกนั้น GDP ของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกได้ลดต่ำลงกว่าการคาดการณ์ ยกเว้นเพียงบางประเทศ เช่น จีน อินเดีย ออสเตรเลีย เยอรมนี และญี่ปุ่น อย่างไรก็ตาม ในไตรมาสแรกเป็นช่วงที่โลกยังไม่ตื่นตัวกับการระบาดมากนักหากเทียบกับในไตรมาสที่สองซึ่งมีการล็อกดาวน์ในหลายประเทศ ตั้งแต่ช่วงมีนาคมถึงพฤษภาคม ส่งผลให้ GDP ในไตรมาสที่สองลดลงในแทบทุกประเทศ ยกเว้นจีนซึ่งกลับมาเริ่มเปิดโรงงานตั้งแต่เดือนเมษายน

 

ในส่วนของการบริโภคที่ลดลงทั่วโลกนั้น ภาคที่ได้รับผลกระทบรุนแรงคือภาคการบริการ ซึ่งเป็นผลจากนโยบาย Social Distancing และภาคการคมนาคมซึ่งเป็นผลจากการเดินทางที่ลดลง และค้าปลีกซึ่งเป็นผลจากการสูญเสียรายได้ ซึ่ง IMF คาดการณ์ว่าจะเป็นภาคที่จะได้รับผลกระทบต่อเนื่องในระยะยาวในหลายประเทศ

อีกภาคที่ได้รับผลกระทบรุนแรงคือตลาดแรงงาน ซึ่งในไตรมาสแรกมีผู้สูญเสียงานประจำจากโควิดถึง 130 ล้านตำแหน่ง และราว 300 ล้านตำแหน่งในไตรมาสที่สอง คาดการณ์ว่า ตลาดแรงงานจะยังถดถอยลงอีก สืบเนื่องจากแนวโน้มการกลับมาเปิดทำการของหลายธุรกิจที่มีการจ้างงานน้อยลงกว่าก่อนหน้าการระบาด โดยเฉพาะในกลุ่มแรงงานทักษะต่ำ ซึ่งไม่สามารถทำงานแบบ Work From Home ได้ 

แนวโน้มในอนาคต

รายงานเปิดเผยตัวเลขคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจโลกในปี 2020 นี้จะถดถอย 4.9% โดยในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจพัฒนาแล้ว (Advanced Economies) เศรษฐกิจจะมีการหดตัวรวม 8.0% เนื่องจากผลกระทบที่รุนแรงกว่าคาดการณ์ และการเว้นระยะห่างทางสังคมโดยสมัครใจ คาดการณ์ว่าสหรัฐอเมริกาจะมีการหดตัว 8.0% ญี่ปุ่นหดตัว 5.8% สหราชอาณาจักรหดตัว 10.2% เยอรมนีหดตัว 7.8% ฝรั่งเศสหดตัว 12.5% อิตาลีและสเปนหดตัว 12.8%

ส่วนในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาและตลาดใหม่ (Emerging Market and Developing countries) IMF รายงานว่าสถานการณ์ปัจจุบันค่อนข้างน่าเป็นห่วง เนื่องจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มเอนเอียงไปในกรณีร้ายแรงตามการคาดการณ์ครั้งก่อนหน้า ซึ่งหลายประเทศมีรายรับน้อยลงกว่ารายจ่าย โดยคาดการณ์ว่า เมื่อจบปี 2020 เศรษฐกิจในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาและตลาดใหม่จะหดตัว 3.0% โดยมีจีนเพียงประเทศเดียวที่เติบโต 1.0% ส่วนประเทศไทย IMF คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะหดตัวถึง 7.7% ด้วยกัน

ส่วนในระยะหลังจากปี 2020  IMF มองว่าแนวโน้มใหญ่ที่เป็นไปได้ในอนาคตมีอยู่สองแนวโน้มหลัก ซึ่งมีปัจจัยหลักคือการควบคุมโรคระบาดว่าทำได้ดีหรือไม่ ดังนี้ 

1. ควบคุมการระบาดได้

ในกรณีประเทศสามารถควบคุมการระบาดได้ จะทำให้เศรษฐกิจมีการฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว หรือฟื้นตัวตั้งแต่ในครึ่งหลังของปี 2020 จะทำให้เกิดความเชื่อมั่นในกลุ่มผู้บริโภคเป็นอย่างมาก ส่งผลให้กำลังซื้อเริ่มฟื้นตัวได้ตั้งแต่ปี 2021 เป็นต้นไป ซึ่งแม้ว่าความต้องการบริโภคจะยังต่ำกว่าก่อนการระบาด แต่จะทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวกลับมาเติบโต 1.5% ได้ภายในสิ้นปีนี้ ก่อนจะเริ่มฟื้นตัวรวดเร็วขึ้น และอาจมากขึ้นถึง 3.0 % ในปี 2021 

2. เกิดการระบาดของโควิดอีกครั้งในช่วงต้นปี 2021

ในหลายประเทศยังมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดการระบาดของโควิดอีกครั้ง ซึ่งในกรณีร้ายแรงที่สุด คือเกิดการระบาดครั้งใหญ่ทั่วโลกในช่วงต้นปี 2021 ซึ่งคาดการณ์ว่าจะมีความรุนแรงประมาณครึ่งหนึ่งของการระบาดครั้งแรกเมื่อต้นปี แต่หากเกิดการระบาดครั้งที่ 2 ตลาดในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ (Emerging Markets) จะเป็นตลาดที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุด ก่อให้เกิดหนี้สินมหาศาล การล้มละลายของธุรกิจ และกำลังซื้อที่จะลดลงอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาอีกหลายปี และคาดว่าจะทำให้เกิดการหดตัวของ GDP ทั่วโลกถึง 4.6% ในปี 2021 และ 3.3% ในปี 2022